xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรมหุ้นชิ้นส่วนฯ / สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่งจะฟื้นไม่ทันเท่าไหร่ ถูกถล่มขายราคารูดลงอีกครั้ง หลังจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองใหญ่ สกัดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด จนกังวลว่าจะเกิดผลกระทบความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ตามมา

ในช่วงต้นปี หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็ดทรอนิกส์เคยฟุบลง เนื่องจากผลกระทบสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน และประเมินกันว่า ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทจดทะเบียนผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ราคาหุ้นบริษัท เดลต้า อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ถูกถล่มขายจนราคาลงไปต่ำสุดที่ 287 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนหุ้น บริษัท เคซีอี อิเลคโทรสิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ทรุดลงไปต่ำสุดที่ 52.25 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 15 กรกฎาคม หุ้นบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ลงไปต่ำสุดที่ 36.75 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 6 กรกฎาคม

หลังจากนั้น หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กระเตื้องขึ้นเล็กน้อยตามภาวะตลาดหุ้นโดยรวมที่ฟื้นตัวขึ้น แต่เมื่อเทียบกับหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มอื่น อัตราการปรับตัวขึ้นน้อยกว่า แต่เมื่อ DELTA ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 โดยมีผลกำไรเติบโตก้าวกระโดดกว่า 157% กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้าไปไล่ซื้อหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอีกครั้ง

DELTA พุ่งทะยานอย่างร้อนแรงนำกลุ่ม ราคาจาก 300 บาทเศษ ขึ้นไปสูงสุดในรอบนี้ที่ 616 บาท ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ KCE ที่ขึ้นไปสูงสุดที่ 59.50 บาท และ HANA ขึ้นไปสูงสุดที่ 48 บาทระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันเดียวกันทั้ง 3 บริษัท ก่อนจะเริ่มอ่อนตัวลง

และเมื่อจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเฉิงตู หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ ถูกเทขายอีกครั้งจนลงแรง นักลงทุนที่เพิ่งกลับเข้าไปซื้อติดหุ้นต้นทุนสูงกันถ้วนหน้า

แม้หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ จะลงในทิศทางเดียวกัน แต่ผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในจีนแตกต่างกัน โดย KCE รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด เพราะส่งออกไปจีนจำนวนมาก ส่วน HANA แทบไม่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนั้น ปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทแตกต่างกัน โดย DELTA ซึ่งเป็นหุ้นชิ้นส่วนฯ ตัวใหญ่สุด ราคาขึ้นลงร้อนแรงที่สุด และเป็นหุ้นเก็งกำไรที่มีความเสี่ยงสูง มีค่าพี/อี เรโช ถึง 61 เท่า และอัตราเงินปันผลตอบแทนเพียง 0.33%

ส่วน KCE มีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 25 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 3.12% และ HANA มีค่าพี/อี เรโช ประมาณ 29 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน 4.94% โดยถือว่ามีปัจจัยพื้นฐานรองรับมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ มักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดย DELTA เป็นตัวนำกลุ่ม ขึ้นก็ขึ้นด้วยกัน เวลาลงมักจะลงยกแผง ซึ่งรอบนี้ลงมาเฉลี่ยเกือบ 20% เมื่อเทียบกับราคาสูงสุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม

ปัญหาของหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ คือ ราคาที่ปรับฐานยกแผง ซึมซับรับข่าวร้ายหมดหรือยัง เพราะถ้าราคาสะท้อนข่าวร้ายไปแล้ว การปรับตัวลงจากนี้จะเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้น

DELTA ระหว่างชั่วโมงซื้อขายวันจันทร์ที่ผ่านมา ถูกเทขายจนรูดลงไปต่ำสุดที่ 488 บาท ก่อนมีการไล่ซื้อจนพุ่งขึ้นมาปิดที่ 524 บาท เพิ่มขึ้น 14 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,999.56 ล้านบาท

KCE ปิดที่ 50.25 บาท ลดลง 1 บาท มูลค่าซื้อขาย 649.11 ล้านบาท และ HANA ปิดที่ 39.75 บาท ลดลง 0.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 233.37 ล้านบาท

DELTA หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนฯ ตัวใหญ่ทำท่าจะตั้งหลักใหม่ ส่วน KCE และ HANA แม้ยังไม่ฟื้น แต่ราคาไหลลงมาลึกระดับก้นเหวแล้ว และอาจเป็นช่วงหาจังหวะเหมาะในกาช้อนเก็บก็ได้








กำลังโหลดความคิดเห็น