หากพูดถึง Decentralized Finance หรือ DeFi ในปัจจุบันทุกคนคงพอเข้าใจอยู่แล้วว่ามันคือโลกการเงินแบบกระจายศูนย์ ระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ต้องมีตัวกลางอย่างสถาบันการเงินมารับรอง ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เป็นตัวเชื่อมให้ทุกฝ่ายสามารถตรวจสอบธุรกรรมได้ ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ DeFi ทำให้ต้นทุนลดลง จึงสามารถนำผลตอบแทน (Yield) มาแจกจ่ายให้แก่ผู้ใช้งานได้มากกว่าระบบการเงินแบบเดิม ๆ
โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์ม DeFi ที่ให้บริการหลากหลายรูปแบบ ทั้งการทำ Yield Farming การ Staking หรือการปล่อยกู้เหรียญ (Lending & Borrowing) ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะมีข่าวคราวเกี่ยวกับ APY (Annual Percentage Yield) อัตราผลตอบแทนต่อปีที่สูงจนน่าตกใจ ทำให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และก่อให้เกิดแพลตฟอร์ม DeFi ใหม่ ๆ มากมาย
ขณะเดียวกันแพลตฟอร์มของ DeFi ส่วนมากเป็นการ Leverage สร้างผลตอบแทนแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นการ Fork Code หรือการคัดลอก Code ตาม ๆ กันมา ซึ่งมักถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อดึงดูดเงินฝากของผู้ใช้เท่านั้น จึงจะเห็นว่ามีข่าวแพลตฟอร์มที่โดนแฮ็กอยู่ตลอดเวลา และแพลตฟอร์มก็อาจต้องปิดตัวลงไปในที่สุด ปัจจุบันเหลือรอดอยู่เพียงแค่ 5% เท่านั้น หลังจากนั้น “Real Yield” จึงเกิดเป็นกระแสขึ้นมา
Real Yield คือผลตอบแทนที่แท้จริงจากการประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มในโลก DeFi ที่มีรายได้สม่ำเสมอ ซึ่งจะมีความใกล้เคียงกับการปันผลในตลาดหุ้น ดังนั้นแพลตฟอร์ม DeFi ที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าผลตอบแทนจากการใช้งานไม่สูงมาก แต่มีความสม่ำเสมอ จึงยังคงมีการใช้งานต่อเนื่อง เช่น Uniswap สาเหตุเป็นเพราะมีทีมงานที่แข็งแรง ทั้งทีมหลังบ้านที่คิดค้นระบบนิเวศเพื่อรองรับ Tokenomic มาเป็นอย่างดี เป็นสาเหตุที่ทำให้แพลตฟอร์มที่สามารถสร้าง Real Yield ได้จะมีความยั่งยืนกว่า
นางสาวฟรานเชสก้า รุสโซ่ ผู้ก่อตั้ง Crypto Meetup Thailand คอมมูนิตี้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ให้ความเห็นว่า หลายคนมักจะเปรียบเทียบ DeFi กับธุรกิจธนาคารหรือตลาดหุ้นในปัจจุบัน สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ DeFi เข้ามามีบทบาทกับโลกการเงินมากขึ้น และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการให้บริการ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญให้อุตสาหกรรมธนาคารต้องปรับตัว
ไม่เพียงแค่นั้น แต่เราทุกคนควรเริ่มปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน หากการลงทุนใน DeFi เข้ามามีบทบาทซ้อนทับกับโลกการเงินมากขึ้น และมาพร้อมกับผลตอบแทนที่หวือหวา ต้องศึกษาให้เข้าใจว่าผลตอบแทนที่เกิดขึ้นเกิดจากส่วนใด เพราะยิ่งมีความรู้ความเข้าใจมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการลงทุนก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ดังนั้น การลงทุนใน DeFi จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และควรลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล