“ทิพานัน” ห่วงวัยรุ่นสร้างตัว ออกโรงเตือนระวังตกเป็นเหยื่อลวงลงทุนคริปโต หลังพบประชาชนตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้น และมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก แนะตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจ พร้อมกำชับทุกหน่วยงานให้ความรู้ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกโรงเตือนนักลงทุนและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะวัยรุ่นสร้างตัว หรือ นักลงทุนรุ่นใหม่ ให้ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งบิทคอยน์ และคริปโทเคอร์เรนซี ตลอดจนเหรียญดิจิทัลโทเคนต่างๆ เพราะอาจถูกหลอกลวงสร้างความเสียหายกระจายออกเป็นวงกว้าง รวมถึงการไม่มีภูมิคุ้มกันด้านการลงทุน ซึ่งได้รับการชักชวนจากผู้ใกล้ชิดเข้าลงทุนเหรียญที่กำลังเป็นกระแส ทำให้อาจเกิดความเสียหายจากการตกเป็นเครื่องมือของนักลงทุนรายใหญ่ที่อาศัยผลประโยชน์จากนักลงทุนรายย่อยได้ โดยที่ผ่านมาพบว่ามีกลุ่มผู้เสียหาย จากการถูกหลอกให้ลงทุนซื้อขายเหรียญคริปโตฯ เป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องมูลค่าหลายสิบล้านจนถึงหลักพันล้านบาท
"นักลงทุนควรศึกษาให้รอบคอบก่อนการลงทุน และตรวจสอบว่าผู้ขายอยู่ในข่ายที่ต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. หรือไม่ หากเข้าข่ายได้รับอนุญาตแล้วหรือยัง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตได้ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. หรือทางแอปพลิเคชัน “SEC Check First” ซึ่งหากมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. โทร. 1207 ที่สำคัญควรตรวจสอบชื่อเว็บไซต์และรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจให้ครบถ้วนทุกตัวอักษร เพื่อป้องกันมิจฉาชีพปลอมแปลง และสามารถแจ้งความในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีผ่านทางศูนย์ฯ ผ่านเว็บไซต์ thaipoliceonline หรือเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งติดตามข้อมูลข่าวสารของทางการเกี่ยวกับการหลอกลวงลงทุน"
อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงยังยืนยันว่าสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในทุกด้านของประเทศ รวมไปถึงสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่กำกับดูแลการออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยโดยตรง คือ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน ลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกหรือถูกเอาเปรียบ ตลอดจนถึงการสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลให้ผู้ที่ต้องการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลนี้โดยสุจริตสามารถทำได้ และป้องกันการฟอกเงิน หรือใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในทางไม่สุจริต และเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีมาทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดีหากมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ก็จะมีโทษทางอาญา โดยฐานความผิดและอัตราโทษเทียบเคียงได้กับกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และยังมีการนำบทบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายนี้ด้วย
“รัฐบาลมีความห่วงใยเป็นอย่างมาก มีการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องปราม และเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อความรู้ความเข้าใจ หลีกเลี่ยงไม่ให้เผชิญความเสี่ยงจนเกิดการสูญเสีย รวมทั้งตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ” นางสาวทิพานัน กล่าวทิ้งท้าย