xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.โชว์ครึ่งปียอดปล่อยกู้กว่า 3 แสนล้าน เดินหน้าช่วยแก้ปัญหา-ลดหนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ธ.ก.ส. ก้าวสู่ปีที่ 57 มุ่งเสริมความแข็งแกร่งของภาคเกษตรกรรม ให้เป็นแรงหนุนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โชว์ผลงานเติมทุนสู่ภาคชนบทในรอบครึ่งปีบัญชี 65 ไปแล้วกว่า 3.68 แสนล้านบาท พร้อมขับเคลื่อนงานนโยบายรัฐ โดยกระทรวงการคลัง และมาตรการดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และ Covid-19 ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วางเป้า 2 ไตรมาสสุดท้ายเดินหน้าแนวทางการผลิตสู่พืชเกษตรมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อยอดชุมชนสร้างฐานการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก BCG เพื่อลดภาระหนี้ครัวเรือนและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งปีบัญชี 2565 (1 เมษายน 2565 ถึง 30 กันยายน 2565) ว่า ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทในช่วงดังกล่าวไปแล้ว จำนวน 368,745 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,601,350 ล้านบาท เงินรับฝาก จำนวน 1,770,078 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม จำนวน 2,121,282 ล้านบาท หนี้สินรวม จำนวน 1,974,906 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของ จำนวน 146,376 ล้านบาท มีรายได้รวม 42,654 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 41,266 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 1,388 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เท่ากับร้อยละ 0.13 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (ROE) เท่ากับร้อยละ 1.88 อัตราส่วนสภาพคล่องต่อเงินฝาก เท่ากับร้อยละ 12.98 อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 12.5 และอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.55 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านถือเป็นช่วงแห่งความยากลำบากของเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตร จากภาระต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มสูง ทั้งค่าปุ๋ย พลังงาน แรงงาน และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าเกษตร ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการในการเข้าไปดูแลแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงขาขึ้นออกไปให้นานที่สุด ทั้งอัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันชั้นดี (MLR) อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) เพื่อมิให้เป็นภาระต้นทุนกับลูกค้าในช่วงการฟื้นตัว การจูงใจให้ลูกค้าชำระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน Plus วงเงิน 3,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2565 รวมถึงการดูแลภาระหนี้สินเดิม เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง การไกล่เกลี่ยหนี้กรณีมีหนี้นอกระบบและมาตรการจ่ายดอกตัดต้น กรณีลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่มีหนี้เป็นภาระหนัก ควบคู่การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ โดยคาดว่าจะช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนให้เกษตรกรและ NPLs/Loan ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7 ในช่วงสิ้นปีบัญชี

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 โดย ธ.ก.ส. อำนวยความสะดวกในการเปิดจุดลงทะเบียน ณ พื้นที่ ธ.ก.ส.สาขาทั่วประเทศ รวมถึงการแนะนำการลงทะเบียนทางออนไลน์ กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว ซึ่งระยะเวลาการลงทะเบียน ตั้งแต่ 5 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 มีประชาชนร่วมลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. ทั้งสิ้นจำนวนประมาณ 4.6 ล้านราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมดประมาณ 22 ล้านราย การร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดภาระและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและ Covid-19 พร้อมกระตุ้นการรับรู้ผ่านการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” พร้อมการเติมสินเชื่อที่สอดคล้องกับความต้องการในอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่ผ่อนปรน การจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้ในพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รวมจำนวนเงิน 142,667 ล้านบาท และมีเกษตรกรได้รับประโยชน์กว่า 4.68 ล้านราย

ในส่วนของเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ธ.ก.ส.ได้มอบหมายให้พนักงานในพื้นที่ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น พร้อมนำมาตรการดูแลภาระหนี้สินต่างๆ เข้าไปดูแล ควบคู่ไปกับมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้าผ่าน โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายจำเป็นฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อนำไปใช้สร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ เพื่อลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้าย (1 ตุลาคม 2565-31 มีนาคม 2566) ธ.ก.ส. ยังคงมุ่งเน้นการเข้าไปแก้ไขปัญหาและลดภาระหนี้ครัวเรือนให้เกษตรกรลูกค้า ผ่านมาตรการและโครงการที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง พร้อมนำจุดแข็งของเกษตรกรไทยที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ป้อนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ การปลูกพืชพลังงาน การสนับสนุนพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ด้วยการดึงหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่มีนโยบาย Zero waste มาสนับสนุนชุมชนให้ปลูกต้นไม้และมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงหนุนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น