สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ แนะนักลงทุนจับตาลุ้นตลาดหุ้นทั่วโลกก้าวผ่าน 3 ความเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก การผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และสงครามรัสเซียและยูเครนที่อาจรุนแรงขึ้น หากผ่านได้คาดตลาดหุ้นทั่วโลกจะฟื้นตัวส่งท้ายปี ตอบรับช่วงไฮซีซั่น ซึ่งเป็นปีแรกที่ทั่วโลกคลายความกังวลและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและขึ้นปีใหม่
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/2565 จนถึงไตรมาส 1/2566 เศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินจะมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อการลงทุนที่ต้องจับตา ปัจจัยแรก คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หรือ Global Recession เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากที่หายไปเกือบสามปี แต่ถึงอย่างไรเศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อระดับสูงทั่วโลก ซึ่งกดดันต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากการประกาศใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED รวมทั้งตลาดยังได้รับผลกระทบจากกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน
“เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มชัดเจนแล้วว่ากำลังเข้าสู่ Recession ตามมาด้วยยุโรป ทำให้แนวโน้มเงินเฟ้อระดับสูงที่เคยเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนถูกเปลี่ยนมาเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยแทน ซึ่งการที่เกิด Recession จะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นค่อนข้างมากถ้าเปรียบเทียบกับสถิติในอดีต”
ปัจจัยที่สอง การผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 18% ในปีนี้ ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่ใช้เงินดอลลาร์เป็นทุนสำรองอ่อนค่าลงอย่างมาก โดย IMF ได้ระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เงินทุนสำรองของชาติต่าง ๆ ลดลงไปแล้วกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การที่ทุนสำรองของประเทศต่าง ๆ ปรับตัวลดลงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด Default หรือ การผิดนัดชำระหนี้ในพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากต้นทุนในการชำระหนี้คืนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดการเงินอย่างแน่นอน
ปัจจัยที่สาม ความรุนแรงของสงครามรัสเซียและยูเครนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากที่สงครามระหว่างสองชาติยืดเยื้อนานเกินครึ่งปี ล่าสุดดูเหมือนว่าความรุนแรงจะทวีเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกระดมพลสำรองเพิ่มของรัสเซีย ตลอดจนการเตรียมรับมือผลกระทบจากนิวเคลียร์ของยูเครน ถ้าหากเกิดความรุนแรงขึ้นจริงจะทำให้ตลาดเกิดแรงขายจากภาวะตื่นตระหนกได้
“ทั้งสามปัจจัยนี้ หากเกิดขึ้นจะทำให้ตลาดหุ้นและราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ ปรับตัวลดลงต่อและจะลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้ง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทองคำ บิทคอยน์ ต่างปรับตัวลงมาใกล้เคียงจุดต่ำสุดเดิมของปีนี้ ช่วงเวลานี้จึงยังไม่ใช่จังหวะที่จะเข้าไปลงทุน เพราะยังมีความเสี่ยงที่จะเกิด Downside Risk ได้อยู่”
อย่างไรก็ตามถ้าหากยังไม่เกิดปัจจัยเสี่ยงทั้งสามนี้ อาจจะได้เห็นตลาดหุ้นฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ที่อาจจะเกิดความคึกคักทางเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากทั่วโลกคลายความกังวลจากกรณีการแพร่ระบาดของโควิด และกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และขึ้นปีใหม่ ยกเว้นประเทศจีนที่ยังใช้นโยบายเข้มงวด แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณของการที่นักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มออกเดินทางไปต่างประเทศแล้วเช่นกัน
นายณพวีร์ กล่าวว่า สำหรับสินทรัพย์ที่น่าลงทุน ได้แก่ “ทองคำ” ซึ่งแนวโน้มราคาจะปรับตัวสูงขึ้น หากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนมีความรุนแรงขึ้น โดยคาดการณ์แนวต้านมีโอกาสขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ “ตลาดหุ้นเวียดนาม” มีโอกาสปรับตัวขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดแล้วเกือบ 40% ขณะที่ตลาดมีปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2565 ที่เติบโตกว่า 13% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่ระยะสั้นมีปัจจัยลบเรื่องน้ำมันหมดสต๊อก และข่าวลือประเด็นความไม่มั่นคงในสถานะการเงินของภาคธนาคาร ถ้าหากปัจจัยลบดังกล่าวไม่เกิดขึ้นจริง ถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นเวียดนาม
“กรณีที่เกิดปัจจัยเสี่ยงทั้งสามขึ้น ไตรมาส 4 ของปีนี้ อาจยังไม่ใช่จังหวะที่จะเข้าไปลงทุน แต่น่าจะเริ่มทยอยสะสมได้ ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีหน้า โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่น่าจะเกิด Recession ก่อนประเทศอื่น และจะผ่านพ้นไปก่อนประเทศอื่นด้วยเช่นกัน”
ขณะที่สัปดาห์นี้ มีไฮไลต์สำคัญทางเศรษฐกิจ คือวันพุธนี้ (12 ต.ค. 65) จะมีการเปิดเผยผลการประชุมของ FED ในรอบการประชุมครั้งที่ผ่านมา รวมถึงวันพฤหัสบดีนี้ (13 ต.ค. 65) จะมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ รอบเดือนกันยายน โดยตลาดคาดหวังว่าจะออกมาอยู่ที่ 8.1% ถ้าหากเงินเฟ้อประกาศออกมาสูงกว่าระดับนี้จะเป็นผลลบต่อตลาด เพราะนักลงทุนจะกังวลว่า FED จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่ถ้าเงินเฟ้อปรับตัวลดลงจะส่งผลดีต่อตลาด