xs
xsm
sm
md
lg

สนง.สลากฯ เตรียมระบบสุ่มคัดเลือกสลากจองล่วงหน้าฯ และเร่งพัฒนาโอนเงินรางวัลสลากดิจิทัลผ่าน G-Wallet คาดเริ่มได้ต้นปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (29 ก.ย.) เวลา 15.00 น. ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล พร้อมด้วย นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในห้วงที่ผ่านมา

นายลวรณ แสงสนิท ประธานกรรมการฯ กล่าวว่า จากการที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินการจำหน่ายสลากดิจิทัล ตั้งแต่งวดวันที่ 16 มิถุนายน 2565 จนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้ว 7 งวด มีผลตอบรับจากผู้ซื้อพึงพอใจที่สามารถซื้อสลากหมายเลขที่ต้องการได้และขึ้นเงินรางวัลสะดวก ง่ายไม่ยุ่งยาก โดยการจำหน่ายสลากงวด 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ระยะเวลาในการจำหน่ายสลากดิจิทัลเริ่มใกล้เคียงสมดุล คือใช้เวลาประมาณ 10 วัน และเพื่อให้ผู้ซื้อมีระยะเวลาในการซื้อสลากดิจิทัลมากขึ้น จนถึงใกล้วันออกรางวัล ดังนั้น ในงวดที่ 16 ตุลาคม 2565 จึงได้เพิ่มสลากจากเดิม เป็น 13,964,500 ใบ โดยสลากทั้งหมดเป็นของตัวแทนจำหน่าย 27,929 ราย โดยจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2565 เวลา 06.00-23.00 น.ทุกวัน จนกว่าสลากจะหมด และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ถูกรางวัล ทีมงานกำลังพัฒนาระบบการโอนเงินรางวัลผ่าน G-Wallet ในแอปเป๋าตัง

ซึ่งผู้ถูกรางวัลสามารถโอนต่อไปยังบัญชีของธนาคารอะไรก็ได้ และโอนเงินให้ผู้ถูกรางวัลได้ภายใน 2 ชั่วโมง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในเดือนมกราคม 2566 "สำหรับเป้าหมายในปีนี้ คือ ตั้งเป้าจำหน่ายสลากราคา 80 บาท ประมาณ 20 ล้านใบ ทั้งในระบบดิจิทัลและจุดจำหน่ายสลาก 80 ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 1,047 จุดทั่วประเทศ ซึ่งคนขายจะค่อยๆ ปรับตัวและเรียนรู้ ในขณะที่ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงสลากราคา 80 บาทมากขึ้น และการอำนวยความสะดวกในการรับเงินรางวัลผ่าน G-Wallet ที่สะดวก ง่าย ไม่ยุ่งยาก จะทำให้ สลากดิจิทัลจะเป็นหนึ่งในตัวช่วยผลักดันให้สลากในตลาดราคาถูกลง" ประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าว สำหรับการแก้ไขปัญหาสลากไม่เพียงพอต่อการทำรายการของผู้มีสิทธิทำรายการซื้อ-จองล่วงหน้าฯ นั้น พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า สำนักงานสลากฯ ได้เตรียมแนวทางเพื่อลดปัญหาไว้ โดยจะเปลี่ยนวิธีการทำรายการ จากเดิมที่ผู้มีสิทธิฯ ต้องทำรายการด้วยตนเอง โดยไปแย่งกันเข้าคิวทำรายการทั้งที่หน้าตู้ ATM หรือแย่งกันทำรายการผ่านเน็ตแบงค์ หรือแอปเป๋าตัง เปลี่ยนเป็นการที่สำนักงานสลากฯ จะดำเนินการสุ่มคัดเลือก หรือแรนดอมในการรับสิทธิทำรายการให้ ในส่วนของผู้มีสิทธิทำรายการฯ ที่ไม่ได้รับการสุ่มคัดเลือกในการจองสลาก สำนักงานฯ จะให้สิทธิในการซื้อสลากให้ เพื่อให้ผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าฯ มั่นใจว่า อย่างน้อยในแต่ละงวดจะมีสลากไปจำหน่าย

"วิธีการสุ่มคัดเลือก หรือแรนดอมนั้นจะเป็นการทำให้ได้มาซึ่งผู้มีสิทธิสามารถทำรายการได้ในแต่ละงวด โดยเอาจำนวนผู้มีสิทธิในระบบทุกคนมาทำการสุ่มคัดเลือกให้ได้จำนวนคนพอดีกับจำนวนสลากในระบบที่มีอยู่ ที่จะสามารถทำรายการได้คนละ 5 เล่ม หลังจากนั้น เมื่อได้จำนวนผู้มีสิทธิทำรายการได้ในงวดนี้แล้ว เพียงแต่ผู้สิทธิทำรายการนี้ เข้ามายืนยันโดยการทำรายการจะได้รับสลากไปจำหน่าย ส่วนผู้ที่ไม่ได้ถูกสุ่มคัดเลือกให้เป็นผู้มีสิทธิทำรายการได้ในงวดนี้จะเป็นผู้มีสิทธิทำรายการได้ในงวดหน้าโดยอัตโนมัติ และจะทำการสุ่มคัดเลือกให้ได้ผู้มีสิทธิทำรายการในลักษณะเช่นนี้สลับกันไปในทุกงวด ดังนั้น จะเป็นการการันตีว่า จะไม่มีผู้ที่ไม่มีสิทธิทำรายการได้ติดต่อกันเกินกว่า 1 งวด อย่างแน่นอน เพราะในปัจจุบัน จำนวนสลากที่อยู่ในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าฯ นั้นมีจำนวนเพียงพอกับผู้มีสิทธิทำรายการได้อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง" ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าว

พ.ท.หนุน ศันสนาคม กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการดำเนินการกับตัวแทนจำหน่ายและผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าฯ ที่รับสลากจากสำนักงานฯ แล้วไม่จำหน่ายด้วยตนเอง แต่กลับนำไปจำหน่ายต่อนั้น ล่าสุด จากการตรวจสอบ พบว่าเป็นสลากของตัวแทนจำหน่ายรายย่อย 166 ราย และเป็นสลากของสมาคม องค์กร มูลนิธิฯ 87 สมาคมฯ โดยสลากในส่วนของสมาคมฯ ที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา สำนักงานสลากฯ ได้ดำเนินการปรับลดจำนวนสลากรวม 1,086 เล่ม ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกการลงทะเบียนของผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าฯ ที่นำสลากไปขายต่อบนแพลตฟอร์มเอกชน อีก 7,349 ราย และสำนักงานสลากฯ ยังคงความต่อเนื่องในการตรวจสอบการปฏิบัติของตัวแทนจำหน่ายและผู้ซื้อ-จองล่วงหน้าฯ ให้เป็นไปตามสัญญาอย่างเคร่งครัด


กำลังโหลดความคิดเห็น