‘บมจ.ศักดิ์สยามลิสซิ่ง’ (SAK) ประกาศร่วมทุน ‘ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่’ ตั้งบริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด แตกไลน์รุกธุรกิจติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป พร้อมให้บริการด้านสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการติดตั้งสำหรับที่อยู่อาศัย ตั้งเป้ามีการติดตั้งไม่น้อยกว่า 100,000 ครัวเรือนใน 3 ปี และมียอดปล่อยสินเชื่อประมาณ 1,000 ล้านบาทในปีแรก ชูจุดเด่นระยะเวลาผ่อนนานถึง 8 ปี ยอดผ่อนแต่ละเดือนอิงจากยอดประหยัดค่าไฟ
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (SAK) ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้แบรนด์ ‘สินเชื่อศักดิ์สยาม’ เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมทุนกับบริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์รูฟท็อป ในการจัดตั้งบริษัท ศักดิ์สยาม ทีซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท โดย SAK ถือหุ้น 35% และบริษัท ทีซี รีนิวอะเบิ้ล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้น 65% คาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใน ม.ค.2566
ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญการขยายการให้บริการสินเชื่อเพื่อการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปสำหรับที่อยู่อาศัย สนับสนุนภาคประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดได้ง่าย และกว้างขวาง โดยผ่านสาขาของศักดิ์สยามลีสซิ่งที่มีมากกว่า 1,029 สาขา ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในไตรมาส 1/2566 และผลักดันให้พอร์ตสินเชื่อของศักดิ์สยามลิสซิ่งมีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
นายศิวะพงศ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจศักดิ์สยาม ทีซีนั้น เราประเมินจากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้ารวม 22 ล้านราย เป็นองค์กรธุรกิจ 7-8 ล้านราย ที่เหลือ 15 ล้านรายเป็นภาคครัวเรือน ซึ่งเราขอแค่ 1% จากครัวเรือนก็เพียงพอแล้ว โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ไม่น้อยกว่า 100,000 ครัวเรือน จากมูลค่าการติดตั้งต่อครัวเรือนเฉลี่ย 200,000 บาท โดยคาดว่าจะมียอดสินเชื่อปีแรก 1,000 ล้านบาท มีระยะเวลาในการผ่อนชำระนานถึง 8 ปี ซึ่งเรามองว่าจะทำให้วงเงินที่ผ่อนในแต่ละเดือนใกล้เคียงกับภาระค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ทำให้ไม่สร้างภาระให้ผู้กู้มากจนเกินไป
"การร่วมทุนครั้งนี้เป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการออกแบบและติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปมากว่า 10 ปี ให้ภาคธุรกิจ โรงงาน สถานศึกษา มากกว่า 230 โครงการ หรือมากกว่า 14 เมกะวัตต์ ทำให้เกิดการ Synergy นำจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่มีคุณภาพและมาตรฐานในราคาที่เข้าถึงได้ ซึ่งการร่วมทุนครั้งนี้เราไม่ได้หวังผลด้านรายได้เป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่ยังหวังที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าภาคครัวเรือนในระยะยาว ตลอดจนลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้โลกอีกด้วย"