เลขาธิการ ก.ล.ต. ร่วมนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัล ในงานสัมมนานานาชาติ Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 6 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หวังสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนานโยบาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม ชูจุดยืนยึดหลักการส่งเสริมและการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้าร่วมนำเสนอความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลในงานสัมมนานานาชาติ Future Investment Initiative (FII) ครั้งที่ 6 หัวข้อ “Writing the Rules of Crypto” ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565
ตามที่สถาบัน Future Investment Initiative Institute (FII) มีหนังสือเรียนเชิญ เลขาธิการ ก.ล.ต. เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “Writing the Rules of Crypto” ในงานสัมมนานานาชาติ FII ครั้งที่ 6 เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกับผู้ประกอบการ ได้แก่ Sam Blatteis (Co-Founder & CEO, The MENA Catalysts), Ola Doudin (Co-Founder & CEO, BitOasis) และ Michelle Ritter (Founder & CEO, Steel Perlot Management) โดยมี Edie Lush (Executive Producer & Co-Host, Global GoalsCast) เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นสนทนา ดังนี้
(1) แนวทางการส่งเสริมการพูดคุยหารือระหว่างผู้ลงทุน ผู้พัฒนา ผู้ประกอบธุรกิจ และภาครัฐความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หากภาครัฐไม่ได้มีการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน และมุมมองอนาคตของตลาดและธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี ในอีก 15 ปีข้างหน้า
เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ความเห็นว่า การส่งเสริมแนวทางการหารือระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ลงทุนจะเกิดขึ้นได้ต้องเชื่อว่าความร่วมมือระหว่างกันจะเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน โดย ก.ล.ต. ได้มีการหารือกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง และการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์หรือแนวคิดต่าง ๆ จะดำเนินการจัดให้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่ง ก.ล.ต. พร้อมที่จะรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ด้วย ก.ล.ต. ยึดถือนโยบายการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนานโยบาย และการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม และเนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกิจที่ดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน และมีการทำธุรกรรมข้ามประเทศ (cross-border/borderless) ความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มสมาชิก International Organization of Securities Commissions (IOSCO) และในระดับภูมิภาคจึงมีความสำคัญเช่นกัน
สำหรับบัญชีการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาก จากปี 2562 ซึ่งมีประมาณ 100,000 บัญชี เป็นประมาณ 3 ล้านบัญชี ภายในเวลา 3 ปี ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ใช้เวลากว่า 40 ปี จึงมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ในจำนวนใกล้เคียงกัน ก.ล.ต. จึงได้ส่งเสริมความรู้ผ่านการสร้างหลักสูตรคริปโท 101 มีการออกคำเตือนผู้ซื้อขายซึ่งบางส่วนเป็นเยาวชน ได้รับทราบถึงความเสี่ยง และที่สำคัญได้เน้นย้ำว่าการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ควรต้องเข้าใจในรายละเอียดและความเสี่ยง รวมถึงไม่ควรลงทุนแบบกลัวตกกระแส (Fear of Missing Out : FOMO)
อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. สนับสนุนการระดมทุนโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การออกเสนอขายโทเคนดิจิทัล (digital token) เพื่อระดมทุน ดังนั้น หากภาครัฐไม่ได้ทำการกำกับดูแลอาจทำให้มีการหลอกหลวง หรือการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจกระทบกับความเชื่อมั่นในการซื้อขายและส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน
สำหรับมุมมองในอนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ความเห็นว่า “เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ชัดเจน ด้วยเรื่องนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (dynamic) อย่างไรก็ดี ก.ล.ต. ยึดหลักการส่งเสริมและการพัฒนานวัตกรรมควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสมและใช้หลักการกำกับดูแลแบบ “same activity same risk same rule” และมุ่งให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ซื้อขายอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา รวมทั้งให้ความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ”