xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าแผน ตลท. 3 ปีรื้อเกณฑ์เรียกความเชื่อมั่น ดึงอุตฯใหม่-เตรียมปรับเวลาเทรดเพิ่มโอกาสนักลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์ฯ กางแผน 3 ปี ( 2566-2568 ) มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมระบบการลงทุนตลาดทุนปัจจุบันกับอนาคต เน้นให้ง่ายสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน หวังเป็นแหล่งระดมทุนภาคธุรกิจทุกขนาด เดินหน้าเชิงรุกดึงอุตสาหกรรมใหม่เข้าเทรด พร้อมยกเครื่องเกณฑ์ซื้อขายเรียกความเชื่อมั่น เดินหน้าปรับเวลาเทรดใหม่ ขณะเผยตัวเลขยอดซื้อสุทธิต่างชาติปี 65 เฉียด 2 แสนล้าน อวดสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียน หวังเปิดประเทศท่องเที่ยวคึก ดึงเม็ดเงินสะพัดหนุนเศรษฐกิจฟื้น แนะรัฐควรสนับสนุนการลงทุนให้ประชาชน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กางแผน 3 ปี (2566-2568) ด้วยการขยายการเติบโตพร้อมกันทั้งธุรกิจ อุตสาหกรรมตลาดทุน สังคม และประเทศ สร้างโอกาสมากขึ้น มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง เชื่อมระบบนิเวศการลงทุนในตลาดทุนปัจจุบันกับอนาคต เน้นให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน ครอบคลุมตั้งแต่เป็นแหล่งระดมทุนสำหรับภาคธุรกิจทุกขนาดและเดินหน้าเชิงรุกดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ (new economy) รวมทั้งสนับสนุนการระดมทุนผ่านการออกโทเคนดิจิทัล และออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินลงทุน

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ 3 ปีข้างหน้านี้ (2566-2568) ตลท. จะมุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย ควบคู่กับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อให้ตลาดทุนเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตามวิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ดังนี้

ด้านแรกทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย เพิ่มโอกาสการระดมทุน โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจทุกขนาดทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ เข้ามาใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่พัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform และพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเคนดิจิทัล ในไตรมาส 3 นี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแพลตฟอร์มของ Settrade เพื่อเป็น “Capital Market Super App” ในการเชื่อมต่อโอกาสการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านที่สอง ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม พัฒนาระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่

ขณะด้านที่สามร่วมสร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด พัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลและฟังก์ชันที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน รวมทั้งต่อยอดงานวิจัยแบบ Thematic และ Issue-based เพื่อให้นำไปใช้ได้จริงในการพัฒนาตลาดทุนด้านต่าง ๆ มากขึ้น โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลไตรมาส 2 นี้ พร้อมพัฒนาการจัดทำ ESG Ratings เพื่อสนับสนุนการออกสินค้า ESG-Linked

สุดท้ายคือ ยึดหลักความยั่งยืนเป็นแกนขับเคลื่อนการทำงาน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำมิติด้าน ESG ขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายในและภายนอกองค์กรโดยทำงานร่วมกับพันธมิตร ด้วยการพัฒนาด้าน E หรือ Environmental พัฒนาบุคลากรด้าน ESG ในตลาดทุนและสถาบันการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้มี ESG Champion ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่าน ESG Academy และพัฒนา Climate Care Platform ให้ครอบคลุมฟังก์ชันการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero

โดยด้าน S หรือ Social ส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่วัยเกษียณและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการมุ่งเน้นธุรกิจครอบครัว ผ่าน LiVE Platform และ G หรือ Governance เร่งปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพให้รองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ

"หวังว่าการดำเนินกลยุทธ์ 4 ด้านดังกล่าวจะมีส่วนในการสร้างโอกาสที่มากกว่าสำหรับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ทั้งเป็นการขยายโอกาสการระดมทุนและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตลาดทุน และดูแลสังคม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่สมดุล และยั่งยืน" นายภากรกล่าว

ขณะปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยเชื่อมโยงทุกภาคส่วน เห็นได้จากการที่มีหุ้น IPO มูลค่าเสนอขายที่ 127,836 ล้านบาท สูงสุดในอาเซียนและเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย และ SET มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 โดยปี 2565 มีมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ย 76,773 ล้านบาทต่อวัน ส่วน TFEX มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 565,627 สัญญาต่อวัน (อันดับ 2 ในอาเซียน ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ ณ เดือน พ.ย. 2565)

นอกจากนี้ ยังมีการ ออก 2 ผลิตภัณฑ์ DRx คือ AAPL80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ และ TSLA80X ซึ่งอ้างอิงหลักทรัพย์ บริษัท เทสล่า อิงค์ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อขยายโอกาสในการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อยให้แก่ผู้ลงทุนโดยเฉพาะรายเล็กและยังเพิ่มโอกาสในการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

ที่สำคัญคือมีหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนใน LiVE Exchange (LiVEx ) 3 แห่ง คือ บมจ. แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS22) บมจ. สิทรอน เพาเวอร์ (SITRON22) และ บมจ. สตอเรจ เอเชีย (ISTORE22)

โดย SET ได้จัดทำแนวทางปรับปรุงกระบวนการและกลไกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ทั้งการพิจารณาลูกค้า พัฒนาศูนย์ข้อมูลลูกค้า รวมถึงการรับหลักทรัพย์ กฎเกณฑ์การซื้อขาย ตรวจสอบข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการดำเนินงานให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พัฒนานวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่ทุกคนไว้วางใจ รวมถึงพัฒนา e-Meeting ระบบการจัดประชุมผู้ถือหุ้นแบบ end-to-end เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) และ SMART Marketplace เพิ่มข้อมูล ESG พร้อมเปิดตัว ESG Data Platform ฐานข้อมูลด้าน ESG เชื่อมโยงความยั่งยืนจากบริษัทจดทะเบียน สู่ผู้ลงทุน และสังคมเป็นต้น

หวังเปิดเมือง ท่องเที่ยวคึกหนุนเศรษฐกิจฟื้น

นายภากรกล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย หลังรัฐเปิดประเทศตั้งแต่ปลายปี 2565 พบว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว เพราะมีต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย กอปรกับจีนที่เพิ่งประกาศปลดล็อกประเทศหลังวันที่ 8 มกราคม 2566 อันจะทำให้นักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้ามาเที่ยวเมืองไทย พร้อมมองว่ารัฐควรหาวิธีสร้างรายได้และสร้างมูลค่าเพิ่มในหลายด้านที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้ใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น อันจะทำให้เม็ดเงินสะพัดในระบบมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐควรสนับสนุนการลงทุนให้ประชาชนด้วย เหมือนอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียที่ตลาดทุนของสองประเทศนี้ไล่ตามตลาดหุ้นไทยมาไม่ห่าง ซึ่งพบว่ามูลค่าการซื้อขายสูงมาก จนกระทั่งปัจจุบันแซงหน้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ไปแล้ว เพราะรัฐบาลสนับสนุนและเอื้อเรื่องการลงทุนของประชาชนอย่างดี 

ยกเครื่องเกณฑ์ซื้อขาย ป้องซ้ำรอยหุ้น MORE

นายภากร เผยว่า ตลท.อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อปรับปรุงกระบวนการต่างๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดทุนไทยให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว นับจากการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ของทุกตลาด กล่าวคือ SET ,ตลาดหลักทรัพย์ mai และตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVE Exchangeหรือ LiVEx) ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

"พิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคา และการส่งมอบหลักทรัพย์ เพื่อให้เหมาะสมกับการพัฒนาของ ตลท. และการกำกับดูแลที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ตั้งแต่การซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การใช้โปรแกรมอินเทอร์เน็ตเทรดดิ้งที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงมากขึ้น อีกทั้งปรับกระบวนการตรวจสอบข้อมูล การแก้ไขเกณฑ์การใช้ข้อมูลสำคัญอย่างข้อมูลการถือครองหุ้น และการรวมศูนย์ข้อมูลติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้บริหารจัดการเครดิตของนักลงทุนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" นายภากรกล่าว

นอกจากนี้ การปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ และเอกชน ก็ต้องเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เพราะหลังจากเมื่อปลายปี 2565 เกิดกรณีการผิดนัดชำระหุ้นของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE มูลค่าเกิน 4 พันล้านบาท ทำให้เกิดความเสียหายเกี่ยวเนื่องกัน ตลท. จึงมีแผนการปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆให้ทันสมัย และเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น เบื้องต้นคือการทบทวนการพิจารณา Risk Profile ของลูกค้า ปรับปรุงแนวทางการปฎิบัติงานภายในเพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงระยะยาว

ปรับเกณฑ์เวลาเทรดระบบใหม่ ขยายโอกาสลงทุน

นายภากร กล่าวถึงตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX ว่า เตรียมขยายเวลาการซื้อขาย ทั้งตลาดหลักทรัพย์ (SET/mai) และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เพราะการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ใช้ช่วงกำหนดเวลาเดิมนานมากแล้ว ดังนั้น คงถึงเวลาที่ ตลท. ต้องทบทวนถึงความเหมาะสม เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เกี่ยวโยงกับต่างประเทศ (Foreign-linked) มากขึ้น เพราะบางการซื้อขายนั้นตลาดหุ้นไทยปิด แต่ตลาดต่างประเทศยังเทรดกัน โดยเฉพาะตลาด TFEX ที่มีสินค้าอิงกับตลาดอื่นๆ ในเอเชีย อาจต้องพิจารณาขยายระยะเวลาการซื้อขาย

อย่างไรก็ดี ตลท. เตรียมเปิดใช้ระบบการซื้อขายใหม่เพื่อทำให้เป็นมาตรฐานสากล ในไตรมาสแรกปีนี้ เพื่อทดแทนระบบการซื้อขายเดิมที่ใช้มานานแล้วอีกทั้งปรับเกณฑ์ Ceiling - Floor หรือราคาสูงสุด -ราคาต่ำสุดใหม่ จากเดิมที่กำหนดไว้บวกลบ 30% จะปรับเพิ่มเป็นบวกลบ 60% อีกทั้ง เพิ่มเครื่องหมาย P (Pause) สำหรับกรณีที่มีการใช้มาตรการกำกับการซื้อขายกับหลักทรัพย์ที่มีสภาพการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด แทนการใช้เครื่องหมาย SP (Suspension) กับกรณีดังกล่าวในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ลงทุน และเพิ่มประเภทคำสั่งที่มีอายุข้ามวัน (Overnight Order) โดยผู้ลงทุนสามารถส่งคำสั่งประเภท Good till Cancel (GTC) หรือ Good till Date (GTD) ได้ ซึ่งคำสั่งที่ยังไม่ถูกจับคู่ จะคงค้างอยู่ในระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกว่าจะถูกยกเลิก หรือจนกว่าจะถึงวันที่ผู้ส่งคำสั่งกำหนด แต่ไม่เกินกว่า 30 วัน


รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด และกรรมการผู้จัดการบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX
รินใจ ชาครพิพัฒน์ รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานการตลาด และกรรมการผู้จัดการบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เผยว่าการทบทวนกฎเกณฑ์ดังกล่าวต้องพิจารณาในเรื่องเวลาการเปิดและปิดการซื้อขายใน SET และ TFEX ด้วย เพราะสินค้าที่เทรดในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีหลากหลายมาก อย่าง DR หรือ DRx ที่อ้างอิงสินทรัพย์ต่างประเทศ ดังนั้น ต้องมาดูว่าต้องปรับเวลาให้สอดคล้องกันหรือไม่ รวมถึงสินค้าในตลาด TFEX อย่าง Gold Futures ที่เทรดทองคำของไทยปิดแต่ต่างประเทศยังซื้อขายกันทั้งคืนก็ต้องพิจารณาว่าจะขยายเวลาหรือไม่ อย่างไร

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท.
ปี 65 ยอดซื้อสุทธิต่างชาติเฉียด 2 แสนล้านบาท

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. 
เผยว่าปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวมอยู่ที่ 196,886 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดตั้งแต่มีการเผยแพร่ข้อมูลนี้เมื่อปี 2535 ซึ่งปี 2565 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นอาเซียน โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก จากเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ประกอบกับข่าวดีที่ประเทศต่างๆ ทยอยเปิดประเทศโดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และกลับไปสู่ระดับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า

โดยสิ้นเดือนธันวาคม 2565 SET Index ปิดที่ 1,668.66 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 2.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ซึ่ง SET Index ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.7% เพราะได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการกลับมาเปิดเมือง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 อย่าง กลุ่มบริการ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ทั้งนี้ ปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงเป็นตลาดที่มีสภาพคล่องสูงสุดในอาเซียนตั้งแต่ปี 2555 แม้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันจะปรับลดลงมาจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค เดือนธันวาคม 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 56,184 ล้านบาท ลดลง 27.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 76,773 ล้านบาท

สำหรับ การระดมทุนในปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าการเสนอขาย IPO สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย โดยมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนจากหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้มูลค่าการเสนอขายในหุ้น IPO ของไทยปี 2565 อยู่ที่ 127,836 ล้านบาท

ขณะ Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.2 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 14.5 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.0 เท่า

สำหรับภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ปี 2565 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 565,627 สัญญา เพิ่มขึ้น 0.9% จากปีก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้น SET50 Index Futures โดยในเดือนธันวาคม 2565 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 690,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.7% จากปีก่อน ที่สำคัญจากการเพิ่มขึ้นของ Single Stock Futures

สำหรับปี 2566 พบว่า มีบริษัทที่เตรียมจะเข้าระดมทุนทั้งใน SET และ mai มากกว่าปี 2565 ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทอยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เพื่อเข้าจดทะเบียนใน SET 14 บริษัทและได้รับอนุมัติให้เสนอขายหุ้นแล้ว 7 บริษัท


กำลังโหลดความคิดเห็น