ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โพสต์ห่วงเยาวชนไทยอยากรวยเร็ว เผยพบปัญหาระดับท้องถิ่น หมกมุ่นการลงทุนเหรียญคริปโต หวั่นลุกลามเสียหายกระจายเป็นวงกว้าง ก่อหนี้ท่วมหลักแสนบาท แนะภาครัฐออกมาตรการกำกับ platform การซื้อขาย หวังอุดช่องโหว่ ป้องกันผู้เล่นตัวจิ๋วหน้าใหม่ที่อาจเข้ามา เพราะเชื่อว่าในที่สุดจะกำไรมากมาย แต่สุดท้ายเสียหายหนัก
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เปิดเผยผ่านทาง Facebook ส่วนตัวโดยแสดงถึงความกังวลต่อการนำเสนอของผุ้ประกอบการธุรกิจกระดานเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล ในโปรโมชั่นการโฆษณาเพื่อเชิญชวนนักลงทุนเข้าเปิดบัญชีเทรด ซึ่งใช้เงินในการลงทุนน้อย 10 บาทก็สามารถลงทุนได้ อีกทั้ง ในส่วนของ พรบ.สินทรัพย์ดิจิทัล ยังได้เปิดช่องให้เยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะสามารถเปิดบัญชีลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลได้ โดยมีการอนุมัติผ่านความเห็นชอบของผู้ปกครอง โดยทางหน่วยงานพิจารณากฏหมาย อ้างเหตุผลว่าเพื่อส่งเสริมความรู้และปูแนวทางไปสู่การเรียนรู้ของเยาวน เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่วัยเกษียณโดยเริ่มตั้งแต่มัธยม
"เพิ่งคุยกับพรรคพวกที่ลงพื้นที่ เจอว่ามีเด็กมัธยมต่างจังหวัดอีสาน (ทั้งมัธยมปลายและต้น) จำนวนไม่น้อยซื้อ crypto และกำลังขาดทุนอย่างหนัก (หลักหมื่นหรือกระทั่งหลักแสน) โดยเอาเงินที่บ้านมาเล่น บางทีก็เป็นเงินที่ปู่ย่าตายายเก็บไว้เพื่อการศึกษาของหลาน น่าจะเป็นห่วงมาก ภาครัฐควรมีมาตรการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อป้องกันผู้เล่นตัวจิ๋วหน้าใหม่ที่อาจเข้ามาเพราะเชื่อว่าในที่สุดจะกำไรมากมาย อย่างน้อยควรมีการกำกับ platform ซื้อขาย crypto ในเรื่อง KYC และให้ความรู้ (ที่ถูกต้อง) กับนักลงทุนหน้าใหม่" ดร.สมชัย จิตสุชน โพสต์ใน Facebook ส่วนตัว
อย่างไรก็ตามในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปรากฏในสื่อโซเชียลมีเดียว่ามีนักลงทุนระดับมัธยม จนถึงระดับมหาวิทยาลัยจำนวนมาก แสดงมุมมองสนใจในการลงทุน โดยมีการสนทนากันอย่างกว้างขวางในกลุ่ม Facebook ของนักลงทุนเหรียญคริปโต ซึ่งมีทั้งโพสต์ถามถึงแนวทางการวางแผนการลงทุน หรือมีเงินแต่ไม่รู้ว่าจะลงทุนเหรียญไหนดี ขอให้สมาชิกในกลุ่มแนะนำ แต่ที่พบว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือกลุ่มนักลงทุนเยาวชน ที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุน โดยโชว์พอร์ตบัญชีการลงทุนที่ติดลบตั้งแต่หลักหมื่นบาท จนถึงหลักแสนหรือหลักล้านบาท โดยบางส่วนนำเงินเก็บมาลงทุน หรือแม้กระทั่งนำเงินจากการที่จะต้องนำไปจ่ายค่าเทอม ค่าหน่วยกิต มาลงทุนเทรดเหรียญคริปโต และที่เลวร้ายที่สุด มีนักลงทุนเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่เสียหายจากการลงทุน โดยที่ไม่มีภูมิความรู้ในการลงทุนคริปโต หลังจากเกิดความเสียหายต้องการถอนทุนคืน ไปกู้ยืมเงินนอกระบบมาลงทุนในรอบใหม่ แต่กลับเสียหายหนักกว่าเดิม ซึ่งหลักๆมาจากความโลภที่มาจากการนำเสนอของนักลงทุนในสนามเทรด หรือถูกชักชวนจากคนรู้จัก หรือคนดังที่ถูกจ้างมาเชิญชวน อีกทั้งมีการนำเสนอของหน้าม้ากระดานเทรด หรือ PR ของนักลงทุนรายใหญ่ที่ต้องการใช้ประโยชน์ด้วยการให้แมงเม่า หรือนักลงทุนรายย่อยหลอกให้ลากราคาเหรียญให้ ใช้กลอุบายหลอกล่อด้วยผลตอบแทนสุงระดับ 100% -1000% จนนักลงทุนรายย่อยและเยาวชนเหล่านั้นเกิดความโลภ เทเงินเข้าไปลงทุน โดยไม่หวั่นกลัวความเสียหายจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
ขณะที่ในส่วนของกระดานเทรดต่างๆ ที่ส่งเสริมโปรโมชั่นประชาสัมพันธ์ กลับเพิกเฉยต่อปัญหา ปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ได้สนใจในผลกระทบสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนผู้เสียหายเหล่านั้น เพราะมีรายได้มาจากส่วนแบ่งการทำธุรกรรมในการซื้อขายเหรียญ ไม่ว่าตลาดคริปโตจะขึ้นหรือลง นักลงทุนจะมีกำไรหรือขาดทุน หรือเสียหายมากน้อยแค่ไหน กระดานเทรดเหล่านั้นก็ยังคงเดินหน้าดึงส่วนแบ่งการตลาดจากนักลงทุนทั้งรายใหม่และรายเก่า โดยไม่ได้คำนึงถึงธรรมาภิบาลการส่งเสริมการลงทุนอย่างที่ควรจะเป็น