นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 38.15 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 38.10 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 38.00-38.30 บาท/ดอลลาร์ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงิน หลังจากที่ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปีหน้าเหลือ 2.7% และปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงสู่ระดับ 1.0% ในปีหน้า แนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มแย่ลงตามเช่นกัน
นอกจากนี้ ตลาดยังคงถูกกดดันจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ได้หนุนให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 4.00% อีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเดินหน้าขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ (Tesla -2.9% Microsoft -1.7%) และส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.1% ส่วนดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด -0.65%
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หากตลาดยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เรามองว่ามีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าทดสอบแนวต้าน 38.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยเฉพาะในกรณีที่เงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ที่จะรายงานในวันพรุ่งนี้ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด (สูงกว่า +6.5%y/y และสูงกว่า +0.5%m/m) ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลงแรง สามารถทรงตัวเหนือแนวรับ 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และรีบาวนด์ขึ้นได้ เรามองว่า เงินบาทอาจจะไม่ได้อ่อนค่าไปมาก
อย่างไรก็ดี หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 38.30 มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าต่อไปทดสอบ 38.50-38.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่เรามองว่าผู้เล่นในตลาดที่มีสถานะ short เงินบาทอยู่นั้นอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหรือลดสถานะ short ลงบ้าง
นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเป็นฝั่งขายสุทธิสินทรัพย์ไทย ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ซึ่งเรามองว่าแรงขายหุ้นไทยอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง แต่แรงขายบอนด์ไทยอาจยังมีต่อได้ จนกว่าที่บอนด์ยิลด์ระยะยาว เช่น บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเริ่มแกว่งตัว sideways หรือ ย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากตลาดเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือตลาดกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรปยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.56% ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้านที่กดดันตลาด เช่น ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักจนอาจกระทบแนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน หลัง IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในปีหน้าเหลือ 0.5% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ร้อนแรงขึ้น รวมถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่รุนแรงขึ้น จนอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด หุ้นสไตล์ Defensive อย่างหุ้นกลุ่ม Healthcare ยังสามารถปรับตัวขึ้น ช่วยพยุงตลาดหุ้นยุโรปได้บ้าง เช่น Sanofi +2.2% Roche +1.0%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 4.00% อีกครั้ง ก่อนที่จะย่อตัวลง บอนด์ยิลด์ในฝั่งยุโรป ตามความหวังการขยายเวลามาตรการซื้อบอนด์ระยะยาวอังกฤษโดยธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งภายหลัง BOE ได้ออกมาปฏิเสธการขยายเวลา (มาตรการดังกล่าวจะจบลงในวันที่ 14 ตุลาคมนี้) ทำให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวทั้งในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ กลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้ง โดยบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 3.95% ซึ่งเรามองว่าในระยะสั้น บอนด์ยิลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways หรืออาจปรับตัวขึ้นต่อได้บ้าง ทว่า ระดับบอนด์ยิลด์ระยะยาว ณ ปัจจุบันสูงขึ้นมาพอสมควรและเริ่มน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เพื่อเตรียมพอร์ตให้พร้อมรับมือกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 113.3 จุด หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในจังหวะที่ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่รีบปรับสถานะถือครอง จนกว่าจะรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ทิศทางของเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อ คือ ปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังคงแกว่งตัวใกล้โซนแนวรับแถว 1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งหากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีการปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต หรือผู้บริหารต่างแสดงความกังวลแนวโน้มผลประกอบการมากขึ้น อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่อแนวโน้มผลกำไร กดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องได้
ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 3.50% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ (ล่าสุดยังสูงกว่า 5.6%) และลดแรงกดดันต่อค่าเงิน KRW รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกต่อเนื่อง