ประเทศไทยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุม 2022 Global Research Council Asia-Pacific Regional Meeting หรือ GRC Regional Meeting ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำของหน่วยงานให้ทุนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. จับมือ 2 หน่วยบริหารและจัดการทุนของประเทศของไทย คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับ 2 หน่วยงานให้ทุนของญี่ปุ่น คือ Japan Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) เป็นเจ้าภาพการประชุม ระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้
GRC หรือ Global Research Council เป็นการรวมตัวกันของหน่วยงานให้ทุน หรือ Funding Agencies หรือที่บางครั้งเรียกว่า Research Councils หลักๆ ของโลก มีสมาชิกจากทุกประเทศ ทุกภูมิภาค นับเป็นเวทีกลางสำคัญที่หน่วยงานให้ทุนแต่ละประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถนำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดได้ และช่วยเร่งการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมระหว่างกันมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่มักจะเป็นประเด็นร่วมในระดับโลก
การประชุมใหญ่ประจำปีของ Global Research Council จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีจะมีการประชุมในระดับภูมิภาค หรือ Regional Meeting ซึ่งแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค โดยประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในปี พ.ศ.2565 ไทยได้รับการเสนอให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อรวบรวมประเด็นสำคัญและข้อคิดเห็นของหน่วยงานจัดหาเงินทุนในภูมิภาค ก่อนนำเสนอต่อการประชุมระดับโลกของ GRC ครั้งถัดไปที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2566 สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นพื้นที่ใหญ่มีสมาชิกจำนวนมาก เช่น ในอาเซียน เอเชีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย อินเดีย เป็นต้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้นำหน่วยงานให้ทุนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่สนใจ และ สกสว.ตั้งเป้าผู้นำหน่วยงานจากนานาประเทศเข้าร่วมงาน 50-100 คน นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานให้ทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้
รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. เปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สกสว.ได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการประชุมประจำปี Global Research Council หรือ GRC ครั้งที่ 10 ที่ประเทศปานามา และได้รับการเสนอชื่อและคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม 2022 Global Research Council Asia-Pacific Regional Meeting ซึ่งโดยแนวปฏิบัติจะมีการเลือกอีกหนึ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประเทศร่วมเป็นเจ้าภาพ สกสว. จึงขอเชิญประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีการทำงานร่วมกันมายาวนาน โดยหน่วยงานของญี่ปุ่นที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ คือ Japan Science and Technology Agency (JST) และ Japan Society for the Promotion of Science (JSPS) ในส่วนของประเทศไทย สกสว. ได้เชิญ 2 หน่วยบริหารและจัดการทุนของประเทศเป็นร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
ในปี 2566 ที่จะถึงนี้ ประเด็นสำคัญของ GRC ที่จะนำหารือมี 2 เรื่องหลัก คือ หนึ่ง บทบาทของหน่วยงานให้ทุน ว่า จะช่วยจัดการปัญหาของ Climate Change ซึ่งพบว่ามีความรุนแรงทั่วโลก ตัวอย่างเช่นในปัจจุบัน ประเทศไทยพบปัญหาน้ำท่วมอยู่หลายพื้นที่ และสอง คือ นวัตกรรมของการให้รางวัลแก่นักวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแต่ละประเทศมีวิธีในการให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณให้นักวิจัยที่สร้างผลงานที่มีกระทบสูงแตกต่างกันไป ก็จะมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาวิธี หรือแนวปฏิบัติที่ดีร่วมกัน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ กล่าวเสริม
รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ สกสว. ได้เป็นเจ้าภาพหลักในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อระบบ ววน.ของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานด้าน ววน. ของไทยจะได้เรียนรู้จากประเทศอื่นๆ ในมุมใดที่ไทยมีความโดดเด่นมากกว่า ก็สามารถแบ่งปันประสบการณ์ให้ประเทศสมาชิกอื่นได้ วิธีการแบบนี้ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาที่ประสบร่วมกันในระดับโลกได้ดีขึ้น เช่น ปัญหาคุณภาพของอากาศ ปัญหาเชิงสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เป็นต้น