ใครจะไปคาดคิด ห้วยขวางวันนี้จะถูกพลิกโฉมจนกลายเป็นย่านธุรกิจที่มีร้านค้า ร้านอาหารเปิดกันอย่างคึกคัก แต่ความคึกคักที่เกิดขึ้นถูกปรุงแต่งด้วย "คนจีน" ที่เข้ามาปักหลักและยึดพื้นที่ทำธุรกิจจนกลายเป็นทำเลทอง และที่สร้างความฮืฮฮาไม่น้อย เมื่อมีการประกาศย่านห้วยขวางเป็น "ไชน่าทาวน์" ของสำนักงานเขตห้วยขวาง จนสร้างความงุนงงให้ชาวต่างชาติในเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว!!
ย้อนอดีตสู่ความรุ่งเรืองของห้วยขวาง
ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ที่แยกออกมาจากถนนรัชดาภิเษก ไปจนถึงถนนประชาอุทิศ ซึ่งเป็นถนนขนาดไม่ใหญ่ ถ้านับช่องจราจรจริงๆ แล้วมีเพียง 3 ช่องจราจรเท่านั้น และรถยนต์ขนาดใหญ่อาจจะขับได้ลำบากกว่าถนนทั่วๆ ไป เนื่องจากความกว้างของช่องจราจรที่อาจจะเล็กไปหน่อย และความแออัดของรถ มอเตอร์ไซค์ที่มีจำนวนมากเกือบตลอดทั้งวัน
ก่อนหน้านี้ 20 กว่าปีอาจจะเป็นเพียงซอยหรือถนนย่อยที่แยกออกจากถนนรัชดาภิเษกเท่านั้น ไม่ได้มีความคึกคัก หรือเป็นที่รู้จักแบบช่วง 5-6 ปีที่ผานมา อาคารพาณิชย์หรือตึกแถวทั้งสองฝั่งถนนที่มีความยาวกว่า 400 เมตรก็ร้างบ้าง ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาบ้าง มีร้านค้า ร้านอาหารอยู่บ้างแต่ไม่มากเหมือนปัจจุบัน
ตอนนี้ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญคึกคักมาก คนเดินเต็มทางเท้าสองข้างถนน มีร้านค้า ร้านอาหารเปิดให้บริการใหม่ เปิดไฟกันสว่างไสวในช่วงตอนกลางคืน ยิ่งร้านไหนมีออกสื่อโซเชียลยิ่งคึกคักรอคิวกันนานกว่า 1-2 ชั่วโมงก็มี ร้านค้า ร้านอาหารที่คนรอคิวกันนานๆ ในย่านนี้เป็นร้านอาหารจีนทั้งหมด เป็นร้านอาหารจีนที่เปิดบริการโดยคนจีนเชื้อสายจีนที่มาจากประเทศจีนไม่นานมานี้ ไม่ใช่คนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนที่เกิดและเติบโตในประเทศไทยแบบย่านคนจีนอื่นๆ ของกรุงเทพฯ พนักงานเสิร์ฟ หรือคนที่ดูแลร้านก็จะเป็นคนจีนหรือชาวต่างชาติที่พูดไทยได้ไม่มาก พื้นที่ทั้งสองฝั่งของถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญกลายเป็นย่านคนจีนแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครไปแล้ว
การเป็นย่านคนจีนแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร หรือที่สำนักงานเขตห้วยขวาง เจ้าของพื้นที่ขึ้นป้ายเมื่อตอนตรุษจีนที่ผ่านมาว่า “ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง” แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเป็นย่านของคนจีน และเป็นย่านคนจีนที่แตกต่างจากย่านเยาวราชที่เป็นย่านคนจีนมายาวนานกว่า 200 ปีชัดเจน เพราะไชน่าทาวน์ห้วยขวาง เป็นย่านที่คนจีนรุนใหม่ที่มาจากประเทศจีนด้วยสาเหตุต่างๆ กัน แต่ส่วนใหญ่มาเพื่อเรียนหนังสือ และทำธุรกิจ จากนั้นกลุ่มคนที่มาเรียนหนังสือแล้วไม่อยากกลับประเทศก็หางาน หรือเปิดธุรกิจของตนเองในพื้นที่นี้ ช่วงแรกสัก 10 กว่าปีก่อนอาจจะเป็นกลุ่มคนจีนเล็กๆ จำนวนไม่มาก อยู่ตามคอนโดมิเนียม และทำธุรกิจหรือทำงานต่างๆ แล้วเลือทกี่จะพักอาศัยอยู่ในย่านห้วยขวางรอบๆ สถานีรถไฟใต้ดินห้วยขวาง เพราะไม่ไกลจากสถานทูตประเทศจีน รวมไปถึงการเดินทางที่สะดวกสบาย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ พร้อมทั้งตลาดสด ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เกต โรงเรียนนานาชาติ แหล่งบันเทิงต่างๆ อีกทั้งค่าที่พักก็ต่ำกว่าพื้นที่เมืองชั้นใน เช่น สุขุมวิท หลังสวน สีลม สาทรมาก
จีนกว้านซื้อตึกแถวเรียบ ปั่นราคาขาย
ค่าเช่าขยับขึ้นไปแตะ 3 แสน/เดือน
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด (Property DNA) บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เปิดเผยว่า เมื่อคนจีนที่เข้าในช่วงแรกๆ เริ่มลงหลักปักฐานได้จึงมีการชักชวนคนจีนอื่นๆ เข้ามามากขึ้น อาจจะมีการแต่งงานกับคนไทย ขยายกิจการ และเปิดกิจการใหม่ๆ มากขึ้น จนจำนวนของคนจีน และจำนวนของกิจการร้านค้า ร้านอาหารในย่านนี้มากขึ้นทุกปีต่อเนื่องกันมามากกว่า 20 ปีแล้ว
แต่เพิ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาว่าร้านอาหารจีน ธุรกิจเกี่ยวกับประเทศจีน และร้านค้าของคนจีนมากขึ้น ส่งผลให้ตึกแถว อาคารพาณิชย์แถวนั้นราคาพุ่งสูงจนแทบซื้อขายกันไม่ไหว เพราะคนจีนกว้านซื้อหมดและขายต่อคนจีนด้วยกันในราคาแพงๆ บางห้องประกาศขายที่ราคาไม่ต่ำกว่า 16.5 ล้านบาทสำหรับตึกแถวหน้ากว้าง 4 เมตร บนที่ดินขนาดเพียง 12 ตารางวาเท่านั้น ค่าเช่าก็แพงมากขึ้นเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ ค่าเช่าพื้นที่ชั้น 1 ของตึกแถวริมถนนอาจจะอยู่ที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน แต่ช่วงก่อนโควิด-19 ขึ้นไปถึง 30,0000-40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งแน่นอนทั้งราคาขาย และค่าเช่าที่สูงขนาดนี้ ธุรกิจหรือ "ร้านค้าของคนไทย" ก็อยู่ไม่ได้ หรือลำบากมากขึ้น จากที่อาจจะเคยเช่าไม่แพงก็โดนขึ้นค่าเช่า เพราะมีคนจีนมาเสนอค่าเช่าที่มากกว่าให้เจ้าของตึก จากที่เคยเป็นร้านอาหารไทย หรือร้านค้าขายสินค้าไทยก็เปลี่ยนเป็นร้านอาหารจีน ร้านขายสินค้าจีน หรือธุรกิจอื่นๆ ของคนจีน เรียกได้ว่าตึกแถวกว่าครึ่งที่เปิดกิจการในพื้นที่สองฝั่งของถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญเป็นของคนจีนไปแล้ว
SME จีนผุดเป็นดอกเห็ด แข่งส่งออก
นายสุรเชษฐ กล่าวต่อว่า ร้านอีกประเภทที่เห็นได้เยอะในย่านนี้ คือ "ร้านขายสินค้าของไทยที่ส่งออกไปจีน" ซึ่งถ้ามองจากภายนอกร้านจะพบว่าหน้าร้านแทบไม่มีกิจกรรมหรือความเคลื่อนไหวเลย แต่รถส่งของวิ่งเข้าออกทุกวัน เพราะพวกเขาขายสินค้าผ่านแอปที่คนจีนนิยมใช้ และส่งของโดยรถส่งสินค้าผ่านถนน R3A จากนั้นกระจายไปทั่วประเทศจีนด้วยระบบโลจิสติกส์ของเครือข่ายต่างๆ ในจีน รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าจากจีนมาให้คนไทย และคนจีนขายทีละมากๆ รวมไปถึงการจัดส่งสินค้าให้ผู้ซื้อโดยตรงเลย ยิ่งช่วงหลังๆ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ในไทยขยายตัวมาก ร้านประเภทนี้กิจการดีขึ้นตามลำดับ
บริษัทขนาดใหญ่ หรือห้างร้านขนาดใหญ่จากประเทศจีนที่เข้ามาดำเนินกิจการในประเทศไทยหลายแห่งก็อยู่แถวๆ นี้ เพราะพื้นที่ตามแนวถนนรัชดาภิเษกมีอาคารสำนักงานจำนวนมาก หลายอาคารมีบริษัทของคนจีนที่มีคนจีนเข้ามาทำงานด้วยเช่นกัน บางบริษัทมีพนักงานที่เป็นคนจีนตั้งแต่หลัก 10 คนขึ้นไป ถึงหลักหลายร้อยคนก็มี ยังไม่รวมครอบครัวของพนักงานเหล่านี้ บางส่วนที่อาจจะมาอยู่ด้วยที่ประเทศไทย หรือพาลูกหลานมาเรียนหนังสือต่อในประเทศไทย เพราะคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งเช่นกัน แต่ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต่ำกว่าในประเทศจีนมาก เมื่อรวมๆ กันกับคนจีนที่ทำธุรกิจหรือมีร้านค้าแถวนี้แล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นคนจีนมากมายเดินไปมาในย่านนี้ตั้งแต่ศูนย์การค้า อาคารสำนักงานแถวแยกพระราม 9 ถึงพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟใต้ดินห้วยขวาง แม้ในช่วงเวลาที่ประเทศจีนปิดประเทศแบบช่วงปี 2563-2565 คอนโดมิเนียมในพื้นที่รอบๆ ย่านนี้กจะมีลูกค้าต่างชาติเป็นคนจีนมากกว่าชาติอื่นๆ และเป็นกลุ่มลูกค้าที่ต้องการของผู้ประกอบการ และนักลงทุนทั้งหลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา