บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดสัมมนาออนไลน์ DBSV Quarterly Review Q4/22 หัวข้อ “ส่องโอกาสลงทุนใหม่ฝ่าด่านดอกเบี้ยสูงเศรษฐกิจชะลอ” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 โดยนายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุล ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงใช้นโยบายเข้มงวดโดยปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 4.5% ปลายปี 2022 ก่อนจะหยุดขึ้นเพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ ส่งผลให้การบริโภคทั่วโลกชะลอตัวลงจากผลของความเข้มงวดของนโยบายการเงินและการคลัง
“ผมมองว่าเศรษฐกิจประเทศใหญ่จะถูกปรับลดจีดีพี โดย DBS Bank คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2023 โตเพียง 0.3% ยุโรปโต 1% ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเร่งตัวขึ้นในปี 2023 เป็นบวก 1.8% หนุนโดยภาคบริการหลังเปิดรับนักท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจจีนโตดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการจัดการโควิด ส่วนกลุ่มอาเซียนยังขยายตัวดีโดดเด่นคือเวียดนาม” นายธนวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ดีบีเอสเชื่อว่าถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นแบบไม่รุนแรง (mild recession) โดยปัจจัยสนับสนุนความคิดเห็นที่สำคัญคือระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้เปราะบางเหมือนอดีต ดูจากหนี้ครัวเรือนลดลงจากในอดีตมาก และตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง อัตราว่างงานต่ำ 3.5%
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวจีดีพีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผลตอบแทนในภาคธุรกิจ (GDP growth & corporate earnings) สมมติฐานว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ช่วง “mild recession” และจะทำให้ผลตอบแทนของ corporate ลดลงไป 6% ก็ได้สะท้อนเข้าไปในสภาวะตลาดปัจจุบันแล้วในขณะที่ forward PE ที่ลดลงได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ดังนั้น จึงเริ่มเป็นจุดที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาว โดยมองหุ้นกลุ่ม Luxury brands มีความน่าสนใจแม้ว่าทิศทางการบริโภคจะชะลอลง แต่กลุ่ม Luxury จะได้แรงหนุนจากความมั่งคั่ง (wealth) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เช่น กลุ่ม millennial และกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น เช่น ในจีน รวมทั้งสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้าได้
ขณะที่ธุรกิจเฮลท์แคร์ชอบกลุ่ม Medical devices ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงจากนวัตกรรมใหม่ๆ และ ageing population กลุ่ม Healthcare มีลักษณะเป็น “defensive growth” คือเป็นทั้ง defensive และยังมี growth ในระยะยาว กลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ (medical devices) มีแนวโน้มขยายตัวสูงจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และการขยายจำนวนเตียงในเอเชีย เช่น จีน
“การลงทุนในหุ้นคงต้องรอจังหวะผลตอบแทนพันธบัตรถึงจุดพีก (เมื่อ Fed ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ย) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่ม growth โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี โดยดีบีเอสแนะเพิ่มน้ำหนักหุ้นในตลาดอาเซียน และญี่ปุ่น แต่ยังคงปรับลดน้ำหนักหุ้นยุโรป” นายธนวัฒน์ กล่าว
ส่วนตลาดตราสารหนี้มองอัตราผลตอบแทน (yield) ทั่วโลกที่ปรับสูงขึ้น ตราสารหนี้ระดับลงทุนในตลาดพัฒนาแล้วมีความน่าสนใจ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงอาจเลือกตราสารหนี้กลุ่ม high yield ในตลาดพัฒนาแล้วเข้าพอร์ตบางส่วนเพื่อดึง yield พอร์ตขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องระวังความเสี่ยงจากความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล การเมืองระหว่างประเทศ เทคโนโลยี สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การลงทุนในอุตสาหกรรมเฉพาะมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดโดยรวม