xs
xsm
sm
md
lg

ส่องปมเหรียญ FTT ดิ่งเหว FTX สร้างเอง-ใช้เองปั้นงบ KUB ยังลอยชาย-ก.ล.ต.ยืดอีก 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประมวลสถานการณ์การล่มสลายของ FTX Exchange กระดานเทรดเหรียญรายใหญ่ในสหรัฐฯ หลังยื่นขอล้มละลาย จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง หนำซ้ำยังถูก Binance ตัดเยื่อใย ยกเลิกดีลซื้อกิจการ กดดันเหรียญ FTT ที่สร้างขึ้นมาราคาดิ่งเหว ล่าสุดพบงบดุลบริษัทในเครือผูกเหรียญตัวเอง (FTT)เป็นสินทรัพย์กว่า 1 ใน 3 สร้างความหวั่นวิตกต่อการตรวจสอบ หลายฝ่ายคาดหนีไม่พ้นวิกฤตเหรียญ LUNA ส่วนในไทย ก.ล.ต.ยังใจดียืดอายุ Bitkub แก้ไขเหรียญอีก 30 วัน แต่หลายฝ่ายเริ่มกังวลความไม่รัดกุมอาจก่อปัญหาวงกว้างในอนาคต

ดูท่าปีนี้ (2565) น่าจะถูกยกให้เป็นปีแห่งหายนะของตลาดตลาดคริปโตเคอร์เรนซี เพราะนอกจากวอลุ่มการซื้อขายที่ดิ่งวูบลงตามราคาเหรียญหลากหลายสกุล ก็ยังมีการล่มสลายในรูปแบบเจ้าของกระดานเทรด หรือเหรียญที่มีมูลค่าสูงมีอันต้องปิดตัวลงไปหลายสุกล

ล่าสุด เมื่อคืนวันที่ 11 พ.ย กระดานเทรดเหรียญอันดับ 2 ของโลกอย่าง FTX Exchange ได้ประกาศยื่นล้มละลายต่อศาลสหรัฐ ขณะที่นาย Sam Bankman-Fried ผู้ก่อตั้งและ CEO ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และให้บุคคลที่เคยมีประสบการณ์ด้านการดูแลบริษัทที่ล้มละลายอย่าง John Ray III ขึ้นมาทำหน้าที่ CEO แทน ขณะที่การยื่นล้มละลายครั้งนี้พบว่า FTX US และ Alameda Research มีหนี้สินระหว่าง 10,000 - 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยทั้ง 2 บริษัทมีสินทรัพย์ใกล้เคียงกับหนี้สิน

โดย Sam Bankman-Fried ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความสามารถและทรงอิทธิพลที่สุดในอุตสาหกรรมคริปโต เพราะเป็นบุคคลที่พยายามบุกเบิกการวางหลักเกณฑ์ด้านกฏระเบียบเพื่อสร้างเสถียรภาพของอุตสาหกรรมคริปโตในกรุงวอชิงตัน

สำหรับ FTX เป็นหนึ่งใน exchange ที่นักลงทุนทั่วโลกเลือกมากกว่า Binance ที่เป็นอันดับ 1 แต่จากเหตุการณ์นี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่านักลงทุนรายใหญ่ระดับ hedge fund และนักลงทุนสถาบันอื่นๆ อาจจะล้มกันเป็น Domino แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ 3 Arrow Capital และ Celsius จากเหตุการณ์ของเหรียญ Terra ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

นั่นเพราะ FTX ไม่เป็นเพียงแค่ exchange ที่เปิดให้รับแลกเหรียญในรูปแบบของ Spot แต่รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ Derivatives อื่น ๆ อีกมากที่นักลงทุนเหล่านี้ต่างพากันเลือกใช้ โดยรายใหญ่ที่อยู่ใน watchlist ช่วงนี้ ได้แก่ BlockFi, Genesis และ Wintermute ที่กำลังถูกเรียกร้องให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้มีรายงานว่า มีการตรวจพบความผิดปกติของ Wallet FTX โดยพบการโอนออกของสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์ แต่ยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าสาเหตุของการถูกโจมตีครั้งนี้เกิดจากอะไร ทำให้ FTX ระบุว่ากำลังถูก FTX ถูกแฮ็ก พร้อมแนะนำให้ผู้ใช้ห้ามอัปเดตแอปพลิเคชั่น และให้ลบแอป FTX ทั้งหมด และห้ามเข้าเว็บไซต์ เพราะอาจถูกติดตั้งลงบนเครื่องได้

ทำให้ในช่วงเวลานี้ มีการแนะนำว่านักลงทุนรายย่อยควรมีการบริหารความเสี่ยง ด้วยการถอนสินทรัพย์ทั้งหมดออกมายืนดูข้างนอกก่อน เนื่องจากนักลงทุนรายใหญ่ มีบทบาทต่อตลาดโดยรวมทั้งหมด รวมถึง DeFi ด้วย และการล้มละลายของ FTX ครั้งนี้อาจทำให้ภาวะตลาดหมีของคริปโทฯยาวนานขึ้น

ขณะเดียวกันจากการที่ FTX ล่มสลายในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังประสบปัญหาวิกฤติด้านการเงินอย่างรุนแรงพบว่าก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจาต่อรองกับผู้บริหารระดับสูงของ Binance ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการเข้าซื้อกิจการ แต่ตอนนี้ FTX กลายเป็นเป้าหมายของการสอบสวนโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และอัยการของรัฐบาลกลางในนิวยอร์ก โดยทรัพย์สมบัติของ Sam Bankman-Fried ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคาดไว้ว่าจะมีขนาดใหญ่ถึง 24 พันล้านดอลลาร์ได้ลดน้อยลงเหลือไม่ถึงหนึ่งพันล้านดอลลาร์ในขณะนี้

ขณะที่ Changpeng Zhao หรือ CZ ผู้บริหารระดับสูงของ Binance แนะนำต่อสาธารณชนว่า FTX อาจมีฐานะการเงินที่สั่นคลอน ลูกค้าจำนวนมากพยายามที่จะถอนการถือครอง crypto ออกจากแพลตฟอร์ม และ FTX ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้

การแนะนำดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจาก Mr. Bankman-Fried เจรจาเพื่อเสนอข้อตกลงให้ CZ ซื้อกิจการ FTX ไปโดยเขาจะนำเงินจากการขายกิจการมาฟื้นฟูกิจการ แต่หลังจากตรวจสอบเอกสารทางการเงินของบริษัทแล้ว Binance ก็ถอนตัวออกจากข้อตกลง ทำให้ Sam Bankman-Fried มีทางเลือกที่จำกัดมากขึ้น

ทั้งนี้ ในการโทรศัพท์หานักลงทุนและส่งข้อความถึงพนักงาน Sam Bankman-Fried กล่าวขอโทษในสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเน้นย้ำว่าเขากำลังทำงานอย่างหนัก เพื่อหาเงินและแก้ไขสถานการณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้วหลุมนั้นใหญ่เกินกว่าจะเติมได้ โดยรวมแล้ว FTX เป็นหนี้ถึง 8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการยื่นฟ้องในวันศุกร์ (11พ.ย.) ถือว่าเป็นคดีล่าสุด และใหญ่ที่สุด ในชุดของการล้มละลายที่เขย่าโลกของตลาดคริปโตในปีนี้

เหรียญ FTT ไม่ขานรับดีลยักษ์

สิ่งที่น่าสนใจคือ การประกาศเข้าซื้อกิจการ FTX จากคู่แข่งรายสำคัญอย่าง Binance กระดานเทรดยักษ์ใหญ่ของโลก เมื่อคืนวันที่ 8 พ.ย.เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบทานธุรกิจ (Due Diligent) ดูจะไม่มีผลบวกต่อ FTX เลย จน Binance ได้ประกาศแผน Exit จาก FTX อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ในช่วงปี 2019 Binance ได้เข้าไปลงทุนใน FTX พร้อมถือหุ้นไว้ส่วนหนึ่ง โดย Binance ได้สินทรัพย์ออกมาเป็นเหรียญ BNB และเหรียญ FTT (เหรียญที่ถูกจัดตั้งโดย FTX) แต่ไม่ได้ประกาศจำนวนที่แน่ชัด

ดังนั้น หลังจากการประกาศ Exit จาก FTX เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบทานธุรกิจ (Due Diligent) CEO ของ Binance ได้ทวีตข้อความถึงผู้ติดตามกว่า 7 ล้านคนว่า "เขาคาดว่า FTT จะผันผวนสูงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า” ซึ่งมาพร้อมกับการประกาศว่า Binance จะเทขายเหรียญ FTT ที่ถืออยู่ทั้งหมดก่อนหน้านี้ พร้อมยืนยันว่าจะทำให้กระทบกับตลาดน้อยที่สุด

นั่นทำให้เหรียญ FTT ซึ่งซื้อขายที่ประมาณ 22 ดอลลาร์เมื่อวันจันทร์ (7พ.ย.) ลดลงต่ำกว่า 5 ดอลลาร์ในอังคาร นั่นหมายความว่า การเทขายเหรียญครั้งใหญ่นี้กวาดล้างมูลค่าของเหรียญ FTT ไปกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และในช่วงหัวค่ำของวันที่ 8 ก่อนการประกาศเข้าซื้อกิจการ FTX ของ Binance ราคาเหรียญ FTT ร่วงลงไปถึง 2.497 ดอลลาร์ (ลดลงกว่า 80%) ก่อนจะปรับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ในกรอบราคา 4-5 ดอลลาร์

ทั้งนี้ FTX มีมูลค่าถึง 32,000 ล้านดอลลาร์ในรอบการระดมทุนเมื่อต้นปีนี้กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก ขณะที่การเข้าซื้อกิจการโดย Binance จะมีผลเฉพาะกับธุรกิจของ FTX นอกสหรัฐฯ ส่วน FTX ในสหรัฐฯ จะยังคงเป็นอิสระจากดีลดังกล่าว แต่จากการตรวจสอบรายได้ในปี 2564 ส่วนของ FTX ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในบาฮามาสที่ Bankman-Fried อาศัยอยู่ พบว่ามีสัดส่วนรายได้เพียง 5% จากรายได้ทั้งหมดเท่านั้น


เหรียญ FTT อยู่ช่วงวิกฤต

ย้อนกลับมาที่เหรียญ FTT ซึ่งถูกจัดตั้งโดย FTX แม้ในช่วงที่กำลังเจรจากับ Binance ทางผู้บริหารอย่าง CZ จะทยอยขายเหรียญ FTT ทิ้ง โดยไม่ให้กระทบกับตลาด ในช่วงแรกหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นการทำเพื่อความโปร่งใสในการเข้าลงทุน เนื่องจากทาง Binance จำเป็นต้อง Liquidate เหรียญ FTT ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ออกจากงบดุล นั่นทำให้แน่นอนว่าเหรียญ FTT ย่อมปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม การเจรจาเพื่อให้ Binance เข้ามาซื้อกิจการ FTX ก็ทำให้ทำให้บรรดาเหล่าโซเชียลต่างขุดคุ้ยเรื่องราวของ Sam Bankman-Fried กับสถานการณ์ของ FTX ว่าตอนนี้มีปัญหาเรื่องการเงินหรือไม่ และเมื่อเริ่มมีข่าวที่ไม่ดีเกี่ยวกับ FTX Exchange แน่นอนว่าเหล่านักเทรดต่างพากันโอนเหรียญออกจาก FTX เปรียบเหมือนคนแย่งขึ้นทางด่วน ทำให้ Transaction และการทำธุรกรรมต่าง ๆ ก็ยิ่งช้าลงไปอีก ดังนั้นการถอนเงินออกก็ช้าออกไป ซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่ว่า FTX กำลังประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินพอดี อีกทั้งหลายๆสื่อก็ออกมาเตือนถึงเหตุการณ์นี้ด้วย

มีรายงานว่าหลังจากที่ CZ ได้ทำการ tweet ว่าจะเทเหรียญได้ไม่นาน Caroline, CEO ของ Alameda Research ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกันกับ FTX ก็ tweet ทันที ว่าถ้าอยากขายก็พร้อมจะรับซื้อคืนที่ 22 ดอลลาร์ ซึ่งภายหลังก็ได้มีการลบ tweet นี้ไปแล้ว

แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหรียญ FTT ทำให้คนขาดความเชื่อมั่น จึงเทขายออกมามาก ส่งผลให้ราคาร่วงลงต่ำ ทำให้มีหลายคนออกมาวิจารณ์กันว่าตอนนี้เหรียญ FTT ไม่มีประโยชน์เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วเหรียญ FTT ก็มีการใช้งานใน Ecosystem ที่หลากหลาย และเมื่อจากการทำ Due Diligence แล้วทาง Binance ตัดสินใจว่าจะไม่เข้าซื้อกิจการ ยิ่งทำให้เหรียญ FTT ถูกด้อยค่ามากยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมาจากเมื่อเดือนกันยายนที่ราคาเหรียญ FTT แตะ 85 ดอลลาร์ ตอนนี้เหลือเพียง 2 ดอลลาร์เท่านั้น แถมตอนนี้โอนเหรียญออกจาก Exchange และถอนเงินออกมาไม่ได้ ทาง Binance ก็ไม่เข้าไป Takeover ทำให้เริ่มมีการคาดการณ์ว่า อนาคตของ FTX คงจบไม่สวย และน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ LUNA ที่เกิดปัญหาเกิดขึ้นก่อนหน้านี้

โดยก่อนหน้านี้ได้ตีแผ่บทความที่เผยแพร่งบดุลของ Alameda ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ FTX โดยงบแสดงฐานะการเงินของ Alameda ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565 พบว่า มีสินทรัพย์ทั้งหมดอยู่ที่ 14,600 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้สินอยู่ 7.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมองผิวเผิน อาจดูไม่มีอะไร แต่เมื่อเจาะดูไส้ในกลับพบว่า สินทรัพย์กว่า 1 ใน 3 อยู่ในรูปของเหรียญ FTT หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 5.8 พันล้านดอลลาร์

ประเด็นดังกล่าวนี้ ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มออกมาตั้งข้อสังเกตว่ามีความกังวลบางประการเกี่ยวกับงบดุล ของ Alameda เนื่องจาก"กำไรสุทธิ ในธุรกิจ Alameda คือ โทเคน FTT ที่บริษัท FTX เป็นผู้ควบคุม และเป็นการสร้างเหรียญนี้ขึ้นมาเอง และนี่อาจเป็นช่องโหว่สำคัญของอุตสาหกรรม หรือกล่าวคือ Exchange ของตลาดไม่ควรสร้างเหรียญ หรือจัดตั้งเหรียญของตัวเองขึ้นมาเพื่อครอบครอง

โดยเหตุการณ์ของ FTX และเหรียญของตัวเองอย่าง FTT ในช่วงเวลานี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า มีหลายอย่างที่สะท้อนถึงวิกฤติของ Celsiusและ Three Arrows ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายเดือนก่อน และถือเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของ FTX ในเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ ด้วยการนำเหรียญ FTT เข้ามาเกี่ยวพันกับงบดุลของบริษัท ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ของตัวเองที่สามารถสร้าง (MintToken) ขึ้นได้อยู่เสมอจนอาจไม่สามารถตรวจสอบได้

ไม่เพียงเท่านี้ ยังพบว่าที่ผ่านมา FTX ยังให้เหรีญ FTT ที่จัดตั้งไปทำการกู้เงินเป็น Stable Coin ที่ตรึงมูลค่ากับดอลลาร์สหรัฐ นั่นยิ่งทำให้เมื่อ FTT มีมูลค่าสูงยิ่งกู้ได้มาก
 
หวั่นเหรียญไทยล่มเหมือนต่างชาติ

ขณะที่ตลาดเหรียญคิปโตในประเทศไทย แม้จะได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวไม่มาก แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศนั่นคือ เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นและนำออกมาซื้อขายของบรรดา Exchange ที่ให้บริการอยู่ในตลาด อาทิ เหรียญ BTZ ในรูปแบบของยูทิลิตี้โทเคนของ Exchange อย่าง Bitazza รวมไปถึงเหรียญ ZMT คือ โทเคน ERC-20 ที่ดูแลบน BitGo ที่สร้างและควบคุมโดย Zipmex และเหรียญ KUB ที่สร้างโดยExchange รายใหญ่ของตลาดอย่าง Bitkub

เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ FTX ตอนนี้คือสถานการณ์ของเหรียญ FTT ที่ FTX เป็นผู้สร้างขึ้นมา แม้จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุน แต่การเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงบดุลของบริษัทในเครือ FTX ด้วยสัดส่วนที่มาก ดังนั้นเมื่อราคาเหรียญร่วงหนักก็อาจสร้างผลกระทบให้กับบริษัท และสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน สิ่งที่เห็นชัดเจนหนีไม่พ้น กรณีเหรียญ KUB ของ Bitkub ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่กำลังมีคำสั่งให้แก้ไขคุณสมบัติของเหรียญที่บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด หรือ บิทคับ ให้คะแนนสูงเกินมาตรฐาน จนส่งผลให้เหรียญ KUB ขาดคุณสมบัติเข้ามาเทรดในกระดานฯ แม้ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการก.ล.ต.ครั้งที่ 15/2565 เมื่อวันที่ 10 พ.ย.จะขยายเวลาการแก้ไขเหรียญของ Bitkub ออกไปอีก 30 วันจากกำหนดเดิม (5พ.ย.)ก็ตาม

โดยสิ่งที่ก.ล.ต.กังวลคือ การดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน จึงประสานกับผู้ออกเหรียญ KUB ให้แก้ไขมาตรฐานเทคโนโลยีของโปรเจกต์เหรียญ KUB และแก้ไขในส่วนของ adminTransfer เพื่อจำกัดผลกระทบในเชิงระบบจากความเสี่ยงต่อสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ถือเหรียญ KUB จากการเข้าถึงระบบดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยคำนึงถึงการแก้ไขในเชิงเทคนิค (by design) และการลดโอกาสการแทรกแซงของบุคลากร รวมทั้งให้ Bitkub แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการแก้ไขดังกล่าวอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ในระหว่างการแก้ไขตามการสั่งการดังกล่าว ก.ล.ต.สั่งการให้ Bitkub ประสานผู้ออกเหรียญ KUB ให้ดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงนโยบายการควบคุมการใช้ adminTransfer ให้มีความรัดกุมมากขึ้นตามที่ Bitkub เสนอมา โดยต้องคำนึงถึงการควบคุมความเสี่ยงจากการเข้าถึงกุญแจและการอนุมัติคำสั่ง adminTransfer บน smart contract ด้วย

และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า Exchange ที่มีการจัดสร้างเหรียญของตัวเองขึ้นมา หากไม่ดูแลหรือควบคุมอย่างรอบคอบ ก็อาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ ก.ล.ต.ไม่ควรละเลย หรือยืดเยื้อให้มากไปกว่านี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในวงกว้าง เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ FTX และ FTT


กำลังโหลดความคิดเห็น