xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยชี้ส่งออก ต.ค.ติดลบรับ ศก.โลกชะลอ จับตาโควิดในจีนซ้ำเติม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์วิจัย ธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ระบุตัวเลขส่งออกเดือนตุลาคมที่ผ่านมากลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 20 เดือน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 21,772 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 7.8% และต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าขยายตัว 6% จากการส่งออกสินค้าทุกหมวดหลักที่กลับมาหดตัว ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลงในตลาดสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น โดยการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกขยายตัว 9.1% ส่วนการส่งออกทองคำเดือนนี้ขยายตัว 56.9% ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้กลับมาหดตัว 5.3%YoY

ทั้งนี้ การส่งออกที่หดตัวสอดคล้องกับการส่งออกของภูมิภาคที่แผ่วลงจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยการส่งออกของประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ มีสัญญาณชะลอตัวชัดเจนจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอตัว เช่น ราคาปาล์มน้ำมัน และราคาเหล็ก ขณะเดียวกัน การส่งออกในเกาหลีใต้และไต้หวันกลับมาหดตัวจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่ลดลงโดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีนจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ Krungthai COMPASS ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยทั้งจากด้านอุปสงค์ที่ชะลอลง รวมถึงราคาที่ปรับตัวลงโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกับการส่งออกของภูมิภาค

นอกจากนี้ จับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนอาจซ้ำเติมผู้ส่งออกสินค้าไปจีน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนกลับมารุนแรงอีกครั้งในเดือน พ.ย. โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงเกิน 3 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของการแพร่ระบาดจากครั้งก่อนที่ระบาดรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย. โดยทางการจีนได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรวม เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เป็นต้น คาดว่าหากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและทางการจีนใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ยาวนานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของจีนและกระทบการส่งออกสินค้าไปยังจีนมากกว่าคาด ซึ่งจะซ้ำเติมการส่งออกไปจีนที่หดตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังเผชิญแรงกดดันหลายด้าน เช่น ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงกระแสต่อต้านมาตรการ Zero Covid ที่เพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจจีนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น