“รมว.ยุติธรรม-ดีเอสไอ” แถลงปราบโกงสายฟ้าฟาด จับแก๊งขโมยไฟฟ้าขุดบิทคอยน์เสียหายกว่า 500 ล้าน ชี้เพียง 1% จากความเสียหาย 5 หมื่นล้าน ขยายผลนายทุน หวั่นเป็นสาเหตุปรับขึ้นค่าไฟฟ้าประชาชน
วันนี้ (7 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ และ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ร่วมแถลงผลการเปิดยุทธการปราบโกงสายฟ้าฟาด (ปฏิบัติการ Electrical Shock) ตรวจค้นอาคารพาณิชย์ต้องสงสัยลักลอบใช้กระแสไฟฟ้า ทำเหมืองขุดบิทคอยน์รายใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจ.นนทบุรี รวมทั้งสิ้น 41 จุด รัฐสูญรายได้กว่า 500 ล้านบาท
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากดีเอสไอได้รับคำร้องเรียนจากพลเมืองดี ตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 ใช้เวลาสอบสวน 1 ปีเศษ จนทราบว่ามีการลักลอบตั้งเหมืองขุดเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์ผิดกฎหมาย และนำเครื่องเข้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้ง มีการต่อกระแสไฟตรงโดยไม่ผ่านมิเตอร์ ทำให้ประเทศได้รับความเสียหาย จึงประสานร่วมกับ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมศุลกากร การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เข้าตรวจค้นสถานที่ต้องสงสัยดังกล่าว พร้อมตรวจยึด อุปกรณ์ที่ใช้ขุดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ จำนวน 3,500 เครื่อง และเครื่อง Power Supply กำลัง 1,800-2,000 วัตต์ มาตรวจสอบ พร้อมควบคุมผู้ดูแลอาคารหรือแอดมิน 1 ราย อายุ 30 ปี ในซอยสามัคคี 38 จ.นนทบุรี มาสอบสวน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนพบว่ามีกลุ่มนายทุนให้การสนับสนุนการกระทำความผิด ระยะเวลากว่า 2 ปี ทั้ง จัดหาเครื่องขุดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ที่ลักลอบหนีการสำแดงภาษีนำเข้าในราชอาณาจักรไทย สนับสนุนเงินทุนเพื่อจัดการอุปกรณ์ สถานที่ รวมถึงติดต่อคนมาดำเนินการต่อไฟฟ้าตรงไม่ผ่านมอนิเตอร์ ทำให้เสียค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกน้องอีกกว่า 20 ราย คอยทำหน้าที่ดูแลระบบและซ่อมบำรุงเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสอบปากคำขยายผล
“ทั้งนี้ แต่ละอาคารจะวางเครื่องขุดเงินสกุลดิจิตอล จุดละประมาณ 100 เครื่อง ใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง จากที่ต้องเสียค่าไฟฟ้า ตกเดือนละ 300,000-500,000 บาทต่อแห่ง แต่จ่ายค่าไฟฟ้าจริงเพียงแห่งละ 300-2,000 บาท ทำให้การไฟฟ้านครหลวงเสียหายกว่า 20 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละเกือบ 200-300 ล้านบาท และตลอด 2 ปี รัฐเสียรายได้กว่า 500 ล้านบาท หรือเป็นเพียงแค่ 1 % ของความเสียหายทั้งหมด 50,000 ล้านบาท เพราะการตรวจค้นอาคาร 41 แห่ง เป็นเพียงเครือข่ายเดียวของขบวนการที่มีอยู่ทั้งประเทศ จึงเชื่อว่า ยังมีอีกหลายสถานที่ในประเทศที่มีการลักลอบต่อไฟหลวงขุดเหมืองบิทคอยน์เช่นกัน”
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้กระทำความผิดมีรายได้จากการขุดเงินดิจิทัล 35 บาท ต่อเครื่องต่อวัน ทั้งหมด 3,500 เครื่อง ทำให้มีรายได้ถึง 4.2 ล้านบาทต่อเดือนรวม 2 ปี มีรายได้กว่า 100 ล้านบาท โดยไม่เสียค่าไฟฟ้าแต่รัฐกลับสูญเสียรายได้หลายร้อยล้านบาท สำหรับการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุทำให้ค่าไฟราคาแพงขึ้นและเป็นภาระแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกำลังสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม
ขณะที่นายไตรยฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "ดีเอสไอได้ทำการขยายผลเพิ่มเติมพบว่าการต่อกระแสไฟฟ้าโดยตรงเพื่อรับรายได้จากการขุดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่แล้วนั้น ยังเป็นช่องทางในการฟอกเงินของกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดจากพนันออนไลน์และยาเสพติด จะทำการสืบสวนหาผู้กระทำผิดต่อไป นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานว่ามีอาคาร 3-4 แห่งที่เกี่ยวข้องใช้กระแสไฟสูงมาก ทำให้เกิดความร้อน จนเกิดไฟไหม้มาแล้ว"