ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (9 พ.ย.) ว่าสายสัมพันธ์ระหว่าง “อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีเจ้าของทวิตเตอร์รายใหม่กับต่างชาตินั้น เป็นเรื่องที่ "สมควรถูกตรวจสอบ"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯ ถูกสื่อตั้งคำถามในงานแถลงข่าววานนี้ (9) ว่า เขาคิดว่า มัสก์ เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติหรือไม่? และเรื่องที่ มัสก์ ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบียในการเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ เป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ควรเข้าไปตรวจสอบหรือไม่อย่างไร?
“ผมคิดว่าความร่วมมือหรือความสัมพันธ์ในทางเทคนิคระหว่าง อีลอน มัสก์ กับต่างประเทศ เป็นเรื่องที่สมควรถูกตรวจสอบ” ไบเดน กล่าว “เพื่อดูว่าเขาทำอะไรที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกนะว่าเขาทำ เพียงแต่บอกว่าน่าจะตรวจสอบเฉยๆ”
ขณะที่เมื่อเดือนที่แล้วทำเนียบขาวออกมายืนยันว่า กระแสข่าวที่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเตรียมตรวจสอบการทำธุรกิจของ มัสก์ ในแง่มุมที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ “ไม่เป็นความจริง”
ทั้งนี้ การที่ มัสก์ เข้าเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ทำให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลว่า เขาอาจถูกบีบโดย “บางประเทศ” ให้ต้องควบคุมการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์ม
นอกจากเป็นเจ้าของทวิตเตอร์แล้ว มัสก์ ยังเป็นซีอีโอของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา (Tesla) ซึ่งมี “จีน” เป็นฐานการผลิตและตลาดที่สำคัญ โดยโรงงานประกอบรถยนต์เทสลาที่นครเซี่ยงไฮ้มีกำลังผลิตคิดเป็น “ครึ่งหนึ่ง” ของการส่งมอบรถยนต์เทสลาทั้งหมดในปีที่แล้ว
มหาเศรษฐีคนดังผู้นี้เคยเสนอแนะวิธีลดความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน โดยบอกให้ไต้หวันยอม “สละอำนาจปกครองบางส่วน” ให้กับจีน นอกจากนี้ยังยอมรับว่าสเปซเอ็กซ์เคยได้รับการร้องขอจากรัฐบาลจีนไม่ให้นำอินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงค์ (Starlink) เข้าไปให้บริการที่นั่น
มัสก์ ยังเสนอให้ยูเครนยก “แหลมไครเมีย” ให้แก่รัสเซียไปอย่างถาวร พร้อมเตือนว่าสเปซเอ็กซ์คงไม่สามารถเปิดบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมสตาร์ลิงค์ให้ยูเครนใช้งานฟรีๆ ได้ตลอดไป
ขณะที่เอียน เบรมเมอร์ (Ian Bremmer) ประธานบริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงทางการเมือง Eurasia Group ทวีตข้อความว่า มัสก์ เคยบอกกับตนว่าได้พูดคุย “โดยตรง” กับ ปูติน และทำเนียมเครมลินเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน ทว่าตัว มัสก์ เองออกมาปฏิเสธเรื่องนี้