เมื่อฝันหวานล่มสลาย “บิทคอยน์”ไม่พุ่งเหมือนอดีต หลายบริษัทจดทะเบียนเริ่มทยอยประกาศยุติลงทุนเหมืองขุดเหรียญ ภาพรวมชี้ชัดราคาหุ้นทรุดฮวบ! ต่างจากช่วงพีค วงการมองออกถึงความไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุน อีกทั้งความเสี่ยงหลายด้านกดดัน ขณะนักลงทุนต้องการความเป็นธรรม เมื่อกุข่าวปั่นราคาไปแล้ววันนี้ราคาตก ใครรับผิดชอบ!
ความเคลื่อนไหวราคาเหรียญดิจิทัล “บิทคอยน์” ล่าสุด (8 ต.ค. 65) ขยับขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับราคาเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อน มาอยู่ที่ 19,568 เหรียญสหรัฐ หรือราว 7.35 แสนบาท เปลี่ยนแปลง 2.27% ในช่วงเวลา 7 วัน ภาพรวมราคาบิทคอยน์ทรุดตัวลงอย่างหนักในปีนี้ เนื่องจากนักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่าง ๆ
โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ราคาบิทคอยน์ผันผวนอย่างร้อนแรงจากระดับ 14,156 ดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2560 ค่อยๆ ปรับฐานลงมา ต่ำกว่า 4,000 ดอลลาร์ ในปลายปี 2561 และกลับมาสู่รอบขาขึ้นอีกครั้งในปีช่วงปลายปี 2563 ถึงระดับ 66,971 ดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 จากนั้นราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการถูกกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุล เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ คือกระแสการถอนตัวออกจากการลงทุนใน “บิทคอยน์” ของเหล่าบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มทยอยประกาศออกมา จากที่ผ่านมาด้วยราคาเหรียญดังกล่าวมีมูลค่าสูงต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่สนใจของนักลงทุน และบริษัทจดทะเบียนในการลงทุนทำเหมืองขุดบิทคอยน์
SMT รายล่าสุด ถอนตัวแผนเหมืองขุด
ทั้งนี้บริษัทจดทะเบียนรายล่าสุดที่ ตัดสินใจยุติการลงทุนดังกล่าวคือ บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) (SMT) ซึ่ง “วิรัตน์ ผูกไทย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ได้ออกมาชี้แจงว่า การเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์นั้น ปัจจุบันได้เสนอบอร์ดเพื่องดการลงทุนไว้ก่อน นับว่าเป็นความโชคดีของ SMT ที่อยู่ในระหว่างศึกษาการลงทุน และต่อมาทางคณะกรรมการบริษัทฯ มีความเห็นว่าจะให้ระงับการลงทุนเรื่องเหมืองขุดบิทคอยน์โดยจะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดในครั้งนี้
ส่วนผลประกอบการไตรมาส 3/65 ผู้บริหาร SMT ยังเชื่อมั่นต่อการดำเนินการผลิตส่งมอบงานลูกค้าได้ตามแผนแน่นอน ทำให้คาดว่าผลงานในครึ่งปีหลังจะแข็งแกร่งกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจุบันได้ออเดอร์ในมือแล้ว 90% ของเป้าหมายรายได้ โดยจะส่งมอบงานและทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจากับลูกค้าใหม่ คาดว่าจะรับงานเข้ามาเพิ่มได้อีกมาก และเดิมที SMT มีแผนจะตัดสินใจลงทุนธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์เบื้องต้นจะลงทุนไม่เกิน 200 เครื่อง ใช้งบลงทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในสิ้นปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 1% ของรายได้รวม ซึ่งอนาคตอาจมีการพิจารณาขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และอาจจะเป็นผู้ผลิตเครื่องขุดฯ หากมีผลตอบแทนที่ดีตามที่คาดหวังไว้
SCI- SFLEX ถอย หลังประเมินไม่คุ้ม!
ก่อนหน้านั้น “เกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล” ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่ คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนในบริษัท เอสซีไอ เวนเจอร์ จำกัด (SCIV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จำนวน 140 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์นั้น
แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันราคาเหรียญ บิทคอยน์ปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยราคาปัจจุบัน ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาที่คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับบริษัท ทำให้คณะกรรมการจึงพิจารณาชะลอการลงทุนในธุรกิจเหมืองบิทคอยน์ และอนุมัติ ให้ลงทุนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อให้การลงทุนสอดคล้องกับราคาเหรียญ บิทคอยน์ในปัจจุบัน โดยจะเริ่มลงทุนตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2565 และจะลงทุนให้เสร็จภายในไตรมาส 3/65
ที่ผ่านมา SCI ได้ประกาศจะลงทุนในเครื่องขุดบิทคอยน์195 เครื่อง ตู้คอนเทนเนอร์ 1 ตู้ ระบบ ไฟฟ้า อุปกรณ์และระบบ ตามมูลค่าลงทุน 140 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยสั่งซื้อและติดตั้งแล้วเสร็จใน ไตรมาส 3/2565 ก่อนจะชะลอการลงทุนตามข้อมูลเบื้องต้น
นอกจากนี้ยังมี บมจ.สตาร์เฟล็กซ์ (SFLEX) โดยวันที่ 16 ส.ค. รายงานว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติอนุมัติให้เพิ่มทุนใน บริษัท พี เอส พลัส คอนซัลติ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ จากทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มาเป็นทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ (Bitcoin Mining) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัทนั้น
แต่เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ราคาเหรียญบิทคอยน์มีการปรับตัวลงอย่างมาก ซึ่งราคาปัจจุบันปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคาที่คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่บริษัทได้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 จึงได้พิจารณาอนุมัติให้ยกเลิกการเพิ่มทุนและการดำเนินธุรกิจในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ในบริษัทย่อย
เปิดรายชื่อ บจ.ตั้งเหมืองขุด
ทั้งนี้ เมื่อรวบรวมข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯพบว่า ยังมีบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งสนใจเข้ามาดำเนินธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ในช่วงที่ราคาเหรียญปรับตัวขึ้นสูง เนื่องจากเชื่อว่าจะสามารถช่วยเพิ่มช่องทางรายได้ให้แก่บริษัทได้ ประกอบด้วย
1. บมจ.เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี (AJA) ดำเนินธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้า "AJ" มี นายอมร มีมะโน ถือใหญ่สุด 10.26% ประกาศลงทุนซื้อเครื่องขุดเพิ่มอีก 300 เครื่อง พร้อมสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง ด้วยงบไม่เกิน 140 ล้านบาท ตรวจรับเครื่องขุดแล้วเสร็จในไตรมาส 2/65 พร้อมเพิ่มวงเงินลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานล่าสุด งวด 6 เดือน สิ้นสุด 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 178.11 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 44.28 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.01 บาท โดยราคาปิด ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 0.61 บาท ราคา ณ 7 ต.ค. ที่ 0.27 บาท ลดลง 0.34 บาท หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 65 ติดลบ 125 % ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 0.79 บาท ต่ำสุด 0.24 บาท
2. บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ดำเนินธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร มีบริษัท เอเชี่ยน ฟู้ด คอร์ปอร์เรชั่น จำกัดถือใหญ่ 29.07%,บอร์ดอนุมัติลงทุนขุดเหมืองคริปโตฯ ผ่านบริษัท อีโคลด์ จำกัด (EKOLD) ในจำนวนเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท กับบริษัท มูนช็อต เวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด
ผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 1,178.30 ล้านบาท กำไรสุทธิ 68.41 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.05 บาท ราคา ณ สิ้นปี 64 ปิด 8.00 บาท ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 5.85 บาท ลด 2.15 บาท หรือ 36.75% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 9.25 บาท ต่ำสุด 4.98 บาท
3. บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) ดำเนินธุรกิจหลัก 3 กลุ่มธุรกิจคือกลุ่มผลิตภัณฑ์หนัง ,กลุ่มพลังงาน ทดแทน และกลุ่มออกแบบและจัดจำหน่ายยานพาหนะ ซึ่งประกอบกิจการออกแบบและจัดจำหน่ายเรือ และรถโดยสารขนาด เล็กที่ผลิตด้วยอลูมิเนียม มีบริษัท ไชยดียิ่ง จำกัด ถือหุ้นใหญ่สุด 20.26% โดย CWT ส่งบริษัทย่อย “ชัยวัฒนา กรีน แมนเนจเม้นท์” จับมือ DreamerX สร้างเหมืองขุดบิตคอยน์ "Green Bitcoin Mining" จากพลังงานไฟฟ้าเหลือใช้ของกลุ่ม
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 พบว่ามีรายได้รวม 934.01 ล้านบาท กำไรสุทธิ 163.44 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.26 บาท โดยราคาสิ้นปี 64 ปิด 3.54 บาท ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 2.64 บาท ลด 0.90 บาท หรือคิดเป็น 34.09% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 5.20 บาท ต่ำสุด 2.30 บาท
4. บมจ.โปรเอ็น คอร์ป (PROEN) ธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร และให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านศูนย์ข้อมูล Data Center และบริการอินเทอร์เน็ต ISP และบริการคลาวด์ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสำหรับงานโทรคมนาคมและสาธารณูปโภคพื้นฐาน มีนายกิตติพันธ์ ศรีบัวเอี่ยม ถือใหญ่สุด 28.62% ,จับมือกับบริษัท ไมนิ่งโปร จำกัด (Mining Pro) เพื่อร่วมพัฒนาลงทุนในอุตสาหกรรมสกุลเงินดิจิทัลในประเทศไทย โดยมีการจัดจำหน่ายเครื่องขุดเหรียญ Crypto รับฝากวางเครื่อง (เฉพาะรุ่น)
ส่วนผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 818.75 ล้านบาท กำไรสุทธิ 29.02 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.09 บาท โดยราคาสิ้นปี 64 ปิด 7.15 บาท ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 7.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือคิดเป็น 3.49% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 10.20 บาท ต่ำสุด 4.88 บาท
5. บมจ.ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย (UPA) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และพัฒนาธุรกิจพลังงาน และมี UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED ถือใหญ่สุด 9.44%, ตั้งเป้าธุรกิจขุดคริป พร้อมเดินหน้าทุ่ม “หมื่นล้าน”ลงทุนเพิ่ม 1.2 หมื่นเครื่อง หวังสร้างรายได้หลัก แซงหน้าโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด
ส่วนผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 165.54 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11.68 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.00 บาท โดยราคาสิ้นปี 64 ปิด 0.37 บาท ราคา ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 0.24 บาท ลดลง 0.13 บาท หรือคิดเป็น 54.16*% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 0.74 บาท ต่ำสุด 0.20 บาท
6. บมจ.โคแมนชี่ อินเตอร์เนชั่นแนล (COMAN) ดำเนินธุรกิจหลักเป็นผู้พัฒนาเพื่อจำหน่ายและติดตั้งโปรแกรมสำเร็จรูปที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทฯ มีนายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ถือหุ้นใหญ่สุด 20.15% ตั้งบริษัทย่อยลงทุนธุรกิจเหมืองขุดสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) เพื่อจำหน่ายต่อ
สำหรับ ผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 51.37 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 5.32 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.04 บาท โดยราคาสิ้นปี 64 ปิด 7.05 บาท ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 5.85 บาท ลดลง 1.20 บาท หรือคิดเป็น 20.51% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์สูงสุด 9.80 บาท ต่ำสุด 4.40 บาท
7. บมจ.จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น (JTS ) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจัดหา ออกแบบ ติดตั้งและทดสอบระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร (Total ICT Solution) มี บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ถือใหญ่สุด 32.80% และนายพิชญ์ โพธารามิก ถือลำดับ 2 ถือ 9.59%,การขุดเหมือง bitcoin ของบริษัทฯ มุ่งเป้าหมายไปที่การใช้พลังงานสะอาด 100% และยังได้รับประโยชน์จากการสั่งซื้อเครื่อง server ชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ในราคาต้นทุนที่ถูกลง
โดยผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 1,028.31 ล้านบาท กำไรสุทธิ 130.93 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.19 บาท โดยราคา ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 131.00 บาท ขณะที่ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 60.50 บาท ลดลง 70.50 บาท หรือ 116.52% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 594.00 บาท ต่ำสุด 47.00 บาท
8.บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์จากไม้ปาร์ติเคิลบอร์ดและไม้ยางพารา กระดาษปิดผิว ไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้ง และบริษัทย่อยแห่งหนึ่งลงทุนด้านพลังงานทดแทน มีนายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ ถือใหญ่สุด 15.80% ปัจจุบันบริษัทติดตั้งเครื่องแล้ว 80-90 เครื่อง จากเป้าหมาย 150 เครื่อง
และผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 771.59 ล้านบาท กำไรสุทธิ 22.09 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.02 บาท ราคา ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 1.90 บาท ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 1.78 บาท ลดลง 0.12 บาท หรือ6.74% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 2.46 บาท ต่ำสุด 1.53 บาท
9.บมจ.ซิก้า อินโนเวชั่น (ZIGA) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กโครงสร้างประเภท Pre-zinc ภายใต้ตราสินค้า "ZIGA" และท่อเหล็กร้อยสายไฟประเภท Pre-zinc ภายใต้ตราสินค้า "DAIWA" มีนายศุภกิจ งามจิตรเจริญ ถือหุ้นใหญ่ 19.37% และมีราชาลิ่สซิ่งคนดังอย่างนายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ถือหุ้นลำดับ 4 ถือ 4.80% โดยลงทุนธุรกิจเหมืองบิทคอยน์เป้าหมายขยายกำลังการขุดเป็น 1,400-1,500 เครื่องในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ จากเริ่มต้นที่ 200 เครื่อง และตั้งเป้าหมายระยะยาวเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1 แสนเครื่อง
ผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 700.12 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15.72 ล้านบาทโดยราคา ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 4.30 บาท ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 3.90 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ 10.25% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 24.60 บาท ต่ำสุด 3.72 บาท
10.บมจ. เอ็ม วิชั่น (MVP) ดำเนิน 3 ธุรกิจหลัก 1. ธุรกิจการจัดงาน 2. ธุรกิจงานโฆษณาและเอเจนซี่สื่อออนไลน์และผู้ทรงอิทธิพล 3. ธุรกิจพาณิชย์และอิ่นๆ มีนายสุระ คณิตทวีกุล ถือหุ้นใหญ่ 16.68% ประกาศลงทุนเหมืองขุดบิทคอยน์(Bitcoin Mining) สปป.ลาว จำนวน 500 เครื่อง วงเงินไม่เกิน 160 ล้านบาท
ผลการดำเนินงวด 6 เดือน สิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 65 รายได้รวม 140.83 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.84 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.03 บาท โดยราคาหุ้น ณ สิ้นปี 64 อยู่ที่ 4.28 บาท ราคาล่าสุด (7ต.ค.) ปิด 3.32 บาท ลดลง 0.96 บาท หรือ 28.91% ราคาในรอบ 52 สัปดาห์ สูงสุด 7.30 บาท ต่ำสุด 3.16 บาท
หลายปัจจัยเสี่ยงกดดันเลิกขุด
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวในแวดวงตลาดทุนกลับไม่รู้สึกแปลกใจ ต่อการที่จะมีบริษัทจดทะเบียนยกเลิกการขุดเหมืองบิทคอยน์ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าการลงทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงเนื่องจากราคาบิทคอยน์ที่ขุดได้ หากลดลงก็อาจจะทำให้ไม่ได้รับความคุ้มค่าต่อการลงทุน ขณะเดียวกันเครื่องขุดเหรียญนั้นที่ผ่านมาไม่ได้หาซื้อกันได้ง่ายๆ เนื่องจากซัพพลายจำกัด ทำให้มีราคาสูงหรือหาได้ยาก และคู่แข่งขันในการขุดเหรียญ โดยเหรียญดิจิทัล และ บิทคอยน์จะมีความยากในการขุดเพิ่มขึ้นหากมีการเข้ามาขุดเป็นจำนวนมาก เพราะจะทำให้มีการขุดเหรียญได้น้อยลง
นอกจากนี้ เมื่อรวมกับสถานการณ์ราคาบิทคอยน์ปรับตัวอยู่ในทิศทางขาลงก็ทำให้มีโอกาสที่จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะยังมีต้นทุนจากค่าไฟฟ้า และระบบทำความเย็นมากดดัน
ไม่เพียงเท่านี้ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือเวียนถึงบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง ขอให้ บจ. ที่มีการลงทุนหรือประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องจัดให้มีขั้นตอนและกระบวนการบริหารจัดการและระบบควบคุมภายในที่รัดกุมเพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา หรือความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เป็นต้น และขอให้บริษัทจดทะเบียนต้องจัดให้มีระบบการควบคุมและจัดเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลที่ปลอดภัย และขอให้คณะกรรมการตรวจสอบให้ความเห็นต่อความเพียงพอของระบบควบคุมภายในเกี่ยวกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และเปิดเผยความเห็น ดังกล่าวในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (56-1 One Report) เพื่อให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนได้นำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย
นั่นทำให้ นักวิเคราะห์ เลือกที่จะถอยห่างออกจากบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ เพราะมองว่าธุรกิจเหมืองขุดมีความเสี่ยงสูง อีกทั้งมีปัจจัยที่ต้องติดตามประกอบในหลายเรื่อง ทั้งราคาของบิทคอยน์ที่มีโอกาสจะเกิดความผันผวน และขณะนี้ราคาบิทคอยน์ก็มีการปรับตัวลดลง ดังนั้นภาพของการคาดหวังกำไรจากการขุดบิตคอยน์อาจจะคาดการณ์ได้ยาก ทำให้การประเมินมูลค่า (Valuation) ก็ค่อนข้างคาดการณ์ยากตามไปด้วย เพราะต้องขึ้นอยู่กับราคา บิตคอยน์ ณ ขณะนั้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นทั้งในเรื่องของคุณภาพของเครื่องขุดบิทคอยน์ที่หากขุดออกมาจะได้เหรียญที่ลดลง หลังจากการขุดไปสักระยะ การบันทึกค่าเสื่อมราคาจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งอนาคตอาจจะต้องมีการเปลี่ยนเครื่องขุดบิทคอยน์ด้วย ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้นอยากให้นักลงทุนระมัดระวังการลงทุน
ทวงถามความเป็นธรรม
แต่สิ่งที่นักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสนใจในช่วงนี้ต่อบรรดาหุ้นเหมืองขุดบิตคอยน์นั้นคือความเป็นธรรมจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้ เนื่องจากเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าเมื่อบริษัทมีข่าวหรือประกาศแผนการลงทุนในเหมืองขุดบิทคอยน์ในช่วงที่ผ่านมา ล้วนได้รับความสนใจจากนักลงทุนจนทำให้มีความต้องเข้าซื้อหุ้นของบริษัทเพื่อเก็งกำไร และส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรตาม ปัจจุบันด้วยทิศทางราคาเหรียญบิทคอยน์ที่อยู่ในขาลง ทำให้เริ่มมีหลายบริษัทประกาศยกเลิกแผนดังกล่าว แต่ราคาหุ้นที่ลดลงย่อมสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนที่ถือครองหุ้นของบริษัทเหล่านี้อยู่ นั่นหมายถึงไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินธุรกิจที่ใช้การกุข่าวเข้ามาสร้างราคาหุ้น รวมไปถึงความรับผิดชอบต่อธุรกิจเหมืองขุดของบริษัทจดทะเบียนที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ เมื่อปัจจุบันราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปมากจากช่วงที่เคยพุ่งขึ้นไปทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง และบริษัทเหล่านี้กลับไม่ออกมาชี้แจงถึงมาตรการหรือแผนการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องที่อยากให้หน่วยงานที่กำกับกับดูแล ควรเข้ามาจัดการในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่นักลงทุน