xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีหุ้นไทยไปไม่ถึงฝัน 1,700จุด หลายปัจจัยลบรุมเร้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด (ซ้าย) นายอภิชาต ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (ขวา)
โบรกเกอร์หลายสำนักหั่นเป้าดัชนีหุ้นไทยปีนี้ลง เหตุหลายปัจจัยลบรุมเร้า บล.ทิสโก้ปรับลดดัชนีหุ้นไทยปี 65 เหลือ 1,650 จุด เพราะเศรษฐกิจไทยอาจโตต่ำกว่าคาด เตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการลงทุนมากเป็นพิเศษช่วงครึ่งหลังปี 66 เพราะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ลุ้นมาตรการรัฐปลายปีและผลการประชุมเฟด กระตุ้นหนุนหุ้นไทยเดือน ธ.ค.ฟื้นต่อเนื่อง ส่วนเงินไหลเข้าช่วงนี้เป็น เพียงการเก็งกำไรเงินบาทจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย นโยบายรอบล่าสุด ขณะช่วงนี้ต่างชาติเทขายหนัก

แต่คงวิ่งไปไม่ได้ไกล เพราะถูกปัจจัยลบกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่น่าจะสดใสมากนัก ในระยะสั้น นักลงทุนต่างชาติกลายเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญ จากที่เคยซื้อหุ้นต่อเรื่องจากต้นปี ปรับกลยุทธ์มาเทขายหนักๆ โดยไม่มีแรงซื้อตั้งรับจากนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนในประเทศ มีแต่นักลงทุนรายย่อยเท่านั้นที่กลับเข้าไปช้อน แต่ต้านทานแรงขายต่างชาติไม่ไหว

ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน บรรยากาศซื้อขายหุ้นเงียบเหงาซบเซา ดัชนีหุ้นซึมลง จนมีแนวโน้มลงไปแตะระดับ 1,600 จุด แต่กลางสัปดาห์ หุ้นทะยานสู่ความคึกตักเต็มรูปแบบ จนขึ้นมาแตะที่ระดับ 1,650 จุดอีกครั้ง และเมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดหุ้นเต็มไปด้วยปัจจัยลบ ทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในจีน จนนำไปสู่การประท้วงลุกลามของชาวจีน เพื่อต่อต้านนโยบายล็อกดาวน์ และสร้างความกังวลสถานการณ์ในจีน

ขณะเดียวกันนักลงทุนทั่วโลกยังเฝ้าระวังผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออก สลับกับการซื้อ รวมทั้งยังมีผลกระทบจากการซื้อขายหุ้นบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด(มหาชน)หรือ MORE ที่ฉาวโฉ่ ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน เพราะ ปัจจัยลบรอบด้าน ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ตลาดหุ้นช่วงปลายปีคงไม่สดใส และเตรียมปรับลดประมาณการเป้าหมายดัชนีหุ้นปลายปีนี้

โดยช่วงกลางสัปดาห์กลับพบว่าหุ้นพุ่งทะยานขึ้น และเริ่มมีปัจจัยในเชิงบวกสนับสนุน โดยการประท้วงต่อต้านล็อกดาวน์ในจีนคลายตัวลง นักลงทุนลดความกังวลภาวะเงินเฟ้อและที่สำคัญ นักลงทุนต่างชาติกลับมาไล่ซื้อหุ้นอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้ภาวะตลาดหุ้นที่ทำท่าจะไหลรูดลงต่ำแตะระดับ 1,600 จุด โงหัวขึ้นไปทะลุผ่าน 1,650 จุดได้ เพราะหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอีเล็กโทรนิกส์นำตลาด

อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีจะผวนผันปรับขึ้น ๆ ลง ๆ และเป้าหมายดัชนี 1,700 จุด คงไม่มีโอกาสได้เห็นแล้ว ส่วนเป้าที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ประมาณไว้ที่ระดับ 1,650 จุด จึงไม่น่าพลาดแล้ว เพราะข่าวร้ายที่มีอยู่เดิม นักลงทุนเริ่มชิน ธุรกิจการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาแม้จะไม่เท่าเดิมแต่ถือว่าแนวโน้มที่ดี แต่นั่นแสดงถึงการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ขณะเม็ดเงินซื้อขายในแต่ละวันของนักลงทุนต่างชาติจะสวนทางกับนักลงทุนในประเทศเสมอ

โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายหุ้นอย่างหนัก 2 วันติด เพราะปล่อยหุ้นออกมาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท กดให้ดัชนีฯทรุดลง วันอังคารที่ผ่านมา ทรุดลง 8.66จุด ปิดที่ 1,632.97 จุด ส่วนปี 66 คาดว่าช่วงครึ่งปีแรก ดัชนีฯอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 1,700 จุด แต่จะปรับลงในช่วงครึ่งปีหลัง  ประเมินเป้าหมายดัชนีฯปลายปี2566 ที่ระดับ 1,580 จุด ทำให้แนวโน้มตลาดช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ต่อเนื่องถึงสิ้นปีหน้า จะอยู่ในสภาพทรงๆทรุดๆ แม้บางช่วงอาจกระเตื้องขึ้น แต่คงวิ่งไปไม่ได้ไกล เพราะถูกปัจจัยลบกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่น่าจะสดใสมากนัก ในระยะสั้น นักลงทุนต่างชาติกลายเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญ จากที่เคยซื้อหุ้นต่อเนื่องจากต้นปี ปรับกลยุทธ์มาเทขายหนักๆ โดยไม่มีแรงซื้อตั้งรับจากนักลงทุนสถาบันหรือกองทุนในประเทศ มีแต่นักลงทุนรายย่อยเท่านั้นที่กลับเข้าไปช้อน แต่ต้านทางแรงขายต่างชาติไม่ไหว

สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ล่าสุดเมื่อ 6 ธ.ค.ที่่ผ่านมาปิดที่ 1,632.97 จุด ลดลง 8.66 จุด หรือ 0.53% เคลื่อนไหวในกรอบ 1,628.66 -1,640.87 จุด มูลค่าซื้อขาย 62,672.68 ล้านบาท และพบว่านักลงทุนต่างประเทศเทขายสนั่นสุทธิที่ 34,426.02 ล้านบาท สวนทางนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 20,324.35 ล้านบาท ส่วนสถาบันซื้อสุทธิ 3,793.64 ล้านบาท และบัญชี บล. ซื้อสุทธิ 4,128.67 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลักทรัพย์ 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด ราคาล้วนลดลงทุกหลักทรัพย์ โดย PTT ซื้อขาย 2,644.90 ล้านบาท ปิดที่ 180.50 บาท ลดลง 2.00 หรือ 1.10% KBANK ซื้อขาย 2,441.74 ล้านบาท ปิดที่ 142.00 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 0.35% ,BDMS ซื้อขาย 2,303.99 ล้านบาท ปิดที่ 28.50 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 1.72% , DELTA ซื้อขาย 2,100.10 ล้านบาท ปิดที่ 740.00 บาท ลดลง 32.00 บาท หรือ 4.15% และ ADVANC ซื้อขาย 2,100.10 ล้านบาท ปิดที่ 185.00 บาท ลดลง 3.50 บาทหรือ 1.86%

ดังนั้น คงต้องมาลุ้นกันว่าในปลายเดือนนี้ดัชนีหุ้นไทยจะปิดที่ระดับใด เนื่องจากช่วงเดือนสุดท้ายปลายปีไม่อาจคาดหวังการกลับมาของต่างชาติได้ เพราะมักชะลอการลงทุน หรือหยุดพักการซื้อขายยาวจนถึงต้นปีหน้า โดยช่วงนี้อาจเป็นการส่งท้ายปีเพื่อปิดบัญชี 

บล.ทิสโก้หั่นดัชนีปีนี้เหลือ 1,650 จุด 

นายอภิชาต ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า แม้การประชุมธนาคารกลางสำคัญในเดือนธันวาคมนี้ ทั้งสหรัฐฯ (FED), สหภาพยุโรป (ECB) และอังกฤษ (BOE) คาดว่าจะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น +50 bps เทียบกับที่ขึ้นดอกเบี้ย +75 bps ในการประชุมครั้งก่อน แต่บล.ทิสโก้มองตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดต่อกันในเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน ที่ผ่านมารวมกว่า 14% ได้ตอบสนองเชิงบวกไปพอสมควรแล้ว

ทั้งนี้ หากมองไปปี 2566 บล.ทิสโก้เชื่อว่าตลาดจะให้น้ำหนักมากขึ้นกับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ยากลำบาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ความกังวลเศรษฐกิจถดถอย นอกจากจะสะท้อนมาในส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) คู่ของอายุ 10 ปี และ 2 ปี ที่ติดลบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ล่าสุดส่วนต่าง US Bond Yield คู่ของอายุ 10 ปี และ 3 เดือน เพิ่งติดลบในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งบล.ทิสโก้มองว่าเป็นคู่สำคัญที่ช่วยยืนยันโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้าได้อย่างแม่นยำโดยใช้เวลาเฉลี่ย 19 เดือนหลัง Yield Curve ติดลบ

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นจะตอบสนองล่วงหน้าด้วยการปรับตัวลงก่อนประมาณ 6 เดือน ดังนั้นหากอิงการปรับฐานลงครั้งใหญ่ของราคาหุ้นในอดีตเทียบกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนมากเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2566 เป็นต้นไป

นายอภิชาติกล่าวอีกว่า ในส่วนของมุมมองกำไรสุทธิต่อหุ้น และดัชนีหุ้นไทยนั้น หลังจากที่งบไตรมาส 3 โดยรวมออกมาแย่กว่าคาด และ TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU) มีแนวโน้มจะหั่นประมาณการเศรษฐกิจไทยปีหน้าลงจากปัจจุบันที่คาดไว้ที่เพิ่มขึ้น 4.1% บล.ทิสโก้จึงปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาด (SET EPS) ปี 2565- 2566 เป็น 96 บาท และ 99.5 บาท จากเดิม 99.9 บาท และ 103.8 บาท ตามลำดับ ส่งผลให้เป้าหมาย SET Index เหมาะสมสิ้นปีนี้ปรับลงจากเดิม 1,700 จุด เป็น 1,650 จุด (หลัก ๆ จากการปรับ SET EPS ลง) และสิ้นปี 2566 ปรับลดลงจากเดิม 1,680 จุด เป็น 1,590 จุด (มาจากการปรับ SET EPS ลง และปรับระดับ PER ที่เหมาะสมลงจาก 16.6 เท่า เป็น 15.4 เท่า หรือ De-rating เพื่อสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยและรัฐเตรียมเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์)

อย่างไรก็ดี บล.ทิสโก้ยังมอง SET Index ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ในเชิงบวกจากโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่อง, โอกาสเกิดการเลือกตั้ง และคาดหวังจีนจะทยอยเปิดประเทศ โดยบล.ทิสโก้มอง SET Index มีโอกาสที่จะขึ้นทะลุระดับ 1700 จุดในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง

ด้วยภาวะตลาดหุ้นไทยเดือนธันวาคม ที่คาดจะแกว่งไซด์เวย์ไม่ไปไหนในกรอบหลัก 1,610-1,650 บล.ทิสโก้เน้นหุ้นคุณภาพดีขนาดกลางถึงใหญ่ที่ยังมี Upside น่าสนใจอยู่ แนะนำ BBL, BDMS ผสานกับหุ้นที่คาดจะมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุนในระยะสั้น ชอบ DTAC (คาดจะได้ข้อสรุปควบรวมภายในปีนี้), CENTEL, COM7, RATCH (คาดเข้า SET50 Index), CK (คาดโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการหลวงพระบางลงนามสัญญาก่อสร้างได้ในเร็ว ๆ นี้) และ PTG (ได้ประโยชน์จากการเดินทางที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันปรับลง) โดยสรุป หุ้นเด่นที่บล.ทิสโก้แนะนำในเดือน ธันวาคม คือ BBL, BDMS, CENTEL, CK, COM7, DTAC, PTG และ RATCH ด้านแนวรับสำคัญของหุ้นไทยเดือนนี้อยู่ที่ 1610 และแนวรับถัดไปที่ 1,590 จุด และแนวต้านสำคัญของ SET Index เดือนนี้อยู่ที่ 1,650 (เน้น) และแนวต้านถัดไปที่ 1,680 จุด 

บล.เอเซียพลัส ลุ้นแพกเกจกระตุ้น ศก. 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด  เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนในเดือน ธ.ค.65 นี้ คาดว่า ดัชนีเคลื่อนไหวที่ 1,685-1,720 จุด จากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวโดดเด่นกว่าหลายประเทศ อาทิ ดุลบัญชีเดินสะพัดมีสัญญาณการขาดดุลลดลงทั้งจากดุลการค้าดีขึ้น จากการนำเข้าต้นทุนพลังงานที่ราคาเริ่มลดลง และดุลบริการปรับตัวดีขึ้น หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามพื้นที่ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศกำลังฟื้นตัว  และช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะมีแพ็กเกจใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ อาทิ ช้อปช่วยชาติ เป็นต้น อีกทั้งเงินทุนต่างชาติคาดว่าจะไหลเข้าต่อเนื่อง 

นอกจากนี้แรงกดดันจากตลาดการเงินโลกดูผ่อนคลายลงมาระดับหนึ่งแล้ว โดยที่เงินเฟ้อหลายประเทศเริ่มแผ่วลง เงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวลงติดต่อกัน 4 เดือน และไทยชะลอลงมา 2 เดือนติดต่อกัน จึงคาดว่าหลังจากนี้มีแนวโน้มลดลงจนอยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตลาดคาดการณ์ช่วงกลางปี 2566 เช่นเดียวกับเงินเฟ้อไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ในปีหน้า ขณะที่ดอกเบี้ยเริ่มเข้าใกล้จุดที่เหมาะสม แม้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% มาอยู่ที่ 4% ในเดือน พ.ย. แต่ในปีหน้าการขึ้นดอกเบี้ยถูกจำกัดอยู่ที่ระดับ 5.25%

บล.กสิกรไทย มองตลาดหุ้นไทยรอผลประชุมเฟด 

บล.กสิกรไทย ประเมินว่าสัปดาห์นี้ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,630 และ 1,610 จุด ขณะแนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,660 จุด ตามลำดับ ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม อย่าง อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติรวมถึงสถานการณ์โควิดในจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนต.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนี ISM/PMI ภาคการบริการเดือนพ.ย. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ทั้ง ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือน พ.ย. ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ย. ของจีน

โดยประเมินปัจจัยต่างประเทศไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ และตัวกำหนดทิศทางตลาดหุ้นไทย คือ รอการประชุมกลาง Fed และรายงานเงินเฟ้อกลางเดือน ธ.ค. ส่วนปัจจัยบวก คือ การผ่อนคลายการเปิดเมืองของจีน และปัจจัยในประเทศช่วงนี้ให้น้ำหนักการทำ Window dressing และรอรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน พ.ย. รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติที่ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปีนี้

บล.ทรีนีตี้ ปรับดัชนีลดเหลือ 1,580 จุด 

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนธันวาคม 2565 คาดตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มต้นเดือนนี้ในเกณฑ์ดี จากปัจจัยหนุน 2 ปัจจัย คือ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่เตรียมชะลอลงอย่างแน่นอนในการประชุมกลางเดือนนี้ และการส่งสัญญาณของรัฐบาลจีนต่อการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ในประเทศมากขึ้น มอง 2 ปัจจัยนี้มีโอกาสทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯและจีนปรับตัว Outperform ตลาดหุ้นอื่นทั่วโลกได้ ส่วนตลาดหุ้นยุโรปก็ได้แรงหนุนจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเมื่อวานนี้ที่ออกมาต่ำกว่าคาดด้วยเช่นกัน ทำให้การประชุม ECB ครั้งถัดไปในช่วงกลางเดือนธ.ค.มีโอกาสที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.5% ด้วยเช่นเดียวกันกับ Fed

ทั้งนี้ Bond yield สหรัฐฯ เมื่อ30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรับตัวลงแรงจากคำพูดเชิง Dovish ของนาย Jerome Powell มองเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้น Technology เป็นสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปรับตัวขึ้นแรงในช่วงสั้น และมองความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจะเป็นปัจจัยกดดันต่อหุ้นกลุ่มนี้ในช่วงถัดไปได้ จึงไม่แนะนำให้เข้าลงทุนแต่อย่างใด ซึ่งการทำจุดต่ำสุดของ Bond yield ที่เกิดขึ้น ทำให้ยังคงมั่นใจต่อคำแนะนำให้ถือครองกลุ่มตราสารหนี้ รวมถึงตราสารจำพวกคล้ายบอนด์อย่าง REIT, Infrastructure fund, และหุ้นในกลุ่ม Utility ที่มี Relative yield สูงขึ้น 

สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น มองปัจจัยกระตุ้นที่อาจมีเข้าบ้างในเดือนนี้ อย่าง การออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปี 2566 ซึ่งอาจทำให้กลุ่ม Domestic ยังคงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจต่อไปหากต้องเลือกลงทุน ส่วนการเข้ามาของ Fund flow ไม่กี่วันนั้นเป็น Hot money ที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทจากประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งต่อจากนี้อาจเริ่มเบาบางลงหากไม่มีปัจจัยกระตุ้นใหม่

ขณะเชิงกลยุทธ์ หลังจาก คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุดที่ 1.25% ทำให้ระดับ SET ที่เหมาะสมในกรณีฐานนั้น บล.ทรีนีตี้ ปรับลดจากระดับ 1,630 จุดมาอยู่ที่ 1,580 จุด ซึ่งเมื่อเทียบกับระดับดัชนีปัจจุบันที่ 1,635 จุด อาจทำให้ Risk-reward ในภาพรวมดูไม่น่าสนใจมากนัก จึงเป็นที่มาที่แนะนำให้ Lock profit หุ้นในส่วนที่เหลือ

โดย หากต้องเลือก Selective ในเดือนธันวาคม มองไปยังกลุ่มหุ้นเหล่านี้คือ กลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งในระยะสั้นได้ประโยชน์จากทั้ง เงินบาทแข็ง, Bond yield ลง, ต้นทุนพลังงานลง (BGRIM, GPSC, GULF, RATCH, EGCO) ทั้งนี้ ประเมิน RATCH มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไป

ตามด้วย  กลุ่ม Big ticket retailers เพื่อเก็งมาตรการช้อปดีมีคืนที่จะออกมาในช่วงต้นปีหน้า (HMPRO, ILM, COM7) ทั้งนี้ ประเมิน COM7 มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไป และ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อเก็งมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าสู่ช่วง High season (AAV, BA, CENTEL, ERW, PTG, OR) มองกลุ่มสายการบินได้ Sentiment เชิงบวกระยะสั้นจากเงินบาทที่แข็งค่า ส่วน CENTEL ประเมินว่ามีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไป สุดท้ายคือ กลุ่มบริหารหนี้ (BAM, JMT, CHAYO, KCC) ซึ่งเข้าสู่ช่วง High season ในไตรมาส 4 อีกทั้งการซื้อหนี้ผ่านจุดต่ำสุด มอง BAM ผ่านช่วง Overhang จากประเด็น MSCI เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 


กำลังโหลดความคิดเห็น