xs
xsm
sm
md
lg

CIS ชี้ "บิทคอยน์ หุ้น ทองคำ" ตลาดคึกกลับตัวรับดอลลาร์อ่อน แนะจับตาเศรษฐกิจถดถอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS)
สถาบันการลงทุนทางเลือก มองการที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ขาลง คือจุดเปลี่ยนของราคาสินทรัพย์การลงทุนที่มีโอกาสฟื้นตัวได้ ระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสแรลลี่ได้จนถึงปลายปี เช่นเดียวกับสินทรัพย์ประเภทอื่นอย่าง ทองคำ และบิทคอยน์ ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อน ตลาดสินทรัพย์ทั่วโลกกลับมาคึกคัก แต่อย่างไรก็ตาม ระยะยาวยังต้องจับตามองเรื่องเศรษฐกิจถดถอย

นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า การประกาศอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนตุลาคมออกมาที่ 7.7% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะออกมาที่ 8% เป็นจุดเปลี่ยนของตลาดการเงินทั่วโลก หลังจากตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาราคาสินทรัพย์ อย่างเช่นตลาดหุ้น ทองคำ บิทคอยน์ ถูกเทขายลงมาอย่างหนักจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีก็ถูกแรงเทขายจากความไม่เชื่อมั่นของกระดานเทรด FTX ที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องจนราคาสินทรัพย์ดิจิทัลทุกตัวราคาปรับลงอย่างหนัก ก่อนการประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งเรียกว่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนรุนแรง

“หากติดตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ Dollar Index จะเห็นสัญญาณของการปรับตัวลงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลง พอมีการประกาศตัวเลขเดือนตุลาคมออกมาทำให้ตลาดเกิดความเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางเป็นขาลงและธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยแรงหลังจากที่ปรับขึ้นมาในอัตรา 0.75% ถึงสี่ครั้งติดต่อกัน ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์” นายณพวีร์ กล่าว

โดยหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งสามตลาดต่างปรับตัวขึ้นแรงทั้งหมด โดยเฉพาะตลาด NASDAQ บวกขึ้นถึง 7.35% บ่งบอกว่าตลาดมีความเชื่อมั่นว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม ของปีนี้ อาจจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลง โดยอาจจะปรับลดเหลือ 0.5%

ขณะที่ดัชนี Dollar Index อ่อนค่าลงจนกลายเป็นทิศทางขาลงในระยะสั้นแล้ว จึงน่าจะเป็นผลบวกต่อสินทรัพย์อื่น ๆ ประกอบกับการเปิดประเทศของหลายประเทศหลังโควิดและในช่วงสิ้นปีที่ผู้คนทั่วโลกออกเดินทาง และมีการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลมากเป็นพิเศษ จึงคาดการณ์ได้ว่าจากนี้จนถึงสิ้นปี ตลาดการลงทุนจะกลับมาคึกคักสร้างผลตอบแทนเป็นบวกจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่สินทรัพย์ อย่าง ทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์ ปัจจุบันราคาทองคำฟื้นตัวขึ้น หลังจากผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1,723 ดอลลาร์มาได้ และกำลังขึ้นไปทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ ระดับ 1,800 ดอลลาร์ หากผ่านตรงนี้ไปได้ มีความชัดเจนว่าแนวโน้มราคาทองคำจะดีดกลับเป็นขาขึ้น

ส่วนตลาดคริปโตเคอเรนซี่ ภาพรวมยังเจอแรงกดดันจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของ FTX ซึ่งเป็น Exchange อันดับ 2 ของโลก และส่อเค้าจะล้มละลาย ทำให้ตลาดมีความผันผวนสูง โดยล่าสุดราคาบิทคอยน์ร่วงหลุดจุดต่ำสุดเดิมของปีนี้ที่ 17,500 ดอลลาร์ แต่ในระยะสั้น บิทคอยน์ มีโอกาสปรับตัวดีดขึ้น เพราะได้รับประโยชน์จากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นจังหวะทยอยขายทำกำไรในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี หากใช้สถิติเดิมจากรอบขาลงครั้งก่อน ราคาบิทคอยน์ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดกว่า 80% ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าราคาอาจปรับตัวลงมาได้ถึงระดับ 13,500 ดอลลาร์ แต่มองว่าราคาใกล้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว นักลงทุนที่มองการลงทุนระยะยาวสามารถทะยอยสะสมได้

“ในระยะยาวปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งยังเป็นปัจจัยสำคัญกดดันตลาดหุ้นในระยะยาว โดยสัญญาณของ Recession จะชัดเจนขึ้นหลังจากบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกประกาศผลประกอบการในไตรมาสสาม ดังนั้น นักลงทุนยังต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนเช่นเดิม” นายณพวีร์ กล่าว

ส่วนตลาดหุ้นที่น่าสนใจ คือตลาดหุ้นจีน รวมถึงฮ่องกง เพราะหากพิจารณาในแง่ของ Valuation ค่าเฉลี่ย P/E ของตลาดหุ้นจีนลดลงต่ำกว่าระดับ 10 เท่า ซึ่งเป็นระดับ Valuation ที่ต่ำ เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนอยู่ในระดับค่า P/E ที่สูงมาตลอดแม้จะได้รับแรงกดดันจากนโยบาย Zero Covid รวมถึงการกีดกันทางด้านเทคโนโลยีจากนโยบายรัฐบาลจีน ดังนั้นมูลค่าของตลาดหุ้นจีนในปัจจุบันที่ลงมาจนอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงเป็นโอกาสเข้าลงทุนได้ในระยะยาว

ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม จากต้นปีถึงตอนนี้ปรับตัวลงมาแล้วถึง 40% เหตุผลที่ปรับตัวลงมาจากปัจจัยลบภายในประเทศเวียดนามเอง ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังไม่ใช่จังหวะที่จะเข้าไปทะยอยสะสม แต่หากพิจารณาในแง่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ตลาดหุ้นเวียดนามน่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาวเช่นกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น