ทีเอ็มบีธนชาต ส่ง “ทีทีบี คอนซูมเมอร์” รุกตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลครบวงจร ผ่านผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ พร้อมชู 3 กลยุทธ์หลักขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย 1 ใน 4 ผู้นำตลาดภายใน 3 ปี ผ่านบัตรเครดิตที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต บัตรกดเงิน และสินเชื่อบุคคล
นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) เปิดเผยถึงเป้าหมายภาพรวมธุรกิจ ทีทีบี คอนซูมเมอร์ ปี 2565 ว่า ธนาคารตั้งเป้าลูกค้าบัตรเครดิต 1.4 ล้านใบ เป็นลูกค้าสมัครใหม่ 250,000 ใบ โตขึ้นจากปีก่อน 200% โดยเป็นการสมัครผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 35% และมีเป้าสร้างยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อน โดยเน้นยอดใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่า 30% และมีเป้ายอดคงค้างอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่มีบัตรเครดิต 1.2 ล้านใบ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตร 48,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% และยอดคงค้าง 27,000 ล้านบาท
ส่วนสินเชื่อบุคคล ตั้งเป้ามีลูกค้ารายใหม่ 1.7 แสนราย เติบโตเพิ่มขึ้น 270% จากปีก่อน เป็นลูกค้าสินเชื่อบุคคลทั้งหมด 5.5 แสนราย เพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อน เป็นมูลค่าสินเชื่อใหม่ 2.6 หมื่นล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 86% และมีเป้ายอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท จากครึ่งปีแรกที่มีลูกค้ารายใหม่ 7.3 หมื่นราย มียอดสินเชื่อใหม่ 9.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% และมีสินเชื่อคงค้างที่ 2.95 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จากอัตราการเติบโตของทั้ง 2 ธุรกิจดังกล่าว สะท้อนถึงความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกประเภทในไตรมาส 3 นี้ อันเกิดจากประชาชนยังต้องการหาแหล่งเงินกู้ เพื่อเป็นตัวเลือกในการรับมือกับภาระค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกันนั้น ได้ตั้งเป้าหมายในปี 2568 หรืออีก 3 ปีนับจากนี้ ทีเอ็มบีธนชาตตั้งเป้าก้าวกระโดดขึ้นเป็น 1 ใน 4 ผู้นำตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งจะต้องยอดคงค้างสินเชื่อรวมกว่า 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันที่อยู่ในลำดับ 6-7 ผ่านกลยุทธ์สำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) Digital & Innovation 2) สร้าง Partnership ทางธุรกิจ และ 3) การขับเคลื่อนด้วยการใช้ Data มากขึ้น
นายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ทีเอ็มบีธนชาต และกรรมการผู้จัดการ ทีทีบี คอนซูมเมอร์ กล่าวขยายความว่า กลยุทธ์ด้าน Digital & Innovation จะมุ่งพัฒนานวัตกรรมการเงินและช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ผ่านแอปพลิเคชัน ttb touch ที่ให้ความสะดวกสบายในการสมัครบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อบุคคล หรือใช้บริการ และรับข่าวสาร เพื่อไม่พลาดสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ด้านการสร้าง Partnership ทางธุรกิจ มุ่งเดินหน้าขยายพันธมิตรธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการเน้น 3 กลุ่มลูกค้า เพื่อสร้าง Ecosystem ทั้งกลุ่มลูกค้าพนักงานเงินเดือน ลูกค้ามีรถยนต์ และลูกค้ามีบ้าน และมุ่งเน้นการเพิ่มจำนวนร้านค้ารับบัตรให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในทุกหมวด ทุกกลุ่ม รวมถึงเพิ่มร้านค้าที่ให้สิทธิผ่อน 0% เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดีขึ้น
และการขับเคลื่อนด้วยการใช้ Data มากขึ้น เพื่อทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน วิเคราะห์เพื่อตกผลึกข้อมูลเชิงลึก เข้าใจในความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าแบบรายบุคคล เพื่อการนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ และโดนใจในเวลาที่เหมาะสม และเพื่อพัฒนาโซลูชันการเงินที่ดีที่สุด
โดยจะมุ่งใน 3 Ecosystems หลักๆ ได้แก่ กลุ่มลูกค้า Pay roll กลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้าน และกลุ่มลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถเชื่อมโยงทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว รวมถึงจะเริ่มดำเนินธุรกิจ Digital Lending ในช่วงปลายปีนี้ และมีแผนจะเริ่มดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารได้ขยายฐานไปสู่ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเข้าถึงเงินทุนได้น้อย ขณะที่การวิเคราะห์ Data ที่ได้รับการพัฒนามาแล้วจะช่วยทำให้การพิจารณาสินเชื่อทำได้ยืดหยุ่นและรวดเร็วขึ้น
สำหรับกิจกรรมทางการตลาดบัตรเครดิตทีทีบี ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นั้น จะมุ่งเน้นกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของผู้ถือบัตร โดยเฉพาะในหมวดร้านอาหาร และการชอปปิ้งออนไลน์ ที่ทางธนาคารได้จัดเตรียมไว้ทั้งส่วนลด และเครดิตเงินคืน รวมถึงการใช้คะแนนสะสมเท่ายอดซื้อแลกเครดิตเงินคืนในอัตราที่สูงกว่าปกติ ณ ห้างสรรพสินค้าพันธมิตร รวมถึงในช่วงปลายปียังได้จัดเตรียมไฮไลต์แคมเปญที่สุดพิเศษ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทีทีบี นับเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงการรุกตลาดคอนซูมเมอร์ของธนาคารอย่างเต็มตัว
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้นคาดว่าจะทรงตัวเช่นเดียวกับปัจจุบัน โดยเอ็นพีแอลของบัตรเครดิตอยู่ที่ 1% จากระบบรวมที่ 1.7-1.8% และสินเชื่อบุคคลมีเอ็นพีแอลที่ 2.7% จากทั้งระบบที่ 3.5% เนื่องจากปัจจุบันยังมีมาตรการผ่อนปรนเกณฑ์ชำระขั้นต่ำที่ 5% และจะทยอยปรับเป็น 7% และ 10%ตามลำดับต่อไป รวมถึงธนาคารเองมีมาตรการดูแลลูกค้าที่ประสบปัญหาด้วย ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันการเกิดเอ็นพีแอลได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนความคืบหน้าในแยกธุรกิจคอมซูมเมอร์ออกเป็นบริษัทลูกของธนาคารนั้น อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมใน 4 ด้านหลักด้วยกันทั้ง การขยายทีมงาน-พันธมิตร ด้านระบบงานโดยรวม DATA และแพลตฟอร์มต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่หลังจากแยกธุรกิจแล้วจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่นั้นยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ในขณะนี้