xs
xsm
sm
md
lg

DELTA ราคายิ่งสูงยิ่งเสี่ยง ธุรกิจดีแต่ราคาเกินพื้นฐานไกลลิบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประเมินภาพรวมหุ้น DELTA หลังเกือบสร้างสร้างสถิติสูงสุดที่ระดับ 1,000 บาทต่อหุ้น ก่อนจะโดนแรงเทขายทำกำไรจนมาอยู่บริเวณ 800 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน ภาพรวมรับแรงเก็งกำไรกลับเข้า SET 50 และทิศทางธุรกิจที่กำลังเติบโต ทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ แต่ปัจจัยสนับสนุนยังไม่มากพอหนุนราคาให้เคลื่อนไหวในระดับปัจจุบัน ทำให้เชื่อมีแรงบงการ พร้อมเตือนราคาที่สูงยิ่งมีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังไม่พบปัจจับสนับสนุนใหม่ๆ ช่วยผลักดันราคา

แม้ว่าตอนนี้ราคาหุ้นบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) จะยังไม่สามารถขยับชึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ระดับ 1,000 บาทต่อหุ้นให้เป็นประวัติศาสตร์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากสร้างความฉิวเฉียดขึ้นไปถึง 990 บาทต่อหุ้นในช่วงไม่กี่วันแรกของปี 2566 และหักหัวลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 800 บาทต่อหุ้นในเวลานี้

แต่โดยรวมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงต่อเนื่องจากระดับ 50 บาทต่อหุ้นในช่วงปี 2563 มาเคลื่อนไหวที่ระดับ 700 บาทต่อหุ้นในปี 2564 และ 800 บาทต่อหุ้นในปี 2565 แม้บางช่วงเวลาราคาหุ้นจะปรับฐานย่อตัวลงบ้างจนมาอยู่ที่ระดับ 300 บาทต่อหุ้นในเดือนมิ.ย.2565 อย่างไรก็ตาม นับจากนั้นก็กลายเป็นขาขึ้นครั้งใหญ่ของ DELTA จนสร้างประวัติศาสตร์ของราคาหุ้นที่ระดับ 900 บาทต่อหุ้นในช่วงต้นปี 2566

สำหรับ DELTA ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า (Power Management Solutions) เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2531 ถือเป็นบริษัทในเครือของเดลต้า อีเลคโทรนิค์ อิ้งค์ (Delta Electronics, Inc.) ของไต้หวัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย “บรูซ เฉิง” นักธุรกิจชาวไต้หวัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 (ค.ศ.1971) ขณะเดียวกัน DELTA เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยช่วง ก.ค.2538 ซึ่งราคาหุ้นเคลื่อนไหวที่ระดับ 50-70 บาทต่อหุ้น นั่นหมายความว่า หากเปรียบเทียบจากราคาหุ้นในอดีตจนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้น DELTA ปรับตัวขึ้นไปมากกว่า 10,000%

โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DELTA ประกอบด้วยอันดับ 1.DELTA ELECTRONICS INT'L (SINGAPORE) PTE.LTD. สัดส่วน 42.85% อันดับ 2.DELTA INTERNATIONAL HOLDING LIMITED B.V. สัดส่วน 15.39% อันดับ 3.CITI (NOMINEES) LIMITED-CBHK-PBGSG-RESTRICTED SHARES สัดส่วน 13.86% อันดับ 4.DELTA ELECTRONICS INC. สัดส่วน 5.54% และ อันดับ 5.THE HONGKONG AND SHANGHAI BANKING CORPORATION LIMITED, HONGKONG BRANCH สัดส่วน 4.83%

ทั้งนี้ จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า การถือครองหุ้น DELTA นั้นมีนักลงทุนต่างชาติถือครองมากถึง 94.70% เป็นการถือครองหุ้นโดย NVDR สัดส่วน 3.02% อย่างไรก็ตาม หากพิจรณา Free Float หรือการถือครองของผู้ถือหุ้นรายย่อยพบว่ายังมีสัดส่วนที่น้อยประมาณ 22.35%

ไม่เพียงเท่านี้ จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น DELTA ยังทำให้หุ้นของบริษัทกลายเป็นในหุ้นที่มีราคาแพงที่สุดในตลาดหุ้นไทย รวมถึงยังส่งผลให้ มาร์เกตแคปของ DELTA สูงที่สุดในตลาดหุ้นที่ระดับ 1.14 ล้านล้านบาท มากกว่าขาใหญ่อย่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ที่ระดับ 1 ล้านล้านบาท และ บมจ.ปตท. (PTT) ที่ระดับ 9 แสนล้านบาท

ส่วนการดำเนินธุรกิจของ DELTA ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักคือ 1.กลุ่มผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เพาเวอร์ซัปพลายสำหรับคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่าย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครื่องชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพาเวอร์ซิสเต็มสำหรับระบบโทรคมนาคม และ 3.กลุ่มผลิตภัณฑ์อัตโนมัติ เช่น อุปกรณ์อัตโนมัติสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเดลต้าประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียง

ภาพรวมในปี 2565 ราคาหุ้น DELTA มีการเปลี่ยนแปลงไปกว่า 418 บาท หรือ 101.45% จากระดับราคา 412 บาท เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2564 ขยับขึ้นมาเป็น 830 บาทเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2565 ปัจจุบัน DELTA มีรายได้รวม 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 8.47 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.55 พันล้านบาท หรือเติบโต 142.28% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรต่อหุ้น 8.94 บาท มีอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ที่ 29.08% มีสินทรัพย์รวม 8.65 หมื่นล้านบาท มีหนี้สินรวม 3.50 หมื่นล้านบาท

ที่ผ่านมา ในช่วงปี 2563 ราคาหุ้น DELTA ที่สูงขึ้นนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า เป็นเพราะกำไรของบริษัทฯ กำลังเติบโต นอกจากนี้ ยังมีแรงเก็งกำไรจากประเด็นที่หุ้นน่าจะได้เข้าคำนวณดัชนี SET50 ประกอบกับ DELTA เป็นหุ้นที่มีสัดส่วนนักลงทุนรายย่อย (Free Float) ค่อนข้างน้อย ทำให้ราคาถูกลากขึ้นไปได้ง่าย


ขณะที่ปี 2564 การปรับขึ้นของราคาหุ้น DELTA มาจากกระแสความนิยมในหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปัจจัยบวกจากเทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในต่างประเทศ ส่วนปีที่ผ่านมา การเร่งตัวของราคาหุ้น DELTA มาจากข่าวเก็งกำไรจากประเด็นที่ได้เข้าคำนวณ SET50 รอบใหม่ นอกจากนี้ยังมาจากธุรกิจใหม่ของบริษัทที่หันมาทำแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงทิศทางการเติบโตของกำไรบริษัทที่เชื่อว่าจะมากกว่าปี 2564 ที่เคยสร้างกำไรสุทธิไว้ที่ระดับ 7 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นมากของ DELTA ยังมีข่าวลือว่านั่นมาจากสัดส่วน Free Flaot ค่อนข้างน้อยของบริษัททำให้ราคาหุ้นถูกลากขึ้นไปได้ง่าย นั่นรวมถึงราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจจะมาจากการปั่นราคาของนักลงทุนรายใหญ่ นั่นเพราะในวันแรกที่หุ้น DELTA ได้กลับเข้าไปอยู่ใน SET50 และ SET100 ราคาหุ้นของก็ทะยานขึ้นไปจน กลายเป็นหุ้นที่มีมาร์เกตแคปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นำไปสู่การเทขายหุ้นเพื่อทำกำไรระยะสั้นที่เกิดขึ้น เริ่มจากราคาหุ้นสูงสุดที่ 990 บาทต่อหุ้นที่ถูกปล่อยให้ไหลลงมาจนแทบจะอยู่ที่ระดับ 800 บาทต่อหุ้น แต่โดยรวมราคาหุ้น DELTA ในปัจจุบันแม้กำลังอ่อนตัวแต่ น่าจะไปไกลเกินไปแล้ว โดยเฉพาะเกินความคาดหมายต่อแรงเก็งกำไร 4/65 และกำไรรวมของปี 2565 ของบริษัท นั่นเพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนได้คาดการณ์ไว้ก่อนอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อ DELTA หมดปัจจัยสนับสนุนน่าจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงเพิ่มเข้าหาความสมดุล

แหล่งข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Yuanta เปิดเผยผลวิเคราะห์หุ้น DELTA ไทย คาดกำไรปกติ ไตรมาส 4 ปี 2565 ที่ 3.6 พันล้านบาท (ติดลบ -7% เทียบกับตัวเลขรายไตรมาสกับช่วงเดียวกันของปีก่อน +89%) กำไรปกติเติบโตเด่นช่วงเดียวกันของปีก่อน จากยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้น (GMP) ที่ดีขึ้น แต่เทียบกับตัวเลขรายไตรมาสคาดลดลงตามผลของฤดูกาล

สำหรับมูลค่าตลาดของ DELTA ไทยสูงกว่า DELTA ไต้หวัน ทั้งๆ ที่ DELTA ไทยเป็นสัดส่วนกำไรราว 25% ของ DELTA ไต้หวัน ทั้งกลุ่ม สะท้อนความไม่สมเหตุสมผลของมูลค่าเชิงเปรียบเทียบ และประมาณการแนะนำ "ขาย" อิงราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี 2566 ที่ 610 บาทต่อหุ้น ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ในโซนที่แพงมากแล้ว ประกอบกับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้หุ้น DELTA มีโอกาสเจอแรงขายทำกำไรได้สูง จึงไม่แนะนำเข้าลงทุนและนักลงทุนควรระมัดระวังในการเก็งกำไรระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งเตือนนักลงทุน การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น DELTA ในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ประสานไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ติดตามสภาวะการซื้อขายของหลักทรัพย์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนและป้องกันการบิดเบือนราคาและปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ผิดไปจากสภาพปกติ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 แล้วนั้น ก.ล.ต. พบว่าปัจจัยหนึ่งเป็นผลจากหุ้น DELTA มี free float ที่แท้จริงค่อนข้างต่ำ ประกอบกับราคาซื้อขายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


ด้าน บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ถึงการลงทุนในหุ้น DELTA ว่า ให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น หลังจากที่ในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565-4 มกราคม 2566 ราคาปรับขึ้นกว่า 35.7% จนทำให้เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่สุดในตลาดหุ้นไทย โดยมีมาร์เกตแคปสูงถึง 1.14 ล้านล้านบาท เนื่องจากแรงเก็งกำไรจากการที่หุ้นถูกนำเข้าคำนวณใน SET50 และ SET100 ซึ่งหุ้นปรับตัวขึ้นมาเร็วและแรงเกินไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับหุ้นแม่คือ Delta Electronics (ไต้หวัน) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวราคาหุ้นแม่ปรับลง 6%

ก่อนหน้านี้ราคาหุ้น DELTA จะสูงกว่าหุ้นแม่ราว 1-1.5 เท่า และการเคลื่อนไหวมักจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ส่วนหนึ่งเกิดจาก Delta Electronics (ไต้หวัน) ถือหุ้นใน DELTA สัดส่วน 64% ของทุนชำระแล้ว แต่ปัจจุบันราคาหุ้น DELTA สูงกว่าหุ้นแม่เกือบ 3 เท่าตัว และราคาเริ่มไม่สอดคล้องกัน

ขณะเดียวกัน หากมองในด้าน Valuation หุ้น DELTA ถือว่าแพงกว่าหุ้นแม่มาก โดย Tailing P/E ที่สูงถึง 85.9 เท่า ขณะที่หุ้นแม่อยู่ที่ 23.8 เท่า และมี P/BV ที่ 22.1 เท่า ส่วนหุ้นแม่อยู่ที่ 4.1 เท่า แม้ Delta Electronics (ไต้หวัน) และ DELTA จะมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันอยู่บ้าง

ทั้งนี้ มองว่าการปรับขึ้นแรงของหุ้น DELTA ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งทำธุรกรรมผ่าน Single Stock Futures สะท้อนได้จากสถานะคงค้างที่เพิ่มขึ้น 126% จาก 488 สัญญามาที่ 1,355 สัญญา ทั้งนี้ หากประเมินต้นทุนเฉลี่ยของการเปิดสถานะครั้งนี้อยู่ที่ 830 บาทเทียบกับราคาปัจจุบันที่ 912 บาท บน Leverage ของ DELTA ที่ 8.85 เท่า จะได้ผลตอบแทนมากถึง 87% ดังนั้น ต้องระวังแรงขายทำกำไรที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

นอกจากนี้ มีการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2565-2566 ขึ้นเฉลี่ย 15% โดยภายหลังปรับประมาณการ คาดกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 1.54 หมื่นล้านบาท เติบโต 131% จากปีก่อน และปี 2566 ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท เติบโต 6% จากปีก่อน จากคำสั่งซื้อในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและศูนย์จัดเก็บข้อมูลเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ปรับไปใช้ราคาเป้าหมาย (FV) ปี 2566 เท่ากับ 440 บาท แม้ภาพรวมธุรกิจจะยังเติบโตดี แต่ราคาปัจจุบันยังมี Valuation ที่แพงและเกินกว่าราคาเป้าหมายมาก

สำหรับแนวโน้มรายได้รวมปี 2566 ของ DELTA คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องราว 10-20% จากปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มคำสั่งซื้อในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ศูนย์จัดเก็บข้อมูล (Data center) และพัดลมระบายความร้อนจะเติบโตต่อเนื่อง โดยมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามาแล้ว 6-12 เดือน โดย DELTA มีการขยายโรงงานรองรับแนวโน้มคำสั่งซื้อในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าและศูนย์จัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นไว้แล้ว ซึ่งคาดจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในงวดครึ่งปีหลังของปี 2566 ขณะที่แนวโน้มกำไรขั้นต้น (Gross margin) ปี 2566 จะทรงตัวใกล้เคียงปี 2565 ที่ระดับ 23-25% จากปัจจุบันสถานการณ์วัตถุดิบขาดแคลนทยอยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ยังมีปัญหาวัตถุดิบบางชนิดที่ยังมีปัญหาขาดแคลนอยู่บ้าง แต่ DELTA ยังบริหารจัดการได้

ไม่เพียงเท่านี้ มีการคาดการณ์ว่า การเคลื่อนไหวของหุ้น DELTA ทุก 1% จะส่งผลต่อ SET50 ขยับถึง 0.84 จุด และ SET 0.85 จุด และคาดว่ามีโอกาสทำให้ดัชนีตลาดหุ้น และ SET50 กลับมาผันผวนมากขึ้น จึงทำให้นักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นโดยตรง หรือซื้อขายสัญญา SET50 Futures ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการลงทุนตั้งแต่ต้นปี 2566

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) คาดการณ์หุ้น DELTA ว่า กำไรปกติไตรมาสที่ 4/65 น่าจะประมาณ 3.35 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 118% จากปีก่อน หรือ YoY โดยคาดยอดขายโต 34% YoYและอัตรากำไรขั้นต้น หรือGPM เพิ่มขึ้น 22% โดยประเมินกำไรสุทธิปีนี้ที่ 1.46 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 119% YoY ภาพระยะยาวปัจจัยพื้นฐานยังคงเด่น 1) ลูกค้า Data Center ยังดีต่อเนื่อง 2) ศักยภาพในการเติบโตของลูกค้า EV car จากจุดเด่นสายการผลิตที่ต้นทุนต่ำ 3) มีฐานลูกค้าหลายกลุ่มทั้งรถยนต์ โทรคมนาคม และอยู่ในหลายภูมิภาค ทั้งยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย

โดยสรุปในภาพรวมของนักวิเคราะห์ต่อหุ้น DELTA แม้จะเชื่อว่าไตรมาสสุดท้ายปี 2565 บริษัทจะสามารถโกยกำไรก้อนต่อจนทำให้กำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ระดับ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท จากการเติบโตของธุรกิจหลัก และธุรกิจใหม่ลูกค้า EV car แต่ด้วยราคาหุ้นในปัจจุบันที่สูงกว่าราคาเป้าหมายมาก ทำให้หลายต่อหลายคนเชื่อว่าความร้อนแรงที่เกิดขึ้นกับหุ้น DELTA นั้นมีความเสี่ยงต่อการเข้าลงทุนเพื่อเก็งกำไรราคาหุ้นอยู่มาก เนื่องจากมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลง หลังจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการกลับเข้ามาคำนวณใน SET 50 และ SET 100 มาเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาหุ้นที่แพงมาก ยังทำให้หลายต่อหลายคนเชื่อว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่มอยู่เบื้องหลังราคาหุ้นในปัจจุบันนี้ จึงเป็นความเสี่ยงที่สูงมากสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระโดดเข้าไปร่วมวงด้วยในสถานการณ์เช่นนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น