หลังจากที่ปี 2563 - 2564 เป็นช่วงปีทองของคริปโต ซึ่งทำให้คนธรรมดากลายเป็นสุลต่านเศรษฐีใหม่เพียงชั่วข้ามคืน จากการเก็งกำไรเหรียญที่พุ่งทะลุเพดานหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็น และมีเหรียญใหม่ๆที่เขียนไวท์เปเปอร์สวยหรูมาหลอนนักลงทุนให้เพ้อฝันมากมายหลายร้อยเหรียญซึ่งนักเทรดที่เข้าลงทุนในช่วงเหรียญต้นน้ำกลายเป็นเศรษฐีใหม่มากมาย
ขณะเดียวกันจากกระแสการพุ่ง To The Moon ของอุตสาหกรรมคริปโต ไปเข้าตาของ Nayib Bukele ประธานาธิบดีแห่งเอลซัลวาดอร์ ที่จะผลักดันให้ประเทศลืมตาอ้าปาก หลุดพ้นจากความยากจน ด้วยการทำทุกวิถีทางในการผลักดันให้ Bitcoin เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฏหมายของประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่มีใครขวางทางแนวคิดของประธานาธิบดีหนุ่มหัวก้าวหน้าได้ที่ทำให้เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศรับรองให้ Bitcoin เป็นเงินถูกต้องตามกฏหมาย นำมาใช้ในการซื้อขายสินค้าและธุรกรรมการเงินหลายอย่างในประเทศ พร้อมกันนี้ Nayib Bukele ยังได้พยายามผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางคริปโต หรือเมืองแห่งบิทคอยน์ของโลก ด้วยการทยอยซื้อสะสมเหรียญบิทคอยน์เพื่อเป็นเงินคงคลังของประเทศ แม้ในภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ และอุตสาหกรรมคริปโตเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนักก็ยังคงทยอยซื้ออย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามการพยายามผลักดันการบังคับใช้กฏหมายของเอลซัลวาดอร์ นั้นอาจเป็นมุมมองในเชิงบวกแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น โดยลืมประเมินถึงผลความเสี่ยงจากปัจัยแวดล้อมที่จะเข้ามากระทบในอนาคต เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ผลของภาวะเงินเฟ้อยังไม่ฉายภาพออกมาให้เห็นชัดเจน จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ค่อยๆทยอยเห็นผลในหลายๆประเทศเพิ่มขึ้นทีละนิด
ล่าสุด Nayib Bukele ประธานาธิบดีแห่งเอลซัลวาดอร์ ปรับแผนชะลอหนี้ที่เกิดขึ้นหลังการกู้ยืม IMF ด้วยการตั้งเป้าไปที่พันธบัตรของประเทศ จากเดิมที่โฟกัสไปที่คริปโต เนื่องจากมูลค่าการถือครองเหรียญนั้นลดลงจากสถานการณ์ตลาดที่ล่มสลาย โดยเมื่อวันอังคารเขา โพสต์ทวีตว่าเขาได้เขียนร่างกฎหมายสองฉบับไปยังรัฐสภาเอลซัลวาดอร์เพื่อขออนุญาตยืมเงินและซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลในราคาตลาด ซึ่งลดลงถึง 75% ในปีที่แล้ว โดยแผนการซื้อคืนหนี้เป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจหลังจากที่เขาทุ่มซื้อ Bitcoin อย่างต่อเนื่องจนสถานะการเงินติดลบเนื่องจากตลาดคริปโตผันผวนอย่างรุนแรง
ขณะที่บางคนเชื่อว่าเอลซัลวาดอร์ใกล้จะผิดนัดแล้ว การกระทำของบูเคเล่พยายามเบี่ยงเบนความสนในเพื่อลดระดับหนี้ของรัฐบาล โดยปัจจุบันสถานะการถือครองบิทคอยน์ของเอลซัลวาดอร์ อยู่ที่ 2,381 BTC ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนของเอลซัลวาดอร์ลดลงมากกว่า 46% ณ เวลาปัจจุบัน
นอกจากนี้ในเดือนพฤษภาคม Moody's ซึ่งเป็นสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของเอลซัลวาดอร์ลงจากปัญหาหนี้ของประเทศที่พุ่งสูงขึ้น โดยระบุว่า "ความพยายามที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin" เป็นเหตุผลให้ประเทศตกต่ำลงอย่างรุนแรง และทั้งหมดทั้งมวลมาจากความดื้อรั้นของ Nayib Bukele ประธานาธิบดีแห่งเอลซัลวาดอร์ ที่ไม่ฟังคำเตือน
อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากสถานะการไร้ความสามารถในการชำระภาระผูกพันทั้งหมดเมื่อครบกำหนดแล้ว ประเทศละตินขนาดเล็ก ยังมีเงินสดในมือไม่เพียงพอที่จะซื้อคืนหนี้ทั้งหมดของตนเอง (จนถึงปี 2025)
ตามทวีตของ Bukele ราคาของธนบัตรขยะของเอลซัลวาดอร์เพิ่มขึ้น โดยพันธบัตรที่ครบกำหนดในปี 2566 พุ่งขึ้นมากกว่า 10% และพันธบัตรปี 2568 เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ตามการรายงานของ Bloomberg
ขณะที่กฎหมายดังกล่าวเรียกร้องที่จะกู้ยืมเงินจำนวน 200 ล้านดอลลาร์จากธนาคารกลางในอเมริกากลางเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และสำรองสินทรัพย์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทุนในการชำระหนี้ให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ของเอลซัลวาดอร์ โดยก่อนหน้านี้ IMF ได้ออกมาคัดค้านถึงความต้องการซื้อ Bitcoin อย่างไม่ลืมหูลืมตาของเอลซัลวาดอร์ โดยขอให้ประเทศถอน bitcoin ออกจากสถานะเป็นเงินสดตามกฎหมายในเดือนมกราคม เนื่องจากความกังวลว่าหนี้ของประเทศนั้น "ไม่ยั่งยืน" และอาจส่งผลรุนแรงให้ประเทศล้มละลายตามเวเนซุเอลา
ทั้งนี้เอลซัลวาดอร์ไม่ได้ระบุเป้าหมายที่ชัดเจนของการซื้อคืน แต่เศรษฐศาสตร์การค้ารายงานว่าตั้งแต่ปี 2559 จำนวนรายได้ของประเทศที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยหนี้เพิ่มขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งหลังจากที่ประเทศเข้าถือครองบิทคอยน์และราคาปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงทำให้มูลค่าการถือครองที่ลดลงถึงขั้นติดลบ ซึ่งผลักดันให้ภาระหนี้ของประเทศพุ่งสูงขึ้นทวีคูณมูลค่าหนี้เพิ่มหลายเท่าตัวอย่างก้าวกระโดด
ขณะที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือ NIDA ให้มุมมองผ่าน Facebook ส่วนตัว Warat Karuchit ว่า
เลือกผู้นำผิด ประเทศชาติอาจล้มละลายได้
เอลซัลวาดอร์ อาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ล้มละลายจากบิทคอยน์ หนึ่งปีหลังจากเป็นประเทศแรกที่ประกาศให้บิทคอยน์เป็นเงินทางการของประเทศ จากไอเดียของประธานาธิบดี นายิบ บูเคเล่ วัยเพียง 41 ปี ผู้หลงใหลคริปโตเคอเรนซี่อย่างหนักโดยกฎหมายบิทคอยน์นี้ ใช้เวลาเพียง 5 วันก็ผ่านสภาที่พรรคของบูเคเล่ครองเสียงข้างมาก โดยไม่มีประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความเห็นจากประชาชนเลย และไม่ผิดคาดที่การใช้งานนั้นเต็มไปด้วยปัญหาและการทุจริต
บูเคเล่ ที่สร้างอำนาจมาจากพ่อของเขาที่เป็นนักธุรกิจมหาเศรษฐี มักเรียกตัวเองว่าเป็น CEO ของเอลซาวาดอร์ แต่ประชาชนจำนวนมากเรียกเขาว่าเป็น "เผด็จการที่หลงตัวเอง" และออกมาต่อต้านกฎหมายบิทคอยน์กันจำนวนมาก
แม้ว่าประชาชนจะต่อต้าน แต่บูเคเล่ก็ไม่ฟังเสียง ยังคงเดินหน้าต่อไปด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับอภิมหาโปรเจคในการสร้าง "เมืองบิทคอยน์" (Bitcoin City) แม้ว่าประเทศจะอยู่ในสภาวะวิกฤตจากหนี้แล้วก็ตาม จึงพยายามออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน และให้สัญชาติกับนักลงทุน แต่ก็ไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนมาได้
จากการที่มูลค่าบิทคอยน์ผันผวนอย่างหนัก ทำให้มูลค่าของบิทคอยน์ที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์มีนั้นลดลงไปถึง 60% โดยในขณะนี้เอลซาวาดอร์เป็นหนี้อยู่ทั้งสิ้น 23,000 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งต้องเริ่มจ่ายคืน IMF ปีหน้าเป็นจำนวน 800 ล้าน และ IMF คาดการณ์ว่า หนี้สาธารณะของเอลซัลวาดอร์ อาจสูงถึง 95% ของ GDP ภายในปี 4 ปีนี้ ซึ่งกลายเป็นว่า ตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลบูเคเล่ทำคือ ใช้เงินภาษีของประชาชนไปซื้อบิทคอยน์ แทนที่จะเอาเงินไปช่วยประชาชน เช่นปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำสะอาด และแม้ว่าบิทคอยน์จะร่วง ทำให้เงินของประเทศลดลงมากกว่าครึ่ง แต่บูเคเล่กลับทวิตอย่างตื่นเต้นว่าเป็นโอกาสที่จะซื้อบิทคอยน์ได้มากขึ้น เหมือนการเอาเงินของประชาชนไปเล่นพนันที่มีแต่โอกาสจะหมดตัว
การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ถ้าเอาอนาคตประเทศชาติมาเสี่ยงด้วย ประชาชนตาดำๆก็ต้องรับกรรมไป