xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ มีผล 30 ม.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อช่วยส่งเสริมการออมเงินในระยะยาว และให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ในอัตราสูงสุด 0.25% รวมถึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR MOR และ MRR 0.10%-0.20% ต่อปี ซึ่งเป็นการส่งผ่านนโยบายและสะท้อนถึงต้นทุนทางการเงินที่แท้จริง ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า “จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังต้นทุนในระบบธนาคารที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตาม ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศ และสะท้อนต้นทุนทางการเงินในระบบที่สูงขึ้น ธนาคารจึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม แต่เพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยของลูกค้าเงินกู้ ธนาคารจึงเห็นควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR 0.10%-0.20% ต่อปี โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.520% เป็น 6.620% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (Minimum Loan Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.150% เป็น 6.350% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.745% เป็น 6.895% ต่อปี พร้อมกันนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการออมเงินในระยะยาวและให้ผู้ฝากเงินมีรายได้เพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารจึงเห็นควรปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น 0.05%-0.25% ต่อปี ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2566 เป็นต้นไป”

ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าของธนาคารจากการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ ดังนั้น ธนาคารจึงยังคงมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้าในด้านต่างๆ ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ยังเปราะบาง โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น