นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.95 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคมจะขยายตัว +1.3% จากเดือนก่อนหน้า ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดเริ่มทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกังวลว่า เฟดอาจสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้สูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (แม้อัตราการขึ้นจะลดลงก็ตาม) ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ออกมาเพิ่มเติม เช่น Meta -3.3% Amazon -1.8%
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของบรรดาหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิป หลังบริษัท Micron ประกาศปรับแผนลดการผลิตชิปและแผนการลงทุน ตามแนวโน้มความต้องการใช้ชิปที่จะลดลงในปีหน้า ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.54% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.83%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่าแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทเริ่มเพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ในฝั่งของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เราเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น (ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เพราะได้ทั้งกำไรจากหุ้น บอนด์และค่าเงิน) ซึ่งแนวโน้มนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์ไทยอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้บ้างในระยะสั้น นอกจากนี้ เรามองว่าควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดสาย “Hawkish” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดกลุ่มดังกล่าวอาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นได้ โดยต้องจับตาประเด็นสำคัญว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้จริงหรือไม่ และเฟดจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยไปถึงจุดไหน รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักมากขนาดไหน
อย่างไรก็ดี เรามองว่าโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำอาจพอช่วยชะลอแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง ทำให้แนวต้านของเงินบาทจะอยู่ในโซน 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่แนวรับยังคงเป็นโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (หากหลุดระดับดังกล่าว แนวรับสำคัญถัดไป คือ 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งเราประเมินว่าบรรดาผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศในโซนดังกล่าว
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.98% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมผลิตชิป อย่าง ASML -3.6% นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มความต้องการซื้อรถในฝั่งจีนที่อาจลดลงได้กดดันให้หุ้นกลุ่มยานยนต์ของยุโรปต่างปรับตัวลดลงหนักไม่น้อยกว่า -3%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงหนุนให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.69% อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่านักลงทุนไม่ควรไล่ราคาซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่ยิลด์ปรับตัวลดลง และควรรอจังหวะที่บอนด์ยิลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยซื้อ เพื่อเตรียมพอร์ตการลงทุนในพร้อมรับมือแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักในปีหน้า ซึ่งเรามองว่า ยังมีความเสี่ยงที่บอนด์ยิลด์ระยะยาวจะปรับตัวสูงขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น ข้อมูลตลาดแรงงาน หรือข้อมูลเงินเฟ้อยังคงสนับสนุนแนวโน้มเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนอาจเกินระดับ 5% และจุดที่จะทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือ การประชุมเฟดเดือนธันวาคม ซึ่งเฟดจะประกาศคาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Dot Plot ใหม่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างหลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจจะบานปลาย จนนำไปสู่สงครามรัสเซีย-นาโต้ เนื่องจากฝั่งนาโต้ รวมถึงผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่า ขีปนาวุธที่ตกในโปแลนด์อาจไม่ได้ยิงมาจากฝั่งรัสเซียและอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบป้องกันขีปนาวุธของยูเครน อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์พลิกกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด หนุนให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวนด์ขึ้นสู่ระดับ 106.3 จุด (+0.2%) ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปได้ไกล แม้ว่าบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงก็ตาม ทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวเหนือระดับ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อนึ่ง เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดมีโอกาสทยอยขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าได้
สำหรับวันนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจะมีไม่มาก แต่ไฮไลต์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ส่วนใหญ่เป็น FOMC Voting Members) โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งมีมุมมองสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา หรือมีมุมมอง “Hawkish” เช่น James Bullard, Michelle Bowman และ Loretta Mester หลังจากที่ล่าสุด รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่จะสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้ง CPI และล่าสุด PPI ได้ชะลอตัวลงมากกว่าคาด อีกทั้ง ตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของการจ้างงาน หลังบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ต่างปรับแผนการจ้างงานและมีการทยอยปรับลดพนักงานลง