ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุมีภารกิจในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่หวือหวา ทำหน้าที่เสมือนหางเสือเรือ ห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง 90% ของจีดีพี เร่งออกมาตรการให้ระดับหนี้สินครัวเรือนกลับสู่ระดับที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.มีภารกิจในการกำกับดูแลระบบเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง ไม่มีอะไรที่หวือหวา ทำหน้าที่เสมือนหางเสือเรือ โดยปัจจัยที่ต้องดูแล ได้แก่
1.การส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างราบรื่น (Smooth take off) ซึ่งคาดว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับคืนสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ได้ราวปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยมาตรการที่ใช้จะคำนึงถึงบริบททางเศรษฐกิจเฉพาะตัว ให้มีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดความสมดุลและยั่งยืน
2.การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 จากระดับ 50% เป็น 88% ของจีดีพี ให้ลดลงมาอยู่ในระดับไม่เกิน 80% ของจีดีพี ซึ่งต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักการ แก้ไขให้ตรงจุด ไม่ใช้การเหวี่ยงแห
3.คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม (Green) ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศในยุโรปกำลังหยิบยกมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า
4.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการจัดวางระบบเศรษฐกิจ (Ecosystem) เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก เช่น ระบบพร้อมเพย์ ระบบคิวอาร์โค้ด ที่สามารถต่อยอดเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค 5.การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร (HROD)
ในช่วงภาวะเศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัว ที่จะต้องค่อยประคับประคองให้ทุกภาคส่วน ธปท.จะติดตามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นเป้าหมายหลัก คือ การทำให้อัตราเงินเฟ้อเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% มากกว่าการกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด (Terminal Rate) ว่าควรอยู่ตรงไหน เนื่องจากธนาคารกลางหลายแห่งที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะบางประเทศมีเศรษฐกิจร้อนแรง จึงมีความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ หรืออัตราดอกเบี้ยที่สมดุล (Neutral rate) การขึ้นดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศจึงแตกต่างกัน ดังนั้น สิ่งที่เป็นเป้าของ ธปท.คือ การพยายามดูแลให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
“เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ปกติ การสูบฉีดเต็มที่ขยายตัวได้ 4-5% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) จะต้องเป็นบวกเพื่อสร้างแรงจูงใจในการออม เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจะสร้างแรงจูงใจได้ การถอนคันเร่งเข้าสู่ภาวะปกติต้องสร้างเสถียรภาพการเงิน และยังสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินควบคู่ด้วย”
ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันเป็นห่วงคนที่เป็นหนี้ ในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไม่ใช่แค่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้างกันชนให้มีเพียงพอ ซึ่งต้องมาจากหลายด้าน เช่น ดอกเบี้ย ทุนสำรองเพียงพอ หนี้ต่างประเทศที่ไม่สูงเกินไป เป็นต้น หากได้เตรียมความพร้อมถือว่าเป็นการสร้างกันชนที่สำคัญ
สำหรับตัวเลขหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88.2% ต่อจีดีพี เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่หนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.65 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.2% ต่อจีดีพี โดยหนี้สินส่วนใหญ่ หรือ 12.64 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สินที่ครัวเรือนกู้ยืมจากสถาบันรับฝากเงิน
รายละเอียดหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2565 ยอดเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 6.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.49 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.55% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีจำนวน 6.27 ล้านล้านบาท ส่วนยอดกู้ยืมเงินจากบริษัทบัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.01% เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีจำนวน 1.59 ล้านล้านบาท
แม้ว่าขณะนี้หนี้สินครัวเรือนไทยจะลดลงมาอยู่ที่ 88-89% ต่อจีดีพี จากที่เคยสูงสุดไปถึง 90% ต่อจีดีพีในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่ง ธปท.มองว่าระดับหนี้สินครัวเรือนดังกล่าวสูงเกินไป ต้องเร่งทำให้ระดับหนี้สินครัวเรือนกลับสู่ระดับที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด
“หนี้ครัวเรือนเคยพีกที่ 90% ตอนนี้ลดลงมาที่ 88-89% ซึ่งสูงไป เมื่อเทียบกับระดับที่เราคิดว่าเหมาะสมกับความยั่งยืน และถ้าจะโตไปอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดปัญหามีอยู่แล้ว แต่คงไม่มีตัวเลขวิเศษอะไรที่จะบอกว่าเท่านั้นเท่านี้ ขณะที่เกณฑ์สากลปกติที่องค์กรอย่าง BIS (ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ) เขาดู คือ หนี้ครัวเรือนควรอยู่ระดับไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี ซึ่งถ้าไม่ทำให้กลับสู่ระดับที่ยั่งยืนจะทำให้การฟื้นไปได้ต่อเนื่อง มันสะดุด” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวต่อไปว่า เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพมีการสูบฉีดเต็มที่ขยายตัวได้ 4-5% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Rate) จะต้องเป็นบวก เพื่อสร้างแรงจูงใจในการออม เพราะถ้าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวจะไม่สร้างแรงจูงใจ
ขณะเดียวกัน การถอนคันเร่งเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากจะสร้างเสถียรภาพการเงิน และยังสร้างความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะหาก ธปท.ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลย เพราะห่วงคนที่เป็นหนี้ ซึ่งระยะต่อไปหากเกิดอะไรขึ้น ธปท.จะไม่มีช่องทางในการจัดการอะไรได้ ดังนั้น ด้านขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) ไม่ใช่แค่การขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการสร้างกันชนให้มีเพียงพอ ซึ่งต้องมาจากหลายด้าน เช่น ดอกเบี้ย ทุนสำรองเพียงพอ หนี้ต่างประเทศที่ไม่สูงเกินไป เป็นต้น หากได้เตรียมความพร้อมถือว่าเป็นการสร้างกันชนที่สำคัญ