แซม แบงก์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried) อดีตซีอีโอและผู้ก่อตั้งกระดานเทรดคริปโต FTX ถูกจับกุมที่บาฮามาสตามคำขอของอัยการสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) ก่อนที่เจ้าตัวจะมีกำหนดให้ปากคำต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับการล่มสลายของ FTX เมื่อเดือนที่แล้ว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การจับกุม แบงก์แมน-ฟรีด ถือเป็นจุดตกต่ำล่าสุดของนักธุรกิจหนุ่มมาดเซอร์วัย 30 ปี ซึ่งขี่กระแสความบูมของบิตคอยน์และทรัพย์สินดิจิทัลสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน กระทั่ง FTX มาเผชิญวิกฤตสภาพคล่องจนถึงขั้นล้มละลาย
FTX ซึ่งก่อตั้งที่บาฮามาสเมื่อปี 2019 ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจัดการกองทุนผิดพลาด ตามมาด้วยการที่นักลงทุนเข้าไปแห่ถอนเงินออกกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลาแค่ 72 ชั่วโมง
ตำรวจบาฮามาสแถลงว่า แบงก์แมน-ฟรีด ถูกจับที่อพาร์ตเมนต์ของเขาในย่านอัลบานี (Albany) ที่กรุงแนสซอ เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (12) ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดบาฮามาสระบุว่า พวกเขาดำเนินการจับกุมหลังได้รับหนังสือยืนยันการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และคาดว่า แบงก์แมน-ฟรีด จะถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ยังไม่แน่ชัดว่า แบงก์แมน-ฟรีด จะได้เข้าให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ตามกำหนดหรือไม่ โดยอัยการแมนฮัตตันระบุว่า พวกเขาได้มีการตั้งข้อหากับ แบงก์แมน-ฟรีด และจะแถลงอย่างเป็นทางการภายในวันนี้ (13) ขณะที่สื่อนิวยอร์กไทม์สรายงานว่าอดีตซีอีโอ FTX จะถูกตั้งข้อหา “ฉ้อโกง” และ “ฟอกเงิน”
การล่มสลายของ FTX เกิดขึ้นหลังจากที่ แบงก์แมน-ฟรีด ได้เคลื่อนย้ายเงินทุนของลูกค้าราว 10,000 ล้านดอลลาร์ไปยังบริษัท Alameda Research ของเขา และปรากฏว่ามีเงินทุนลูกค้าหายไปอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจากสำนักข่าวรอยเตอร์
แบงก์แมน-ฟรีด ยืนยันกับรอยเตอร์ว่าบริษัทของเขาไม่ได้ “โอนเงินอย่างลับๆ” ตามที่เป็นข่าว ทว่าเกิดจากความสับสนภายในองค์กร และเมื่อถูกถามว่าเงินทุนที่หายไปอยู่ไหน ก็ได้คำตอบกลับมาแค่ว่า “???”
ในการสัมภาษณ์และปรากฏตัวต่อสาธารณชนหลายครั้งเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ถึงต้นเดือน ธ.ค. แบงก์แมน-ฟรีด ยอมรับว่า FTX บริหารความเสี่ยงผิดพลาด แต่ยืนยันว่าตนไม่ได้มีเจตนาฉ้อโกง และไม่ทราบเรื่องที่เงินทุนลูกค้า FTX ถูกนำไปมั่วกับเงินทุนของ Alameda
แซมลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของ FTX ในวันเดียวกับที่บริษัทยื่นล้มละลาย
บรรดานักลงทุนคริปโตในสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องเอาผิดกับ แบงก์แมน-ฟรีด โดยกล่าวหาว่าเขาและบุคคลผู้มีชื่อเสียงบางคนที่ออกมาโปรโมต FTX เข้าข่ายกระทำการหลอกลวง จนส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเสียหายถึง 11,000 ล้านดอลลาร์