xs
xsm
sm
md
lg

ซีไอเอ็มบี ไทยแจ้งกำไรสุทธิ 9 เดือน 2565 จำนวน 2,811.5 ล้านบาท เติบโต 64.6%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 มีกำไรสุทธิจำนวน 2,811.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,103.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 64.6 เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2564 สาเหตุหลักเกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.9 และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 45.5 เป็นผลจากการลดลงของการด้อยค่าของสินทรัพย์ ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.4%
รายได้จากการดำเนินงาน สำหรับงวด 9 เดือนปี 2565 มีจำนวน 10,709.4 ล้านบาท ลดลงจำนวน 38.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 485.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 172.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.7 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าขายประกันและหน่วยลงทุน รายได้จากการดำเนินงานอื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 275.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.5 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุนและรายได้อื่นสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของขาดทุนจากเงินลงทุน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือนปี 2565 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2564 ลดลงจำนวน 231.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.9 เนื่องจากการบริหารจัดการเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้น ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 53.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 55.2

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin - NIM) สำหรับงวด 9 เดือนปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจเช่าซื้อและเงินให้สินเชื่อ

ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 224.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 279.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 จากสิ้นปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 239.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 80.2 จากร้อยละ 88.5 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 3.7 สาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในปี 2565 การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงการบริหารคุณภาพสินทรัพย์และกระบวนการในการเก็บหนี้

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 113.6 เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 117.5 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.1 พันล้านบาท เป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 กันยายน 2565 มีจำนวน 56.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 20.5 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.0
กำลังโหลดความคิดเห็น