ปรากฎการณ์ที่ FTX ซึ่งเป็นอดีต Exchange รายใหญ่ของโลกล้มสลายกลายเป็น Blackswan ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดแต่ได้สร้างความเสียหายให้กับวงการคริปโตเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Exchange อื่นๆที่ได้รับกระทบไปด้วยรวมถึงโปรเจกต์คริปโตอื่นๆที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจาก FTC
แม้ว่า FTX จะเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีความเป็นมืออาชีพแต่นักลงทุนรายย่อยเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการถูกห้ามถอนและโอนคริปโตที่ฝากไว้ในแพลตฟอร์มออกไปจนทำให้ Exchange อื่นๆมีปัญหาในการถอนด้วยเช่นกัน ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดคริปโตที่ยังไม่มีความชัดเจน นักลงทุนรายย่อยควรจะรับมือดังต่อไปนี้
ข้อแรก..ถอนคริปโตออกจาก Exchange ที่ไม่น่าเชื่อถือออกมาก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมี Exchange อื่นจะล้มละลายตามไปหรือไม่โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่ไม่ได้รับใบอนุญาต เพื่อรักษาทรัพย์สินของตัวเองจึงควรถอนคริปโตที่อยู่ใน Exchange ขนาดกลางขนาดเล็กออกมาเก็บไว้ก่อน เพราะสถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครตอบได้ว่าจะมีแพลตฟอร์อื่นล้มละลายไปอีกหรือไม่ ทางที่ดีควรจะเก็บทรัพย์สินของเราไว้ในที่ปลอดภัยก่อน
ข้อสอง..หัดใช้ Hardware Wallet เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล วิธีการเก็บรักษาคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดีที่สุดคือการเก็บใน Cold Wallet หรือเก็บใน Hardware Wallet ซึ่งผู้ใช้งานเป็นผู้ดูแลด้วยตัวเองซึ่งต่างจากการเก็บคริปโตไว้ใน Exchange ซึ่งเป็น Hot Wallet ที่แพลตฟอร์มหรือ Exchange สามารถที่จะควบคุมสินทรัพย์ของเราได้ทั้งหมด
วิกฤติที่เกิดขึ้นกับ Exchange ในรอบนี้เป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนคริปโตทุกคนต้องเรียนรู้การจัดการกับสินทรัพย์ดิจิทัลของตัวเอง ตามคอนเซ็ปท์ที่ว่า Not Your Key Not Your Coins จะว่าไปแล้วหลักการของการลงทุนในคริปโตนักลงทุนควรจะต้องดูแลสินทรัพย์ของตัวเองด้วยซ้ำ
ข้อสาม..กระจายแพลตฟอร์มในการลงทุนคริปโต แม้ว่า Binance ซึ่งเป็น Exchange ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะออกมาประกาศว่าสถานะทางการเงินของตัวเองยังเข้มแข็งและยังจัดตั้งกองทุนที่จะเข้ามาช่วยเหลือโปรเจกต์ที่ประสบปัญหารวมถึง Exchange ขนาดใหญ่อื่นๆที่ออกมาประกาศว่าจะเปิดให้ลูกค้าสามารถรู้ถึงสถานะเงินทุนของแพลตฟอร์ม แต่ตราบใดที่ Exchange เหล่านั้นยังไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานทางการเงินก็อาจยังไม่สามารถรับรองได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบ FTX อีก
ในเมื่อเราไม่สามารถทราบได้ว่า Exchange ไหนจะมีปัญหา การกระจายแพลตฟอร์มในการลงทุนรวมถึงกระจายเหรียญในการลงทุนให้มีความหลากหลายก็เป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี
ข้อสี่..ศึกษาพื้นฐานของคริปโตให้แน่นขึ้น ช่วงเวลาที่ตลาดคริปโตอยู่ในภาวะฟองสบู่ โปรเจกต์หรือเหรียญต่างๆราคาปรับตัวขึ้นโดยไม่มีพื้นฐานรองรับเท่าที่ควรจนเมื่อภาวะฟองสบู่แตกทำให้เกิดความเสียหายกับนักลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาล ในเมื่อภาวะตลาดที่เป็นฟองสบู่แตกลง โปรเจกต์และเหรียญต่างๆก็เข้าสู่มูลค่าพื้นฐานมากขึ้น นักลงทุนจึงควรโฟกัสกับเหรียญที่มี Use Case หรือการนำไปใช้งานจริงมากกว่าเหรียญที่เน้นความกาว
นี่คือ 4 ข้อที่นักลงทุนคริปโตควรจะทำหลังจากนี้เพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดนี้ได้อย่างยั่งยืนและเชื่อได้ว่าหลังจากนี้อุตสาหกรรมคริปโตจะมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นหลังวิกฤติจบลง
บทความโดย : ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)
สงวนลิขสิทธ์บทความเฉพาะสื่อในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ MGR online , iBit และ ที่ได้รับอนุญาติจากผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบทความเท่านั้น