xs
xsm
sm
md
lg

XPG เผยปีแรกปั้นพอร์ตหนี้แตะ 800-1,000 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล" เผย "บริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี" บริษัทลูก ชนะประมูล NPL เติมพอร์ตกว่า 300 ล้านบาท พร้อมประกาศเดินหน้าประมูลหนี้เพิ่มอีกอย่างน้อย 300-500 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ ปรับเป้าหมายประมูลหนี้ใหม่ 800-1,000 ล้านบาท

นางวรางคณา อัครสถาพร กรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด หรือ XSpring AMC ซึ่งประกอบธุรกิจลงทุนและบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ที่ถือหุ้น 100% โดยบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG ได้ทำการประมูลซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เข้ามาบริหารจำนวนกว่า 300 ล้านบาท หลังจากชนะการประมูลหนี้จากสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศ 2 แห่ง อย่างไรก็ดี ภายในปีนี้บริษัทยังมีแผนในการเข้าประมูลหนี้เพิ่มเติมเพื่อมาบริหารอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะประมูลหนี้จากสถาบันการเงินภายในปีนี้ได้อีกไม่ต่ำกว่า 300-500 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทปรับเป้าหมายพอร์ตหนี้รวมปีนี้เป็น 800-1,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าตั้งเป้าจะทำการประมูลหนี้เข้ามาบริหารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พอร์ตหนี้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 2,000-2,500 ล้านบาท

สำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจของ XSpring AMC จะครอบคลุมทั้งในส่วนของ NPL และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) โดยปีนี้ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทมีหนี้สำหรับการบริหารในพอร์ตอยู่จำนวนประมาณ 200 ล้านบาท รวมที่ประมูลเพิ่มมาได้อีกกว่า 300 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันมีหนี้ในพอร์ตมูลค่ารวมประมาณ 500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าสัญญาณการขายพอร์ตหนี้เสียของสถาบันการเงินในไตรมาส 4 เริ่มมีมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากครึ่งปีแรกที่ปริมาณหนี้เสียที่ถูกนำออกมาขายมีจำนวนไม่มาก เนื่องจากนโยบายผ่อนปรนให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่มองว่าหลังจากนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า จำนวน NPL และ NPA จะเริ่มสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น จึงประเมินว่าครึ่งปีหลังพอร์ตหนี้ของ XSpring AMC จะเป็นไปตามเป้าหมายทั้งปีที่วางไว้ 800-1,000 ล้านบาท

“ธุรกิจของ XSpring AMC จะสนับสนุนให้ XPG มีบริการด้านการเงินครบวงจร เนื่องจาก XSpring AMC มีจุดแข็งในการบริหารสินทรัพย์ ที่ทำงานใกล้ชิดกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารการเงินและการลงทุน อย่างบริษัทแม่ คือ เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล นอกจากนี้ XPG ยังมีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ทราบถึงข้อมูลสภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังมีความได้เปรียบด้านการปรับปรุงทรัพย์สินรอการขายให้กลับมามีสภาพเหมือนใหม่และมีความทันสมัยก่อนนำออกขายสู่ตลาดอีกครั้ง ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้ทรัพย์ได้ค่อนข้างมาก” นางวรางคณา กล่าว

ทั้งนี้ มองว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันจะส่งผลให้ธุรกิจบริหารสินทรัพย์เติบโตได้ดี จากการที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลกได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 จนถึงวิกฤตเงินเฟ้อ จึงทำให้มีหนี้เสียเข้ามาในระบบทั้ง NPL และ NPA เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินจะมีนโยบายผ่อนปรนเพื่อช่วยให้ลูกหนี้ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียมากกว่าปกติ แต่มีลูกหนี้หลายรายที่แบกรับภาระหนี้ไม่ไหว จนทำให้ลูกหนี้เข้ามาอยู่ในระบบ NPL ซึ่งในธุรกิจบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพนั้นมีความคล่องตัว สามารถนำมาคัดแยกและบริหารจัดการต่อได้ดีกว่า ช่วยทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจองค์รวมขับเคลื่อนต่อไปได้


กำลังโหลดความคิดเห็น