xs
xsm
sm
md
lg

ส.อสังหาฯ-รับสร้างบ้านถก "สุพัฒนพงษ์" ขอยืดมาตรการกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายวรวุฒิ กาญจนกูล
3 สมาคมอสังหาฯ สมาธุรกิจสร้างบ้าน เตรียมเข้าพบ "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" ขอชงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ต่อเนื่องปี 66 หลังมาตรการ LTV ลดค่าโอนจะสิ้นสุดปี 65 รอหวังขยายค่าโอนครอบคลุมตลาดบ้านราคา 5 ล้านบาท อานิสงส์ถึงกลุ่มบ้านมือสอง เผยโจทย์ใหญ่ปีหน้า เศรษฐกิจประเทศใหญ่ สหรัฐฯ จีน ยังไม่ฟื้นตัว ดอกเบี้ยทั่วโลกปรับขึ้น โชคดีท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้น

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในปี 2566 ว่า ยังต้องเฝ้าติดตามปัจจัยที่เป็นผลกระทบจากภายนอก เนื่องจากตลาดโลกและเศรษฐกิจในภาพรวมในหลายประเทศยังไม่ดี ประเทศสหรัฐฯ และจีน เศรษฐกิจถดถอยหมด ดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเป็นทิศดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งยังไม่มีภาพรวม แต่ของประเทศไทยยังโชคดี การกลับมาของภาคการท่องเที่ยว บริษัทต่างๆ ที่เคยย้ายฐานการผลิตจากไทยไปประเทศเวียดนาม เริ่มพิจารณาที่จะย้ายกลับมา เนื่องจากเวียดนามเจอพายุบ่อย มีผลต่อโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีการเติบโตเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าจีดีพีในอาเซียนยังดีอยู่

"ผมมองว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งตนได้รับการประสานจากสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ทางสมาคมรับสร้างบ้านจะมีข้อเสนออะไรเพิ่มเติม เพื่อรวมกับ 3 สมาคมอสังหาฯ ในการเข้าพบกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อแจงให้เห็นความจำเป็รในการคงมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ที่จะสิ้นสุดปี 2565 โดยยังคงเป็นแนวทางที่ดำเนินการอยู่ในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผ่อนคลายมาตรการปล่อยสินเชื่อภายใต้เกณฑ์ LTV ต่อไป ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองเหลือรายการ ร้อยละ 0.01 ซึ่งจะขอขยายไปถึงกลุ่มราคา 5 ล้านบาท โดยให้ได้สิทธิในกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทแรก รวมถึงตลาดบ้านมือสองด้วย"

ในส่วนภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านที่จะสิ้นสุดในปี 2565 นั้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า เป็นการทำงานท่ามกลางความท้าทายและความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการระบาดของโควิด-19 ต้นทุนวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูง ต้นทุนค่าแรง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศมีมูลค่าปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นตลาดบ้านสร้างเองในพื้นที่กรุงเทพฯ มูลค่า 50,000 ล้านบาท ทางสมาคมฯ สามารถผลักดันมูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน (มาร์เกตแชร์) รวมได้ 12,500 ล้านบาท ซึ่งตลาดหลักของสมาชิกสมาคมฯ จะอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบกับการจัดงานใหญ่ 2 ครั้งที่ผ่านมา มีส่วนกระตุ้นความต้องการปลูกสร้างบ้านและยอดขายใหัสมาชิก โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านหรูระดับราคา 100-200 ล้านบาท ที่มีเจ้าของธุรกิจมาปลูกสร้างบ้านในงาน

ทั้งนี้ นโยบายในปี 66 ยังคงต่อเนื่องจากปีนี้ ในการขยายฐานสมาชิกในพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อเจาะตลาดในกลุ่มผู้รับเหมา และรองรับความต้องการของคนกรุงเทพฯ ที่มีบ้านหลังที่สองในหัวเมืองท่องเที่ยว เช่น ที่เขาใหญ่ กว่า 80% มาจากกรุงเทพฯ ที่ปลูกสร้างบ้าน

นายวรวุฒิ กล่าวสนับสนุนแนวนโยบายของผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ในการสนับสนุนการทำงานและการอนุญาตต่างๆ ของ กทม.มีความโปร่งใส โดยการยื่อขออนุมัติผ่านระบบออนไลน์ จะส่งผลดีต่อกระบวนการทำงานที่รวดเร็ว ต่างจากในอดีตที่เกิดความล่าช้า มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ธุรกิจมีการเติบโตที่ล่าช้า แต่ตนมองว่า การเข้ามาปรับแนวทางการทำงานครั้งนี้อาจจะมีเรื่องต่อต้านพอควร
กำลังโหลดความคิดเห็น