xs
xsm
sm
md
lg

กรมที่ดินแจงจัดเก็บรายได้ 9 เดือนแรก 7.1 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมที่ดินถึงภาพรวมการให้บริการประชาชนและปริมาณการจัดเก็บรายได้ ของสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (1 ตุลาคม 2564-30 มิถุนาย 2565) ว่า มีประชาชนมาติดต่อใช้บริการต่างๆ ณ สำนักงานที่ดินทั่วประเทศ 9,483,494 ราย เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณ พ.ศ.2564 เพิ่มขึ้น 174,533 ราย หรือร้อยละ 1.87

ส่วนการจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ จัดเก็บได้ 71,453,134,734 บาท เพิ่มขึ้น 1,755,302,856 บาท หรือร้อยละ 2.52

ซึ่งการจัดเก็บรายได้ในช่วงนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2565 แบ่งออกเป็นประเภท ได้ดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมประเภทต่างๆ 22,804.06 ล้านบาท รายได้เข้ารัฐ 364.55 ล้านบาท และรายได้นำส่งท้องถิ่น 22,439.5 ล้านบาท

2.ค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 19,154.47 ล้านบาท

3.ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 25,368.45 บาท แบ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะเรียกเก็บ เพื่อกรมสรรพากร (3%) 23,046.97 ล้านบาท และภาษีธุรกิจเฉพาะเรียกเก็บ เพื่อรายได้ส่วนท้องถิ่น (0.3%) 2,321.47 ล้านบาท

4.ค่าอารแสตมป์ 4,126.15 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 71,453.13 ล้านบาท

และหากพิจารณาการจัดเก็บรายได้ พบว่าภาพรวมใน 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จัดเก็บรายได้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค.64 จัดเก็บรายได้สูงถึง 11,160.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.60 เนื่องจากอยู่ในมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลือรายการละร้อยละ 0.01 เป็นปีสุดท้าย (ก่อนขยายมาตรการมาสิ้นสุดปี 65) ขณะที่ในเดือน พ.ค.65 จัดเก็บรายได้มากที่สุด ทำได้ 7,938.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,221.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.19

อย่างไรก็ดี ยังคงเหลือตัวเลขการจัดเก็บรายได้ที่ยังไม่แจ้งเข้าสู่ระบบของกรมที่ดินอีก 3 เดือน คือ ก.ค. ส.ค. และ ก.ย.ซึ่งจะสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ.2565 คาดว่ารวมแล้วทั้งปีงบประมาณน่าจะจัดเก็บรายได้ไม่ต่ำกว่า 90,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และ 2564 แต่ต่ำกว่าที่เคยจัดเก็บรายได้สูงถึง 1.08 แสนล้านบาทก่อนเกิดโควิด-19

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 น่าจะเป็นไตรมาสที่น่าจะเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากยังอยู่ในช่วงผ่อนเกณฑ์มาตรการ LTV และการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง เหลือรายการร้อยละ 0.01 ถึงสิ้นปี 65 เช่นกัน

"มองว่าเรื่องการต่อมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนไปปีถัดไปเป็นสิ่งที่น่าจะจำเป็นอยู่" ดร.วิชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น