xs
xsm
sm
md
lg

กูรู แนะลงทุนหุ้นนำเข้า - โรงไฟฟ้า - กลุ่มหนี้ ตปท. หลังบาทแข็งค่ารอบ 8 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โบรกเกอร์ แนะลงทุน หุ้นโรงไฟฟ้า - สายการบิน - นิคม - นำเข้า และกลุ่มมีหนี้ตปท. เด่น หลังล่าสุดค่าเงินบาทแข็งค่าในรอบ 8 เดือน รับจีนเปิดประเทศ หนุนท่องเที่ยวฟื้น ขณะที่เกิดความกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แนะจับตา ธปท.แทรกแซง ด้าน CIMBT ประเมินรอบนี้เงินบาทอาจแตะ 32 บ./ดอลล์

โบรกฯ เชียร์ แนะหุ้นนำเข้า - โรงไฟฟ้า - กลุ่มหนี้ตปท. รับบาทแข็ง

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ (4 ม.ค.) แข็งค่าสุดในรอบ 8 เดือน อยู่ที่ระดับ 33.98 บาท/ดอลลาร์ และยังเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยประเมินหุ้นที่ได้รับผลกระทบเมื่อค่าบาทแข็ง ได้แก่ 

1.กลุ่มเน้นการนำเข้าวัตถุดิบหรือ สินค้าจากต่างประเทศ เช่น นำเข้าเม็ดถั่วเหลือง (TVO) , นำเข้ามือถือ สินค้าไอที (COM7 , JMART , SPVI , SIS , CPW)

2.กลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศจะบันทึกกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสูง เช่น โรงไฟฟ้า (BGRIM , GPSC , GULF , EGCOMP , WHA , WHAUP , AMATA , BA , AAV) และ 

3. หุ้นที่ได้รับผลเสียเมื่อค่าบาทแข็ง คือ กลุ่มส่งออก ,ท่องเที่ยว (นักท่องเที่ยวแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง เมื่อบาทแข็ง)

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า หุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าบาทแข็ง คือหุ้นกลุ่มหนี้ต่างประเทศและนำเข้า ประกอบด้วย หุ้นสายการบิน (AAV, BA), โรงไฟฟ้า (GPSC ,GULF BGRIM) พลังงาน (PTTGC ,TOP , IVL , PTT)

กลุ่มนิคมฯ (AMATA ,WHA) และกลุ่มนำเข้าสินค้า (TOA , ICHI , SABINA , JUBILE , JMART , COM7 , SYNEX , SIS)

CIMBT ประเมินมีโอกาสแข็งค่าแตะ 32 บาท/ดอลล์

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ปลายปี 65 เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้น้อยลง ประกอบกับเก็งกำไรเรื่องนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามาหลังประเทศจีนเปิดประเทศ

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวช่วยหนุนให้ดุลบัญชีสะพัดจากขาดดุล พลิกกลับมาเกินดุลได้ จากรายได้ของกลุ่มการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

"การแข็งค่ามีโอกาสจะเห็นในระดับต้นๆ 32 บาท/ดอลลาร์ แต่คาดว่าจะไม่แข็งค่ามากกว่านั้น เนื่องจากการเปิดเมืองของจีนหลังจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามเพราะการเปิดเมืองอาจทำให้การติดเชื้อโควิด-19 สูง ซึ่งมาตรการต่างๆ ในอนาคตอาจมีการปรับเปลี่ยนได้" ดร. อมรเทพ กล่าว

นอกจากนี้กรณีที่บาทแข็งค่าจะช่วยหนุนธุรกิจในภาคนำเข้า ซึ่งหากมองโอกาสการลงทุน อาจเป็นจังหวะดี โดยหลังจากนี้ต้องติดตามนโยบายภาครัฐบาลว่าจะช่วยดึงดูดการลงทุนอย่างไรบ้าง

บล.ยูโอบีฯ ลุ้น อาจเห็นธปท.แทรกแซงช่วยส่งออก

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่ามาจาก 3 ปัจจัยหลักได้แก่

1.สกุลเงินดอลลาร์ชะลอการแข็งค่าลง หลังความกังวลภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

2.ตัวเลขเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว จากเงินดุลสะพัดมีโอกาสกลับมาเกินดุล จากการท่องเที่ยวในประเทศที่ฟื้นตัว

3.ไทยและภูมิภาคเอเชียถือเป็นกลุ่มประเทศที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน เนื่องจากไทยมีหนี้ไม่มากและมีเงินทุนสูง เมื่อเทียบกับกลุ่มหนี้สูงอย่างฝั่งยุโรป หรือกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทัน (กลุ่มเศรษฐกิจเปราะบาง)

" ประเมินค่าเงินบาทในปี 66 อยู่ที่กรอบ 33-36 บาท/ดอลลาร์ โดยมองว่าการแข็งค่าคงไม่หลุด 33 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากหากเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป ธปท.จะเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกได้ อีกทั้งการชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่สุด จึงมีโอกาสที่เงินลงทุนจากตลาดหุ้น ไหลเข้าไปตลาดตราสารหนี้ โดยปัจจุบันพันธบัตรตราสารหนี้ 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจ จึงมีโอกาสทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า และกดดันค่าเงินในภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยอ่อนค่าลงได้" นายกิจพณ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น