ภาพรวม 1 ปี ตลาดเหรียญคริปโต (ธ.ค.64 – ธ.ค.65) เผชิญมรสุมใหญ่ทั้งตลาดโลกและตลาดในประเทศ กดดันราคาเหรียญดิ่งวูบฉุดความน่าสนใจเข้าลงทุนลดลง หนำซ้ำเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจบานปลายทำให้ภาครัฐออกกฎเกณฑ์และมาตรการคุมเข้มต่างอย่างต่อเนื่อง หลังหลายเหรียญดัง และกระดานเทรดขนาดใหญ่ล่มสลาย
ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของปี 2565 ถือเป็นปีที่ไม่ดีนักสำหรับตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ เนื่องจากเหรียญคริปโตฯถูกกดดันจากปัจจัยลบต่างๆจนทำให้ราคาเหรียญลดลงไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะเหรียญบิตคอยน์ซึ่งถือเป็นเหรียญดิจิทัลหลัก นอกจากนี้การลดลงของราคาเหรียญยังทำให้หลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และเหรียญดิจิทัลบางเหรียญต้องล่มสลายลงไป ยิ่งทำให้เกิดการตื่นกลัวในหมู่นักลงทุน จนนำไปสู่การเทขายหรือโยกย้ายเงินเงินลงทุนออกจากเหรียญไปจำนวนมาก
ขณะที่ภาพรวมตลาดคริปโตฯในประเทศ เป็นที่แน่ชัดว่าความนิยมลงทุนในเหรียญคริปโตฯลดลงไปมาก โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาเหรียญดิจิทัลทั่วโลกที่ลดลง นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงของตลาดที่ตัดสินใจเข้าไปลงทุน จากการผ่านฝืนหรือละเมิดเงื่อนไข ข้อกำหนดจาก Regulator อย่าง ก.ล.ต. ทำให้หมิ่นเหม่ที่จะถูกบทลงโทษ
ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยสถานการณ์การล่มสลายของตลาดคริปโตฯละธุรกิจที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศ ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลตลาด พยายามยกระดับเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมดูแลตลาดคริปโตฯอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ผ่านการออกกฏเกณฑ์ และระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ยิ่งทำให้ความน่าสนใจในการเข้าลงทุนเหรียญลดน้อยลงไปจากอดีต โดยทีมงาน ผู้จัดการรายวัน 360 ได้รวบรวมเหตุการณ์สำคัญตลอดทั้งปี 2565 มานำเสนอ ดังนี้
ธันวาคม 2564 ก.ล.ต.ลงโทษ 3 ตลาดคริปโต
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ลงโทษบริษัทนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี จำนวน 3 ราย ในความผิดต่างๆ และดูเหมือนจะเป็นกรณีแรกที่ดำเนินการเอาผิดกับโบรกเกอร์ซื้อขายเงินดิจิทัล ประกอบด้วย บริษัท บิทาซซ่า จำกัด ถูกปรับเงิน 3.56 ล้านบาท บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ถูกปรับ 4.65 ล้านบาท และบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ถูกปรับเป็นเงิน 3.97 ล้านบาท
ความผิดส่วนใหญ่เกี่ยวกับการไม่นำสินทรัพย์ดิจิทัลไปฝากกับผู้ให้บริการรับฝากตามกฎเกณฑ์ ขณะที่บริษัท บิทคับ ออนไลน์ ถูกลงโทษในความผิดถึง 8 กระทง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาระบบงานภายในและไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต.
ตลาดคริปโต ธ.ค.64 ยอดรวม 2.15 ล้านล้านเหรียญ
ก.ล.ต. เผยตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลสัปดาห์ที่ผ่านมามูลค่าทั่วโลกอยู่ที่ 2.15 ล้านล้านดอลลาร์ มูลค่าซื้อขายต่อวันอยู่ที่ 89.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลตอบแทน "อีเธอร์เรียม" เพิ่มขึ้น +436.21% ส่วน "บิตคอยน์" +60.64% และมีมูลค่าซื้อขายสูงสุดในสินทรัพย์ดิจิทัล 216.78 แสนล้านบาท ยอดเปิดบัญชีสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.22 แสนบัญชี โดยรายย่อยในประเทศยังมียอดซื้อสุทธิ โดยการซื้อขายสูงสุดอยู่ในช่วง 22.00 น.และ 23.00 น.
ก.คลังเล็งเก็บภาษีคริปโตฯ
กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ประกาศจะการจัดเก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" (digital asset) อย่าง "คริปโตเคอร์เรนซี" นั้น มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุชัดเจนว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ดังนั้นในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือนมีนาคม 2565 สรรพากรจึงมีช่องให้เลือกสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขาย "คริปโตเคอร์เรนซี" เพื่อให้ผู้เสียภาษีแสดงเงินได้ ซึ่งหากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่นทางกรมมีระบบ data analytics เพื่อตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งยังมีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานได้
มกราคม 2565 เตือนรัฐ รีดภาษีทำลายบรรยากาศลงทุน
“จักรพงษ์ แสงมณี” นายทะเบียนพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่กรมสรรพากรประกาศจะเก็บภาษีคริปโตฯ ว่า การกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ ด้วยการหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อ-ขายคริปโตนั้นจะต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย รัฐบาล กำลังทำให้เกิดความสับสนและแตกตื่นในตลาดการลงทุน ถ้ามีเงื่อนไขมาก มีความยุ่งยากและมีต้นทุนสูงจะไม่เอื้อต่อการลงทุนหรือระดมเงิน
ตลท. เตรียมเปิดกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล
ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางกรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2565-2567) เผยเตรียมเปิด “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย” (Thai Digital Assets Exchange: TDX) ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ และ “ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์” (LiVE Exchange) สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีประสบการณ์ได้ร่วมเป็นเจ้าของ พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกลาง สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ตอบรับวิถีใหม่ของผู้ประกอบการในตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กัลฟ์ฯจับมือ 'Binance' รุกตลาดคริปโตฯในไทย
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์จำกัด(มหาชน)(GULF) เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่ม Binance เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทย จากการที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศและจะมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น
ราคาบิทคอยน์-อีเธอเรียมดิ่งต่ำสุดขีด
มูลค่าตลาดคริปโตหายวับ 130,000 ล้านดอลลาร์ในเวลาแค่ 24 ชั่วโมง หลังจากทั้งบิตคอยน์และอีเธอร์ยังถูกเทขายไม่หยุดจนราคาหลุดต่ำกว่า 50% ของสถิติสูงสุดตลอดกาลทั้งคู่ แถมตกต่ำสุดขีดนับจากเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยราคาบิตคอยน์หล่นลงอีก 4% อยู่ที่ 33,755.57 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับจากเดือนกรกฎาคม 2021 และต่ำกว่าราคาสูงสุดตลอดกาลที่ทำไว้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วราว 50% ส่วนอีเธอเรียมร่วงลง 7% อยู่ที่ 2,239.08 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับจากปลายเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน และต่ำกว่าสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ทำไว้ในเดือนพฤศจิกายนประมาณ 51เนื่องจากนักลงทุนกำลังเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับไปใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นและขึ้นดอกเบี้ย
ผ่อนเกณฑ์ภาษีคริปโต ให้นำขาดทุนหักกลบกำไรได้
“เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้แทนสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ธปท. สำนักงานก.ล.ต.และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ที่ประชุมมีแนวทางและมาตรการผ่อนปรนการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโต) ดังนี้
1.การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.) จากเงินได้พึงประเมิน กรมสรรพากรเสนอให้ออกกฎกระทรวง นำผลขาดทุนมาหักกลบกำไรได้ในปีภาษีเดียวกัน โดยต้องทำการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.เท่านั้น
2.การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่าน Exchange ภายใต้ ก.ล.ต. จะไม่มีภาระภาษี หัก ณ ที่จ่าย 15% เนื่องจากไม่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน และไม่ทราบจำนวนเงินได้ที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบการหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงไม่จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แต่อย่างใด
3.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กรมสรรพากรจะเสนอพระราชกฤษฎีกาให้ยกเว้น VAT สำหรับธุรกรรมที่กระทำผ่าน ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้ ก.ล.ต.และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
กุมภาพันธ์ 2565 เตือนระวังเทรดหุ้น บจ. ทำธุรกิจขุดเหมืองคริปโต
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งเตือนว่า พบหลักทรัพย์ที่มีสารสนเทศเกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจขุดเหมืองเงินดิจิทัล (Cryptocurrency Mining) มีสภาพการซื้อขายในลักษณะเก็งกำไรสูง กล่าวคือ ราคา มูลค่าการซื้อขาย และอัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ (%Turnover ratio) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง แม้บริษัทจดทะเบียนจะได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มิได้มีสารสนเทศ หรือพัฒนาการที่สำคัญเพิ่มเติมจากที่เคยแจ้งมาแล้ว ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอเตือนผู้ลงทุนให้ระมัดระวังการซื้อขาย โดยขอให้ศึกษาข้อเท็จจริง และความเสี่ยงต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนในธุรกิจขุดเหมืองเงินดิจิทัล (Cryptocurrency Mining) ให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อขาย
มีนาคม 2565 GULF ร่วมไบแนนซ์จัดตั้ง บ.ร่วมทุน Q2
GULF เปิดเผยว่า ความคืบหน้าแผนการขยายลงทุนธุรกิจดิจิทัล กับกลุ่ม Binance ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาโมเดลธุรกิจ เบื้องต้นคาดว่าจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายในไตรมาส 2/2565 จากนั้นคาดว่าจะขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงานก.ล.ต. ในอีก 3-5 เดือนข้างหน้า
ครม.ไฟเขียวเว้นภาษีแวต นำผลขาดทุนหักลบกำไรได้
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และร่างกฎกระทรวง โดยยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโตเคอร์เรนซี) หรือโทเคนดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือซีบีดีซี ตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลเพื่อใช้งานของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 65 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชนในการซื้อขายคริปโตฯ และให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีด้วย
นอกจากนี้ ยังยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโตฯ หรือโทเคนดิจิทัล เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นจำนวนเท่ากับผลขาดทุนจากการโอนคริปโตฯ ดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกัน มีผลย้อนตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 61 เป็นต้นไป โดยคำนวณจากกำไรแล้วลบด้วยขาดทุน เหลือจำนวนเงินเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้เงินภาษีของรายนั้นที่จะต้องจ่ายลดลง
ก.ล.ต.ออกกฎห้ามใช้ คริปโต จ่ายค่าสินค้า บริการ
ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 ได้มีมติเห็นชอบว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท จะต้องไม่ให้บริการ สนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ดัง 6 ข้อต่อไปนี้
1.ไม่โฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมเป็นผู้ให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
2.ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าและบริการ
3.ไม่เปิด Wallet เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
4.ไม่ให้บริการโอนเงินบาท ซึ่งเป็นการโอนจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีของบุคคลอื่น
5.ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัล จากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีอื่น
6.ไม่ให้บริการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุน การรับชำระค่าสินค้าและบริการ
พฤษภาคม 2565 Coinbase พังยับเยิน หลังวิกฤตคริปโตฯ
สำนักข่าวเอพี ระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และ Cryptocurrency ของ Coinbase ซึ่งเป็นกระดานซื้อขายสัญชาติอเมริกัน ได้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยสูญเสียมูลค่าของวอลุ่มเทรดไปจากกระดานเทรดกว่าครึ่งหนึ่งในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ เนื่องจากตลาด crypto ที่ผันผวนกลับเข้าสู่ภาวะตกต่ำอีกครั้ง
วิกฤตการตกต่ำของตลาดคริปโตฯ ล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่าบิตคอยน์เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ส่งผลให้มีการเทขายสินทรัพย์ออกเป็นจำนวนมาก โดย Bitcoin ซึ่งเป็นเหรียญคริปโตฯ ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกตาม Market Cap. ปรับตัวร่วงลงกว่า -6.11% ไปอยู่ที่ 26,818 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 940,500 บาท/ต่อบิตคอยน์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา
เงินลงทุนใน LUNA ของ Binance ร่วงวูบ
Changpeng Zhao ซีอีโอของ Binance เผยธุรกิจการแลกเปลี่ยนคริปโตฯ และลงทุนในบล็อกเชน LUNA ที่เคยมีกำไรได้มหาศาล แต่ตอนนี้ได้สูญเสียเกือบทั้งหมดไปแล้ว จากการลงทุนประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ใน Terra เมื่อปี 2561 โดยได้รับโทเคน Luna 15 ล้านเหรียญ ที่ราคาสูงสุดของ Luna ซึ่งการลงทุนนั้นมีมูลค่าสูงถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์ แต่จากการล่มสลายของ Luna จากการผูกโยงกับเหรียญ Stablecoin ที่เกี่ยวข้องคือ TerraUSD (UST) ทำให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นในเชนของ LUNA เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มูลค่าของเงินที่เข้าไปลงทุนจากที่เฟื่องฟูลดลงเหลือเพียง 3,400 ดอลลาร์เท่านั้น
คนไทยสนใจเก็งกำไรสินทรัพย์ดิจิทัลพุ่งสูง 46%
ก.ล.ต. เปิดเผยรายงานวิจัยผลสำรวจความสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลของประชาชนไทยว่า จากผลสำรวจยังพบประเด็นที่น่าสนใจในด้านเป้าหมายในการลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจที่ทำให้คนไทยหันมาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น โดยพบว่า ร้อยละ 46 มองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงจึงเลือกเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ขณะที่ร้อยละ 33 มองว่าเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนในระยะยาว ขณะที่อีกร้อยละ 11 เห็นว่าเป็นแหล่งออมเงิน และร้อยละ 10 มองว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำเงินได้ง่ายกว่างานประจำที่ทำอยู่
มิถุนายน 2565 บิทคอยน์ร่วงต่ำสุดหลุด 25,000 ดอลล่าร์
บิทคอยน์ราคาร่วงต่ำสุดในรอบ 18 เดือน เนื่องจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ พาคริปโตฯ ตัวหลัก ๆ ร่วงยกแผง โดยราคาลดลงอย่างหนักมากถึง 8.9% มาอยู่ที่ 24,903.49 ดอลลาร์ ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 ส่งผลให้นักลงทุนเทขายคริปโตตัวอื่น ๆ ในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง
“เซลเซียส” หยุดโอน-ถอนคริปโตฯ ชั่วคราว
เซลเซียส เน็ตเวิร์กส์ (Celsius Networks) แพลตฟอร์มปล่อยกู้คริปโตเคอร์เรนซี ประกาศระงับการให้บริการด้านการถอน และการแลกเปลี่ยน ตลอดจนถึงการโอนระหว่างบัญชีทั้งหมดเป็นชั่วคราว เนื่องจากภาวะตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในขณะนี้มีความผันผวนที่รุนแรง
กลต.คุมเข้มคริปโต ห้ามโฆษณาเกินจริง
ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 65 มีมติเห็นชอบทบทวนหลักการ การปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้มีความชัดเจน และเหมาะสม และเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขาย ก.ล.ต. ได้จัดทำร่างประกาศเกี่ยวกับการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจ ดังนี้
1. การโฆษณาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการแจ้งข้อเท็จจริง ต้องไม่เป็นเท็จ ไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ
2. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะจัดให้มีการโฆษณา ต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการโฆษณาและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาต่อ ก.ล.ต.
3. กำหนดให้มีคำเตือนประกอบการโฆษณาในเรื่องความเสี่ยง โดยรูปแบบการนำเสนอต้องชัดเจน และสังเกตได้ง่าย
4. กำหนดให้การโฆษณาคริปโตเคอร์เรนซี สามารถทำได้ในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ (official channel) เท่านั้น
5. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจควบคุมดูแลการโฆษณาของบริษัทในกลุ่มละผู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการในสังคมออนไลน์ (influencer) ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
6. ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้า (introducing broker agent: IBA) ของผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการคริปโตเคอร์เรนซี สำหรับการให้บริการโทเคนดิจิทัลยังจัดให้มี IBA ได้
7. กรณีที่มีการเผยแพร่โฆษณาอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขการโฆษณาดังกล่าว โดยไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
ก.ล.ต. ลงดาบ Satang Pro สั่งปรับ 24 ล้าน
ก.ล.ต. ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 4 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Satang Pro (ศูนย์ซื้อขาย Satang Pro) ของบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทสตางค์) โดยให้ผู้กระทำผิดชำระ ประกอบด้วย
1.บริษัทสตางค์
2.บริษัท LLC Fair Expo ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro
3.นายปรมินทร์ อินโสม ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัท และ
4.Mr.Mikalai Zahorski เจ้าของและกรรมการผู้จัดการ (Managing Director) ของบริษัท LLC Fair Expo เป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo สั่งการ หรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทสตางค์และบริษัท LLC Fair Expo กระทำความผิดดังกล่าว
ปรับ Bitkub 24 ล้านบาท สร้างวอลุ่มเทียม
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล Bitkub (ศูนย์ซื้อขาย Bitkub) ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด โดยให้ผู้กระทำผิดชำระเงินรวม 24,161,292 บาท
ประกอบด้วย
1.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
2.นายอนุรักษ์ เชื้อชัย ร่วมกันในการส่งคำสั่งซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขาย Bitkub และ
3.นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ สั่งการหรือกระทำการหรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้บริษัทบิทคับกระทำความผิดดังกล่าว
กรกฏาคม 2565 เทแบบสุภาพ SCBX เลื่อนดีล "บิทคับ" ไม่มีกำหนด
“อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า จากเรื่องการเข้าลงทุนบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด(มหาชน) หรือ บิทคับ ของ บริษัทที่ได้แจ้งว่าคาดการณ์ว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2565 นั้นล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม ธุรกรรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องและมีเงื่อนไขว่าผลการสอบทานธุรกิจของบิทคับ ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญต้องเป็นที่น่าพอใจ และคู่สัญญาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้นครบถ้วน ทำให้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการสอบทางธุรกิจและระหว่างการหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องโดยมีการขยายเวลาการเข้าทำธุรกรรมออกไปจากกำหนดการเดิม
Celsius ล้มละลาย
แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโตเคอร์เรนซีเจ้าใหญ่ "Celsius Network" ได้ยื่นขอฟื้นฟูต่อศาลล้มละลายนิวยอร์กแล้ว (Chapter 11 bankruptcy protection) โดยกล่าวว่าบริษัทมีเงินสด 167 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับดำเนินกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้และคืนเงินให้ลูกค้า 1.7 ล้านราย เนื่องจากราคาคริปโตร่วงหล่นลงต่อเนื่อง ส่งผลให้หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้อย่างบิทคอยน์และอีเทอเรียมถูกบังคับเทขายอย่างหนักเพื่อชดใช้หนี้
อีกทั้งวิกฤตใหญ่ คือ การล่มสลายของ LUNA และโทเค็น UST ที่ Celsius เข้าไปพัวพันทั้งการปล่อยกู้ ถือ UST เป็นทุนสำรอง และอาจรวมถึงการลงทุนใน LUNA ก็ราคาร่วงจนใกล้ถึงจุดบังคับขาย ทำให้เกิดวิกฤตสภาพคล่องจนต้องเทขายสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมาก
แบงก์ชาติสิงคโปร์ ออกมาตรการเข้มคุม "คริปโต"
ธนาคารกลางสิงคโปร์ ซึ่งระบุถึงหลักเกณฑ์ใหม่ของธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ในการตั้งเป้าที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการควบคุมการใช้คริปโต ซึ่งจะเสนอผ่านร่างในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคมปีนี้ โดยจุดเด่นของเนื้อหาในกฎระเบียบด้านคริปโตทั้งในและนอกสิงคโปร์นั้น อยู่ที่การฟอกเงินและความเสี่ยงทางการเงินจากการก่อการร้าย ขณะเดียวกันเขตอำนาจศาลส่วนใหญ่ไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค การดำเนินการทางการตลาด และการสนับสนุนเงินสำรองสำหรับ Stablecoin
Zipmex ระงับการถอนเงินบาท คริปโต
Zipmex ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลประกาศระงับการถอนคริปโตเคอร์เรนซี และเงินบาทชั่วคราว เพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์มเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 โดย Zipmex ประกาศผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่าจะระงับการเพิกถอนเงินบาท และคริปโตเคอร์เรนซี เนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ รวมถึง ความผันผวนของตลาด เหตุการณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรม ตลอดจนปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก อันอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท เพื่อรักษาเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม บริษัทฯ จะระงับการถอนทุกกรณีชั่วคราวจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ก.ล.ต. ได้มีหนังสือให้ Zipmex ชี้แจงรายละเอียด พร้อมผลกระทบที่มีต่อลูกค้า โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้า ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และขอให้นำส่งข้อมูลต่อ ก.ล.ต. โดยเร็ว ขณะที่ทางบริษัทรายงานว่า เนื่องจากสถานการณ์ความผันผวนของตลาด รวมถึงปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจากคู่ค้าทางธุรกิจหลัก โดยนักลงทุนที่ลงทุนในโปรแกรม ZipUp+ ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ลูกค้าในไทยมีการฝากเหรียญหรือสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ที่ zipmex global ที่สิงคโปร์ และ zipmex Global นำเหรียญของลูกค้าที่ฝากไว้ไปลงทุนหรือหาผลตอบแทนกับคู่ค้าที่มีการเปิดชื่อ 2 รายคือ Babel Finance และ Celsius ซึ่งทั้ง 2 รายนี้กำลังเผชิญวิกฤติสภาพคล่อง
ทั้งนี้ เมื่อ zipmex กลับมาเปิดบริการแพลตฟอร์มซื้อขายในเวลา 20.00 น. ของวันที่ 20 ก.ค.65 ทำให้นักลงทุนพากันตื่นตระหนกเฮละโลเทขายเหรียญ ZMT ซึ่งเป็นโทเคนประจำแพลตฟอร์ม กดราคาดิ่งลงทันทีจาก 21 บาท ลงมาอยู่ที่ 13 บาทหรือลดลงราว 40% ขณะที่นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า Zipmex ประเทศไทยจะฟ้องร้อง Zipmex Global และ Babel Finance และ Celsius เพื่อหาทางนำสินทรัพย์ดิจิทัลกลับคืนมาให้ลูกค้า ซึ่งรวมทั้งจะมีการพูดคุยกับนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาซื้อกิจการ Zipmex เพื่อนำเงินที่ได้มาคืนให้กับลูกค้าทุกคน
ต่อมา “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.จะดำเนินการตามข้อกฎหมายที่มีอยู่แน่นอน เพราะเกณฑ์ ก.ล.ต.กำหนดชัดเจนว่า ศูนย์ซื้อขาย ห้ามแตะต้องทรัพย์สินของลูกค้า โดยประเด็นสำคัญคือ บริษัทจะต้องดูแลคุ้มครองผู้ซื้อขายเป็นอันดับแรก และต้องทำตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ที่มีอยู่ ส่วนจะทำผิดหรือถูก ตรงนี้จะมีร่องรอย โดย ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายไม่ได้ละเว้นหน้าที่ เพียงแต่ต้องรอข้อมูล ข้อเท็จจริง ให้ครบถ้วน
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้นำคณะผู้บริหารประชุมหารือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) โดยมีข้อสรุปว่า ก.ล.ต. จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากกรณีดังกล่าวอาจมีความเสียหายกับประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับต้องพิจารณาว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายอื่น ๆ หรือไม่อย่างไร นอกเหนือจากความผิดภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ที่ ก.ล.ต. มีอำนาจดำเนินการในฐานะผู้กำกับดูแล
สิงหาคม 2565
คริปโต วอลุ่มเทรด ก.ค.ต่ำสุดในรอบ 1 ปี 7 เดือน
ก.ล.ต. รายงานข้อมูลภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลรายสัปดาห์ พบว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกมีมูลค่าตามมาร์เก็ตแคปประมาณ 0.97 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 41.6% มาจากบิตคอยน์ และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุดที่ 76.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 ผลตอบแทนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในไทยยังให้ผลตอบแทนติดลบ ประกอบด้วย 1.Bitcoin ติดลบ 48.18% 2.Ethereum ติดลบ 54.70% 3.XRP ติดลบ 55.39% และ 4.KUB ติดลบ 70.59%
ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อย มีแนวโน้มลดลงสอดคล้องราคาบิทคอยน์ โดยพบว่าจำนวนบัญชีซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่แอ็กทีฟของเดือน ก.ค. 65 ต่ำสุดนับจากเดือน เม.ย. 64 เหลืออยู่แค่ 2.51 แสนบัญชี ในขณะที่จำนวนบัญชีซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่แอ็กทีฟตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 65 พบว่าเฉลี่ยสูงกว่า 3.4-6.9 แสนบัญชี
SCB เท Bitkub อวสานดีล 17,850 ล้านบาท
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์หรือ ตลท.ว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (“SCBS” หรือ “ผู้ซื้อ”) ได้มีมติอนุมัติให้ เข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ “Bitkub” จาก บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (ในฐานะผู้ขาย) ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ Bitkub คิดเป็นมูลค่า รวมประมาณ 17,850 ล้านบาทนั้น
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ และ SCBS ได้ร่วมกันดำเนินการสอบทานธุรกิจ (due diligence) ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ขายและ Bitkub โดยในระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจ บริษัทฯ และ SCBS ได้เห็นศักยภาพและความสามารถในหลากหลายด้านของกลุ่ม Bitkub และเห็นโอกาสในการร่วมมือพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินธุรกิจของ Bitkub ในอีกหลายด้าน
อย่างไรก็ดี ถึงแม้การสอบทานธุรกิจจะไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยยะสำคัญซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เนื่องจาก Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของก.ล.ต. ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขายจึงได้ตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการ SCBS ครั้งที่ 15/2565 จึงมีมติให้ SCBS ยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2565
กันยายน 2565 ก.ล.ต.สั่งปรับ'ซิปเม็กซ์' ปมระงับเพิกถอนคริปโตฯ
ก.ล.ต.เผยแพร่ประกาศการพิจารณาเปรียบเทียบปรับ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) โดยในช่วงระหว่างวันที่ 20 ถึง 28 กรกฎาคม 2565 ซิปเม็กซ์ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล กรณีระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ที่ได้รับความเห็นชอบและเป็นการไม่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ ซึ่งทางสำนักงาน ก.ล.ต. มีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 16/2565 ปรับเป็นเงินจำนวน 540,000.00 บาท
ส่วนอีกกรณีคือระหว่าง วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 - 25 สิงหาคม 2565 บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ระงับการให้บริการฝากถอนทรัพย์สินของลูกค้าใน Trade wallet และ Z-wallet โดยปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานในฐานะผู้มีวิชาชีพพึงกระทำและเป็นการไม่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ จึงมีคำสั่งเปรียบเทียบที่ 16/2565 ปรับเป็นเงินจำนวน 1,380,000.00 บาท รวมค่าปรับทั้งสิ้น 1,920,000 บาท
คุมเข้มรายย่อยเทรดขั้นต่ำ 5,000 บาท
ก.ล.ต. ประกาศเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักการเกี่ยวกับการปรับปรุงการเปิดเผยความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำในการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อขายจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ การลงทุนและการบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน และสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับที่เหมาะสม โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล จะต้องกำหนดมูลค่าการซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่อธุรกรรมขั้นต่ำ 5,000 บาท
ก.ล.ต.ส่งอัยการฟ้อง'บิทคับ' ดื้อแพ่งไม่จ่ายค่าปรับ
ก.ล.ต. รายงานว่าได้มีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่งจำนวน 3 ราย คือ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด, นายอนุรักษ์ เชื้อชัย และนายสกลกรณ์ สระกวี เพื่อขอให้กำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง ให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวมทั้งสิ้น 24,161,292 บาท รวมถึงกำหนดห้ามนายอนุรักษ์และนายสกลกรย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ในอัตราสูงสุดที่กฎหมายบัญญัติ โดยให้นายสกลกรย์ร่วมรับผิดในมาตรการลงโทษทางแพ่งกับบริษัทบิทคับอย่างลูกหนี้ร่วม
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ดังนั้น ก.ล.ต. จึงมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่งดำเนินการต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 บริษัทบิทคับตกลงยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งกำหนด โดยชำระค่าปรับทางแพ่ง 8,000,000 บาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบ 53,764 บาท รวม 8,053,764 บาท
เช่นเดียวกับนายสกลกรย์ สระกวี และนายอนุรักษ์ เชื้อชัย ตกลงยินยอมชำระค่าปรับทางแพ่งรายละ 8,000,000 บาท และชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานในการตรวจสอบรายละ 53,764 บาท รวมเป็นเงิน 16,107,528 บาท โดยจะส่งผลให้ทั้ง 3 รายดังกล่าวต้องจ่ายค่าปรับให้ ก.ล.ต.รวมเป็นเงิน 24,161,292 บาท
ตุลาคม 2565 Zipmex เตรียมเซ็นสัญญากับนักลงทุน
“เอกลาภ ยิ้มวิไล” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ ซิปเม็กซ์ ประเทศไทยได้แถลงสถานการณ์ล่าสุดของบริษัทเพื่ออธิบายประเด็นที่ลูกค้ามีข้อกังวลใจ 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัลที่บริษัทให้บริการบนแพลตฟอร์ม โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการประกาศเพิกถอนเหรียญ จำนวน 7 เหรียญ ออกจากแพลตฟอร์ม ซึ่งจะดำเนินการในวันที่ 11 ต.ค.นี้ มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ตลาดคริปโตในช่วงนี้ที่ปริมาณการ ซื้อขายโดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทได้มีการประเมินศักยภาพของทรัพยากรภายในใหม่ และเห็นว่าควรปรับปรุงวิธีการดำเนินงานโดยรวม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นที่สอง การดำเนินการขอพักชำระหนี้ต่อศาลสิงคโปร์ หลังจากที่บริษัทได้ยื่นคำร้องขอพักชำระหนี้ต่อศาลเพื่อให้ได้รับการพักชำระหนี้ เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยสถานะปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมในการเซ็นสัญญาระดมทุนจากนักลงทุน หลังจากนั้นจะมีการเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้ และเข้าสู่กระบวนการยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งอนุมัติแผนการและดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน
9 เดือนบัญชีเทรดคริปโต เติบโต 2.9 ล้านบัญชี
สำนักงาน ก.ล.ต.เผย ณ สิ้นเดือน ก.ย. 65 ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกมีมูลค่าตามมาร์เก็ตแคปประมาณ 0.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 40.1% มาจากบิตคอยน์และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุดที่ 50.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยตั้งแต่ต้นปี 2565 ผลตอบแทนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในไทยยังคงให้ผลตอบแทนติดลบ แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Ethereum และ Bitcoin มีความผันผวนลดลง
โดยมูลค่าการซื้อขายต่ำสุดในเดือน ก.ย.อยู่ที่ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดือน ส.ค.ประมาณ 19% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ซื้อขายประเภทบุคคลในประเทศเป็นหลักและเริ่มมีผู้ซื้อขายประเภทนิติบุคคลในประเทศเข้ามาซื้อขาย ตั้งแต่ มิ.ย.เป็นต้นมา นอกจากนี้จำนวนบัญชีซื้อขายบุคคลในประเทศที่แอ็กทีฟของเดือน ก.ย. 65 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดือน ส.ค. 65 ประมาณ 8% โดยในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 1.34 แสนบัญชี ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 65 มีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ทั้งหมดผ่านศูนย์ซื้อขาย 2,909,025 บัญชี
พฤศจิกายน 2565 ก.ล.ต.สั่ง Bitkub แก้ไขเหรียญให้เสร็จใน 30 วัน
ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 13/2565 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีมติสั่งการให้บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) แก้ไขการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน โดยประสานกับผู้ออกเหรียญ KUB ให้แก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์เหรียญ KUB และแก้ไขในส่วนของ adminTransfer เพื่อจำกัดผลกระทบในเชิงระบบจากความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ถือเหรียญ โดยต่อมา Bitkub ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการข้างต้น ล่าสุด คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2565 มีมติสั่งการให้ Bitkub ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดการสั่งการครั้งก่อน
คริปโตร่วงหนัก นักลงทุนกังวล FTX ล้มละลาย
ราคาบิทคอยน์-คริปโตฯ ร่วงหนัก เหตุนักลงทุนกังวลต่อการล้มละลายของ FTX และสถานะของเงินทุนของลูกค้า ฉุดให้ราคา BTC ร่วงลงอย่างรุนแรงอยู่ที่ 17,631.10 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 10.42% และ ETH 1,191.73 ดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 19.41% สร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบปีนี้ ขณะที่เหรียญนิยมของไทย KUB ร่วง 11.81% เหลือ 53.01 บาท และ SIX อยู่ที่ 1.7471 บาท ลดลง 8.98% ยกเว้น JFIN บวก 8.29% เนื่องจากความกังวลในกระแสข่าวการล่มสลายของ FTX กระดานเทรดคริปโตชื่อดังที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยเฉพาะประเด็นการโต้เถียงของเหรียญ FTT ซึ่งเป็นเหรียญประจำกระดานของ FTX และการออกมาให้ข้อมูลของ Alameda ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาด crypto ทั้งหมด
ขณะที่ต่อมา Sam Bankman-Fried ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ FTX Cryptocurrency Derivatives Exchange ได้ยื่นฟ้องล้มละลายในบทที่ 11 ในสหรัฐอเมริกา ตามแถลงการณ์ของบริษัทที่โพสต์บน Twitter โดย Bankman-Fried ได้ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO และถูกแทนที่โดย John J. Ray III
Genesis รับเคราะห์ FTX ส่อยื่นล้มละลาย
หลังจากการประกาศล้มละลายของกระดานเทรดคริปโตยักษ์ใหญ่อย่าง FTX ทำเอาสั่นสะเทือนไปทั้งวงการคริปโต และได้เห็นโดมิโนเอฟเฟกต์อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Genesis Global Trading ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันที่ให้กู้ยืมคริปโตรายใหญ่ระดับโลก ต้องเผชิญกับภาวะกล้ำกลืน หลังพยายามหาเงินทุนมายื้อชีวิตตัวเองให้ถึงที่สุด และถ้าหากไม่สามารถหาเงินทุนได้อาจต้องยื่นล้มละลาย
ก่อนหน้านี้ Genesis เคยได้รับผลกระทบจากการเข้าลงทุนกับ Three Arrows Capital (3AC) ซึ่งเป็นเฮดจ์ฟันด์ที่ได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของอาณาจักร Terra เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเมื่อเร็วๆนี้ Genesis ประกาศระงับการถอนของลูกค้าในธุรกิจกู้ยืมชั่วคราว หลังความล้มเหลวอย่างกะทันหันของ FTX และ Alameda Research ส่งผลให้ลูกค้าพากันแห่ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มของ Genesis สูงในอัตราเกินกว่าสภาพคล่องของบริษัทจะรับได้
ธันวาคม 2565
ผู้ก่อตั้ง FTX ถูกจับกุมแล้ว
สำนักอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ตำรวจบาฮามาสได้บุกจับนายแซม แบงค์แมน-ฟรายด์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เอฟทีเอ็กซ์ ที่บ้านพักของเขาในบาฮามาสแล้ว หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว บริษัท เอฟทีเอ็กซ์ยื่นขอล้มละลายในสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ใช้จำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบได้ เดิมที บริษัท เอฟทีเอ็กซ์ ถือเป็นผู้ให้บริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก มีการซื้อขายเงินดิจิทัลกว่า 3 แสนล้านบาททุกวัน
Zipmex เล็งจ่ายคืนงดเว้นกำไร
เมื่อเร็วๆนี้ ก.ล.ต. ได้บังคับใช้กฎหมายแก่นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ตามมาตรา 94 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล และบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) ตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวม 2,615,000 บาท
เนื่องมาจากนายเอกลาภ ต้องรับผิดชอบการดำเนินงานของ Zipmex สั่งการหรือกระทำการอันเป็นเหตุให้ระหว่างวันที่ 20-28 กรกฎาคม 2565 โดยให้ Zipmex ระงับการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.และโดยปฏิบัติไม่เป็นไปตามมาตรฐานในฐานะผู้มีวิชาชีพพึงกระทำและเป็นการไม่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า Zipmex สิงคโปร์ ได้ร่างข้อเสนอตามเงื่อนไขกฎหมายสิงคโปร์ โดยจะผ่านการพิจารณาและตรวจสอบจากอนุญาโตตุลาการสิงคโปร์ ก่อนอนุญาติให้ดำเนินการได้ ซึ่งล่าสุดประกาศความคืบหน้าที่จะคืนเงินให้แก่ลูกค้า โดยวางหลักเกณฑ์ต้องกดยอมรับ “ข้อกำหนดและเงื่อนไข” ต่าง ๆ ในเชิงกฎหมายเสียก่อน โดยเงื่อนไขข้อบังคับดังกล่าวผูกมัดพันธสัญญาต่อการคืนเหรียญอย่างมีนัยยะสำคัญ
ทั้งนี้ นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบัน THAC กล่าวถึงขั้นตอนและเงื่อนไขการยินยอมรับข้อตกลงทางกฏหมาย ตามเงื่อนไขสัญญาใหม่ว่า
1. ให้ลูกค้ายอมรับว่าเหตุการณ์ที่บริษัทสั่งระงับการโอนสินทรัพย์ของลูกค้าอยู่นอกเหนือการควบคุมของ Zipmex และการเสนอข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ใช่การยอมรับผิดของบริษัทใด ๆ ในกลุ่ม Zipmex
2. การคืนเหรียญมาในกระเป๋า Z Wallet ครั้งนี้ถือเป็นการ “ชำระหนี้อย่างเต็มจำนวนแล้ว” ลูกค้าจะไม่ติดใจฟ้องทั้งแพ่งและอาญา ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
3. ลูกค้ายอมรับว่าได้รับการชำระหนี้คืนเต็มจำนวนแล้ว (เงินต้น) ถือว่าทาง Zipmex ไม่เกี่ยวข้องหรือมีความรับผิดชอบใด ๆ ต่อกันอีก โดยเฉพาะจะไม่ฟ้องเพื่อเรียกสิทธิประโยชน์ตามที่ลูกค้าควรจะได้ เช่น โบนัส ส่วนต่างราคา หรือค่าเสียโอกาส จากการที่เหรียญของเราติดอยู่ในแพลตฟอร์มมานานถึง 5 เดือน
4. ลูกค้ายอมรับที่จะออกจากโครงการ ZipUp+ โดยไม่ได้รับกำไร หรือโบนัส อีกต่อไป และบริษัทไม่ได้โอนสินทรัพย์คืนลูกค้าโดยอัตโนมัติ แต่ลูกค้าจะต้องเป็นคนกดคำสั่งโอนจาก Z Wallet ไปยัง Trade Waller ออกมาเอง
5. ลูกค้ายอมรับว่าเงื่อนไขและการยอมรับทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้กระบวนการทางกฎหมายในสิงคโปร์ (ไม่ใช่ศาลในไทย) หากมีคดีความเรื่องนี้อีก ต้องเป็นไปตามกฎหมายสิงคโปร์ โดยจะถูกเสนอต่อและตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการสิงคโปร์
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมคริปโตในปี 2565 อย่างไรก็ตาม iBit ยังคงย้ำเตือนนักลงทุนเสมอถึงความเสี่ยงสูงในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล และพิจารณาความเสี่ยงของการลงทุนอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน