จากหุ้นยอดนิยมหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 วันนี้หุ้นบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT กลายเป็นหุ้นที่ทำให้นักลงทุนจำนวนกว่า 67,000 รายต้องบาดเจ็บสาหัส เพราะราคาเป็นขาลงม้วนเดียว และสร้างจุดต่ำสุดใหม่เป็นรายวัน
หุ้น STGT ปิดซื้อขายเมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ราคา 15.10 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่การซื้อขายในช่วงเช้าวันพุธที่ 9 พฤศจิกายนกลับดิ่งลงหนัก จนเกือบจะหลุด 10 บาท
STGT บริษัทผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ บริษัทลูกของบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA นำหุ้นเสนอขายในราคา 34 บาท จากพาร์ 10 บาท แต่วันที่ 5 มกราคม 2564 ได้ปรับพาร์ใหม่เป็น 5 บาท โดยช่วงแรกที่เข้าจดทะเบียน หุ้นมีการซื้อขายอย่างคึกคัก ราคาหุ้นพุ่งทะยานอย่างร้อนแรง
เพราะธุรกิจถุงมือยางกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ปริมาณความต้องการสูงทั่วโลกจนผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ และราคาถุงมือยางปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นักลงทุนแห่เข้าเก็งกำไรหุ้น STGT จนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อปิดสมุดทะเบียนวันที่ 3 มีนาคม 2565 มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนทั้งสิ้น 67,630 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 34.59% ของทุนจดทะเบียน โดย STA ถือหุ้นใหญในสัดส่วน 50.61%
ผู้ถือหุ้นรายย่อยแทบทุกคนติดหุ้น STGT ต้นทุนสูง และติดมายาวนาน เพราะราคาหุ้นปรับฐานลงมาตลอด นับจากประมาณกลางปี 2564 หลังจากจีนเร่งผลิตถุงมือยาง ส่งออกมาตีตลาดโลก จนปริมาณถุงมือยางเกินความต้องการ และเกิดการแข่งขันตัดราคาตามมา ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ STGT
ปี 2563 STGT มีผลกำไรสุทธิ 14,400.87 ล้านบาท ปี 2564 กำไรสุทธิ 23,704.16 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 1,668.63 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 17,331.67 ล้านบาท
ค่าพี/อี เรโช STGT มีเพียง 4 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนสูงถึง 40% ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานปัจจุบันถือว่าหุ้นมีราคาต่ำมาก แต่นักลงทุนกำลังมองที่อนาคตของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ เช่นเดียวกับช่วงที่เข้าตลาดใหม่ๆ และราคาพุ่งขึ้นร้อนแรง เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่า แนวโน้มการเติบโตสดใสในอนาคต จึงกล้าไล่ราคา
แต่ปัจจุบันแนวโน้มธุรกิจการผลิตถุงมือยางตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด ราคาถุงมือยางทรุดฮวบลง ยิ่งค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้น จะทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันในตลาดส่งออก ซึ่งจีนเป็นคู่แข่งสำคัญในการตัดราคาขาย
และถ้าผลประกอบการชะลอตัวลง อัตราเงินปันผลจะลดลงตามด้วย เช่นเดียวกับ 2 ไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งอัตราการจ่ายเงินปันผลลดฮวบลง และมีแนวโน้มจะลดลงอีกตามผลประกอบการ
นักลงทุนที่ติดหุ้น STGT ค่อนแสนราย คงไม่คิดว่าราคาหุ้นจะทรุดหนัก จนมีแนวโน้มหลุด 10 บาท และถือหุ้นอดทนรอการฟื้นตัวของราคาหุ้นเรื่อยมาก จากขาดทุนน้อยๆ และอยู่ในวิสัยที่จะทำใจยอมรับผลขาดทุนได้ กลายเป๋นขาดทุนมาก จนทำใจไม่ไหวที่จะตัดขาดทุน
แต่ถ้าจะถือหุ้นต่อไปก็ประเมินไม่ได้ว่า เมื่อไหร่ STGT จะลงไปที่ก้นเหว เมื่อไหร่จุดเลวร้ายต่ำสุดจะผ่านพ้น และเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาใหม่
เพราะระยะสั้นมีแต่ผลกระทบรอบด้าน และยังถูกซ้ำเติมจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ทำให้เกิดการเทขายหุ้นในกลุ่มส่งออกยกแผง
รวมทั้ง STGT ที่กำลังสร้างจุดต่ำสุดใหม่รายวัน