คดีการใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง มักเป็นการแอบย่องเข้ามาช้อนซื้อหุ้นเก็บ ดักรับข่าวดีล่วงหน้า นานๆ จะมีอินไซเดอร์ชิงขายหุ้นก่อนจะมีข่าวร้ายสักที เช่น กรณีหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
วันที่ 7 กันยายบนที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศการใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง ปรับนายนพปฎล เดชอุดม ขณะดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร TRUE เป็นเงิน 2.70 ล้านบาท ในความผิดการใช้ข้อมูลภายใน
ก.ล.ต.ระบุว่า นายนพปฎล ล่วงรู้ข้อมูลภายในเกี่ยวกับ TRUE กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TRUE นำส่งเงินรายได้ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการจำนวน 3,381.95 ล้านบาท
และกรณีคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ TRUE ชำระเงินค่าผิดสัญญาให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รวม 94,474.27 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น
ขณะที่นายนพปฎล ขายหุ้น TRUE จำนวน 2,000,000 หุ้น ในวันที่ 5 กันยายน 2561 เพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุน ก่อนที่ TRUE เปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 5 กันยายน 2561 เวลา 19.25 น.
การกระทำของนายนพปฎล เป็นความผิดฐานขายหุ้น TRUE โดยอาศัยข้อมูลภายใน ซึ่งนอกจากลงโทษปรับแล้ว ยังห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 12 เดือน
โทษปรับนายนพปฎล จำนวน 2.70 ล้านบาทนั้น ไม่มากมายนัก เมื่อเทียบกับคดีอินไซเดอร์ในอีกหลายคดีที่ ก.ล.ต.สั่งปรับหลายสิบล้านบาท เพียงแต่เป็นการอินไซด์หุ้น TRUE และอินไซด์โดยการขายหุ้นก่อนราคาหุ้นจะปรับตัวลง จึงเป็นคดีที่ได้รับความสนใจ
นักลงทุนหน้าใหม่คุ้นชินกับการใช้ข้อมูลภายใน โดยการย่องเข้ามาเก็บหุ้นราคาต่ำ ดักเก็งกำไร ก่อนบริษัจดทะเบียนจะประกาศข่าวดีตามมา แต่อาจไม่ค่อยได้รู้ว่า อินไซเดอร์ข่าวร้ายมีเหมือนกัน โดยชิงเทขายหุ้นทิ้ง ก่อนหุ้นจะลงเมื่อบริษัทจดทะเบียนประกาศข้อมูลที่มีผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้น
อินไซเดอร์ข่าวร้ายไม่ได้เกิดขึ้นเพียงคดีแรก แต่เกิดขึ้นหลายคดีแล้ว โดยเฉพาะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งธนาคารพาณิชย์และบริษัทไฟแนนซ์นับสิบๆ แห่งล่มสลายลง
แต่ก่อนที่ธนาคารและไฟแนนซ์จะล่มสลาย และถูกธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งปิด ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้อาศัยข้อมูลภายใน รู้ว่ากิจการตัวเองจะไปไม่รอดจึงเทขายหุ้นทิ้ง ก่อนราคาหุ้นจะดิ่งลง ซึ่งเป็นการเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป
ก.ล.ต.สั่งปรับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ร่วมเสริมกิจ จำกัด ประมาณ 50 ล้านบาท ในความผิดใช้ข้อมูลภายในขายหุ้นออกก่อนที่ “ร่วมเสริมกิจ” จะถูกสั่งปิด ปรับกลุ่มหวั่งหลี ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารนครธน นับสิบล้านบาท ในความผิดใช้ข้อมูลภายใน โดยรู้ว่า ฐานะธนาคารกำลังย่ำแย่ จึงขายหุ้นธนาคารนครธนทิ้งก่อน
อินไซเดอร์ไม่มีเฉพาะการซื้อหุ้นกักตุนดักข่าวดี แต่การชิงขายหุ้นทิ้งก่อนมีข่าวร้ายเกิดขึ้นได้เหมือนกัน
เพียงแต่อินไซเดอร์ข่าวดีเกิดขึ้นถี่และบ่อยกว่าอินไซเดอร์ข่าวร้าย โดยตั้งแต่วิกฤตตลาดหุ้นปี 2540 ดูเหมือนเพิ่งจะมีคดีอินไซเดอร์ข่าวร้ายหุ้น TRUE นี่แหละ
การประกาศลงโทษอดีตผู้บริหาร TRUE สะท้อนให้เห็นว่า ก.ล.ต. ไม่ได้ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติสำหรับผู้กระทำความผิดในตลาดหุ้น เอารัดเอาเปรียบนักลงทุนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม
เพียงแต่ยังมีพฤติกรรมความผิดในตลาดหุ้นอีกมากมายที่ ก.ล.ต.ตรวจสอบไม่ทั่วถึง กำจัดไม่หมด ไม่ว่าอินไซเดอร์ หรือแก๊งปั่นหุ้นที่ลอยนวลอยู่