แม้ว่าหุ้นบริษัท เดลต้า อิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตัวใหญ่สุดจะเริ่มแผ่ว แต่หุ้นชิ้นส่วนฯ ตัวอื่นไม่ได้แผ่วตาม แต่กลับทะยานขึ้น รวมทั้งหุ้นบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE
ตั้งแต่ต้นปี หุ้น KCE เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง จากราคาสูงสุดในรอบ 12 เดือนที่ 95 บาท ปรับฐานลงมาต่ำสุดที่ 48.25 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา จนกลายเป็นหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ ที่มีค่าพี/อี เรโช ต่ำสุดคือประมาณ 23 เท่า
การดิ่งลงของ KCE นอกจากเป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นที่ปรับฐานแล้ว ยังลงตามทิศทางหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง รวมทั้งผลกระทบจากแผนการเพิ่มกำลังผลิตที่ต้องเลื่อนออกไปช่วงต้นปี
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ชะลอตัว โดยมีกำไรสุทธิ 571.9 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 617.8 ล้านบาท และกดราคาหุ้นจนโงหัวไม่ขึ้น
แต่วันจันทร์ที่ผ่านมา KCE กลับสู่ความคึกคัก โดยราคาพุ่งขึ้น 1.75 บาท ปิดที่ 51 บาท มูลค่าซื้อขายหนาตาจำนวน 1,161.53 ล้านบาท
เช่นเดียวกับหุ้นบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ที่ปรับตัวขึ้น 1.50 บาท ปิดที่ 42 บาท
สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้น DELTA โดดเด่น เพราะมีข่าวว่าอาจถูกจับเข้าสู่การคำนวณดัชนี 50 และดัชนี 100 อีกครั้ง กระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไร โดยราคาวิ่งขึ้นอย่างร้อนแรง 3 วันติด และไม่เพียงแต่พยุงดัชนีไม่ให้เกิดความผันผวนรุนแรงแล้ว ยังมีส่วนขับเคลื่อนดัชนีให้ขึ้นมายืนเหนือ 1,650 จุดได้
แต่ราคาหุ้นซึมซับรับข่าวดีหมดแล้ว และค่าพี/อีพุ่งขึ้นระดับ 80 เท่า เมื่อวันจันทร์จึงไปต่อไม่ไหว ราคาอ่อนตัวลง 4 บาท ปิดที่ 664 บาท แต่ไม่ได้กระทบหุ้นชิ้นส่วนฯ ตัวอื่นที่กระเตื้องขึ้นตามทิศทางตลาด
สิ่งที่ทำให้นักลงทุนผิดหวังใน KCE ปีนี้ 2 กรณีสำคัญคือ แผนการขยายกำลังผลิตมีปัญหา และกำไรไตรมาสที่ 2 ไม่โต รวมทั้งถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการล็อกดาวน์เมืองใหญ่ในจีน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด
จีนเป็นตลาดใหญ่ของ KCE การล็อกดาวน์เมืองใหญ่จะทำให้การส่งออกของ KCE ลดลง กระทบต่อรายได้ นักลงทุนจึงเทขายหุ้น KCE อีกระลอก จนราคาสร้างจุดต่ำสุดใหม่ในรอบปี ก่อนจะเริ่มฟื้นขึ้นมา
กลุ่มองค์โฆษิต เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KCE แต่มีนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศหลายรายถือหุ้นด้วย ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยมีจำนวน 33,504 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 59.04% KCE จึงจัดเป็นหุ้นชิ้นส่วนฯยอดนิยมของนักลงทุนตัวหนึ่ง
แต่ช่วงการปรับฐานสู่ขาลงที่ยาวนาน ทำให้บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยที่แบกหุ้นต้นทุนสูงท้อเหมือนกัน แม้ราคาหุ้นจะไม่ไหลลงลึกเท่ากับ DELTA ซึ่งจากจาก 838 บาท ลงมาเหลือต่ำสุดที่ 287 บาท หรือไม่ลงหนักเท่า HANA ที่ลงจาก 96.25 บาท เหลือต่ำสุดที่ 36.75 บาทก็ตาม
KCE กำลังตั้งไข่ แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวสู่ขาขึ้นอีกครั้งหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป