xs
xsm
sm
md
lg

“กรุงไทย” ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% มีผลตั้งแต่ 3 ม.ค.66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ธนาคารกรุงไทย ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% มีผล 3 มกราคม 2566 สะท้อนต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงจากกรณี ธปท.ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ เป็นอัตราปกติที่ 0.46% เดินหน้าช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางอย่างตรงจุด ทันการณ์ และฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) 
เปิดเผยว่า จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและชัดเจนขึ้น โดย ธปท.ประกาศปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้กลับเข้าสู่อัตราปกติที่ 0.46% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จากที่ประกาศปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือ 0.23% ต่อปี เพื่อลดต้นทุนสถาบันการเงินให้ส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังภาคธุรกิจและภาคประชาชน โดยธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทลง 0.40% ไปแล้วก่อนหน้านี้ 

การปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ดังกล่าว ส่งผลให้ธนาคารจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย (MRR) ในอัตรา 0.40% ต่อปี ตามที่ได้ปรับลดลงไป 0.40% ในช่วงก่อนหน้า มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2566 เป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ย MLR เท่ากับ 6.15% MOR เท่ากับ 6.72% และ MRR เท่ากับ 6.77% ต่อปี สอดคล้องกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

โดยที่ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญกับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง โดยพิจารณาอย่างรอบคอบให้มีผลกระทบต่อลูกค้าน้อยที่สุด โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย ผู้ประกอบการรายเล็กและกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ เพื่อดูแลช่วยเหลือลูกค้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยมาตรการความช่วยเหลือจะพิจารณาให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม การไกล่เกลี่ยหนี้ และการเสริมสภาพคล่อง โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต พร้อมสนับสนุนการปรับตัวรองรับทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวสามารถแข่งขันได้ 
กำลังโหลดความคิดเห็น