นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 4-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 จะมีการจัดงาน "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ครั้งที่ 1 ณ Hall 5 อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. โดยงานมหกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจขาดรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำลง ถึงแม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดได้คลี่คลายลงแล้วและสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ดีขึ้น แต่ปัญหาภาระหนี้ของประชาชนยังคงอยู่ ดังนั้น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานพันธมิตรอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 18 หน่วยงาน จึงได้ร่วมมือกันจัด "มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ขึ้น โดยในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่
(1) การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเงื่อนไขการชำระนี้ เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชนและผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง เช่น การปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระ โดยลดภาระค่างวดและแบ่งตัดเงินต้นสูงสุดร้อยละ 20 หรือ หากเป็นลูกหนี้สถานะ NPL และสามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้จะได้รับการลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มาตรการแก้หนี้สินเชื่อบ้าน สำหรับลูกหนี้สถานะ NPL จะได้รับการลดเงินงวดผ่อนชำระ พร้อมกับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลานาน 2 ปี โดยเดือนที่ 1 - 10 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 0 ต่อปี เดือนที่ 11 - 21 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.99 - 2.00 ต่อปี และเดือนที่ 22-24 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ MRR-2.00 ต่อปี โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ มาตรการชำระดีมีคืนไม่เกิน 2,000 บาท สำหรับลูกหนี้ปกติ และลดดอกเบี้ยร้อยละ 50 สำหรับลูกหนี้ NPLs และส่วนลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มาตรการเอ็กซิมสนับสนุนมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ยืดหนี้สูงสุด 12 เดือน ผ่อนดีมีคืนดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
(2) การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนได้ในระยะยาว และสามารถขอรับสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือเป็นแหล่งทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม เช่น สินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน สำหรับผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่แผงลอย ให้กู้ไม่เกินรายละ 20,000 บาท ดอกเบี้ยต่ำแบบคงที่ร้อยละ 0.35 ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ปลอดชำระเงินต้น 6 เดือน ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี โดยธนาคารออมสิน สินเชื่อเพื่อ SMEs ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 5.5 ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 12 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 24 เดือน โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
สินเชื่อ Krungthai SME Smart Shop วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น MRR ต่อปี โดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง เพื่อช่วยเหลือ Start Up ให้ส่งออก วงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท ใช้บุคคลค้ำประกัน และสินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดา วงเงินสูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย ใช้หนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สินเชื่อที่อยู่อาศัยอัตรากำไรพิเศษร้อยละ 1.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือนแรก โดยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงินระยะที่ 7 วงเงินค้ำประกันสินเชื่อ สูงสุดไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด 10 ปี ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกัน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
(3) การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง และการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อสร้างความตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินและส่งเสริมการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงการเป็นหนี้และ มีการวางแผนทางการเงิน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน เช่น การส่งเสริมการออมผ่านเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษเพื่อการเกษียณ 10 ปี ดอกเบี้ยแบบ Step up สูงสุดร้อยละ 9 ต่อปี ในปีที่ 10 คิดเป็นดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 3.45 ต่อปีโดยธนาคารออมสิน
การให้คำปรึกษาทางออกให้ธุรกิจโดยโค้ชมืออาชีพ โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย การให้บริการคำปรึกษาทางการเงินผ่าน บสย. F.A. Center การให้คำปรึกษาผ่านโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนโดยธนาคารแห่งประเทศไทย การให้ข้อเสนอแนะในการประกอบธุรกิจโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การให้ความรู้ทางการเงินโดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนการออมแห่งชาติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจตลอดงาน เช่น การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การขายสินทรัพย์ NPA ของสถาบันการเงิน บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด และบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด รวมทั้งกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโดยผู้ทรงคุณวุฒิตลอดงาน
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถลงทะเบียนได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT/Page/ Consent.aspx หรือ หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม ทั้งนี้ นอกจากงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ครั้งนี้แล้ว ยังมีกำหนดจัดมหกรรมในลักษณะเดียวกันอีก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านช่องทางเดียวกัน ได้แก่
ครั้งที่ 2 จังหวัดขอนแก่น วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น
ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่
ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี วันที่ 20 - 22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน
ครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา วันที่ 27 - 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า "ขอเชิญชวนลูกหนี้ที่ประสบปัญหาทุกท่าน ให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานเพื่อเข้ารับการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้จากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งพร้อมจะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งมหกรรมในครั้งนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ให้สามารถแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับศักยภาพในการชำระหนี้ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมความรู้และการสร้างวินัยทางด้านการเงิน เพื่อที่จะหลุดพ้นจากกับดักหนี้สินได้อย่างยั่งยืน"