xs
xsm
sm
md
lg

กระแสการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำหนุนหุ้นลีสซิ่งสดใส เชื่อชำระหนี้คล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หุ้นลีสซิ่งสดใส 3 ตัวหลักคึกคักทันทีรับกระแสข่าวการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เชื่อทำให้ความสามารถการชำระหนี้ดีขึ้น กดตัวเลข NPL ต่ำ โบรกเกอร์มอง SAWAD แกร่งเพราะสินเชื่อเช่าซื้อ จยย. สูง ขณะ TIDLOR เติบโตดีจากคุณภาพสินทรัพย์และการตั้งสำรองต่อพอร์ตอยู่ในเกณฑ์ดีมาก อีกทั้งกระจายความเสี่ยงสู่ธุรกิจสู่ประกัน ส่วน MTC ถือเป็นผู้นำกลุ่มจำนำทะเบียนที่มีความสามารถการทำกำไรสูงสุด ประสานสียงให้เก็บเข้าพอร์ต

จากกระแสการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อันเป็นผลมาจากต้นทุนการดำเนินชีวิตที่พุ่งสูง เพราะราคาน้ำมันขยับเพิ่มสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลกระทบต่อค่าขนส่ง อีกทั้งค่าไฟฟ้าและก๊าซที่ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นตาม ขณะที่การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีก 0.25% เป็น 0.75% เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.) สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางดอกเบี้ยจากนี้ไปจะอยู่ในช่วงขาขึ้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่จะหนุนให้การปรับขึ้นค่าแรงมีความเป็นจริงมากขึ้น และแน่นอนว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มไฟแนนซ์ อันหมายถึงความสามารถการชำระหนี้ของลูกหนี้ย่อมจะดีขึ้น มีโอกาสเป็น NPL น้อยลง จึงไม่แปลกที่หุ้นของ บริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.ที่ทำธุรกิจเช่าซื้อรวมถึงกลุ่มบริหารสินทรัพย์สดใสขึ้นมา โดยหุ้นตัวหลักของกลุ่ม ทั้ง MTC หรือบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) SAWAD หรือบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ TIDLOR หรือบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) ดังนั้น นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างเชียร์ให้เก็บหุ้นเข้าพอร์ต

SAWAD แกร่งจากสินเชื่อเช่าซื้อ จยย. 

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ  มีมุมมองบวกต่อ SAWAD เพราะการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนแต่ เชื่อว่า NPL coverage นั้นต่ำเกินไปเนื่องจากความเสี่ยงที่สูงขึ้นในบัญชีเงินกู้หุ้น SAWAD มีแนวโน้มที่จะซื้อขายที่ราคามีส่วนลดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เนื่องจากสินเชื่อที่เติบโตช้ากว่าและความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์สูงกว่า คงแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 58 บาท (P/BV ปี 65 ที่ 2.9 เท่า และ ROE 19.6%) เพราะเพดานใหม่ของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้ออาจส่งผลกระทบต่อ SAWAD ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ย 30-35% 

ขณะกำไร 2 ต่ำกว่าคาดจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ที่สูง หลัง SAWAD รายงานกำไรสุทธิ 2 ที่ 1.04 พันล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อน เนื่องจาก OPEX เพิ่มขึ้น สินเชื่อเพิ่มขึ้น 14% จากสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่แข็งแกร่ง จากผลตอบแทนเงินกู้ที่สูงขึ้น ส่งผล NII เติบโต 23% ขณะ Non-nii ทรงตัว จากค่านายหน้าประกันภัยที่ทรงตัว OPEX เพิ่มขึ้น 41% จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดและขยายสาขา

อย่างไรก็ดี ในการประชุมนักวิเคราะห์ ผู้บริหารเผยว่าเงินกู้ใหม่ส่วนใหญ่จะออกช่วงปลายไตรมาส 2 ดังนั้นรายได้ดอกเบี้ยจึงยังไม่ถูกบันทึกเต็มจำนวน และคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในครึ่งปีหลัง SAWAD ตั้งเป้าค่าคอมมิชชันอยู่ที่ 10-12% ของรายได้ดอกเบี้ยรับ เทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 8% เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งการตลาด ดังนั้น OPEX จึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไตรมาส 2 ทั้งนี้  บนเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ SAWAD มีข้อกังวลที่จำกัดและคาดว่าตลาดจะ consolidate และผู้ประกอบการรายใหญ่จะได้รับส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ตั้งสำรองต่ำเกินไป ขณะที่ความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อสูงขึ้น 

เนื่องจาก SAWAD สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสินเชื่อจำนำทะเบียนรถให้ MTC และ TIDLOR ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรับความเสี่ยงด้วยการขยายสินเชื่อเช่าซื้อ จยย. เพื่อรองรับการเติบโตของสินเชื่อ เบื้องต้นต้นทุนสินเชื่อน่าจะอยู่ในระดับต่ำ เพราะพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำ แต่คาดว่าต้นทุนสินเชื่อจะเพิ่มเมื่อพอร์ตสินเชื่อครบกำหนด ทั้งนี้ SAWAD ตั้งเป้าต้นทุนสินเชื่อที่ 30-50bps ปีนี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 100bps ปี 66 พร้อมตั้งสำรอง ขณะ NPL coverage ยังคงต่ำที่ 61% ในไตรมาสนี้

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ครึ่งปีหลังปี 65 ผู้บริหาร SAWAD คาดว่ารายได้สินเชื่อจะโตขึ้น เนื่องจากรายได้ของ บมจ.ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล จำกัด (SCAP) จะถูกบันทึกเข้ามาเต็มไตรมาสในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ ขณะที่สัดส่วน NPL จะลดลงเนื่องจากพอร์ตที่โตขึ้นโดยบริษัทคุม net NPL ให้อยู่เท่าเดิม

ขณะผู้บริหาร SAWAD มองว่าถ้าเกิดว่ามีการคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อจะเป็นประโยชน์ให้ SAWAD เนื่องจากจะสามารถตัดคู่แข่งท้องถิ่นออกไปได้ (ปัจจุบันคู่แข่งท้องถิ่นมีสัดส่วนในตลาดอยู่ 40%) และมองว่าการคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะจะทำให้ประชากร 20 ล้านคน ไม่เข้าถึงสินค้าประเภทรถมอเตอร์ไซค์ และรถประเภทอื่นๆ ได้ ซึ่งผู้บริหารเตรียมแผนรับมือไว้แล้ว  

ทั้งนี้ SAWAD มีกำไรไตรมาสนี้ที่ 1,042 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนแต่เพิ่มขึ้น 0.55% จากไตรมาสก่อน โดย NPL อยู่ที่ 2.59% ซึ่งลดลงจากทั้งไตรมาสก่อนและปีก่อน ถือเป็นแนวโน้มขาลงของสัดส่วน NPL ที่ชัดเจน เพราะพอร์ตสินเชื่อโต 26.7% จากปีก่อนและ 13.1% จากไตรมาสก่อน โดยการเติบโตหลักมาจากสินเชื่อเช่าซื้อที่อยู่ที่ 9,532 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อนและปีก่อน

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำ "BUY" หุ้น SAWAD ให้ราคาเป้าหมาย 64 บาท/หุ้น พร้อมยืนยันครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก หลังแจ้งงบไตรมาส 2 พบกำไร 2 ยังไม่โตแม้สินเชื่อโตดีเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยไม่ได้รับรู้เต็มไตรมาส ทั้งนี้ไตรมาส 2 มีกำไร 1,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% ไตรมาสก่อน แต่ลดลง 6% จากปีก่อนเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยยังไม่รับรู้เต็มไตรมาส เนื่องจากสินเชื่อในไตรมาสนี้ส่วนใหญ่เข้ามาช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. ขณะรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยแม้จะมีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจประกันเพิ่มขึ้น แต่การเร่งขยายพอร์ตสินเชื่อทำให้มีค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่ม และคอมมิชชันให้ดีลเลอร์ ส่งผลให้ cost to income ratio ขยับและมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรอง ขณะการคุมคุณภาพสินทรัพย์ทำได้ดี ส่งผลให้ NPL ลดเหลือ 2.83% จาก 3.36% ณ ไตรมาสแรกปี 65 แต่ยังคงเป้าปี 65 พอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียนโต 20-30% และ new booking เช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ 1.1 หมื่นล้านบาท ผลจากการเร่งโตในไตรมาส 2 และสินเชื่อจำนำทะเบียนโต 20-30% ล่าสุดขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1ในธุรกิจเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ โดยมีส่วนแบ่งตลาด 16% เชื่อคู่แข่งขันตามไม่ทัน

ขณะที่เป้า cost to income ratio ครึ่งปีหลัง จะลงมาอยู่ที่ 38-40% จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นเพราะการเร่งโตสินเชื่อ ขณะรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อที่เร่งโตในไตรมาส 2 จะส่งผลเต็มๆ ในครึ่งหลังปีนี้

มองการเปลี่ยนผู้คุมกฎจาก สคบ. เป็น ธปท. เป็นผลบวก เพราะจะทำให้ไฟแนนซ์ท้องถิ่นและดีลเลอร์ออกจากตลาดและทำให้วอลุ่มราว 40% จาก 2 กลุ่มผู้เล่นดังกล่าวกลับมาที่ 10 ไฟแนนซ์ใหญ่ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อ SAWAD ด้วย จึงยังไม่ปรับประมาณการกำไรปี 65 

ทั้งนี้ จากกำไรครึ่งปีแรกคิดเป็น 44% ของประมาณการ เพราะเชื่อว่าครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก และ SAWAD สนใจในด้าน valuation จากราคาปัจจุบันที่มี upside 24% แนะ “ซื้อ” ถือเป็นหุ้นที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง

TIDLOR เติบโตแข็งแกร่ง 

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อปีนี้ของ TIDLOR เป็น 23-28% โดย YTD ขยายตัวมาแล้ว 28.8% ซึ่งในประมาณการปรับเป็น 28% จากเดิมที่ใช้ 24% นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดตัว “ประกัน ติดล้อ” เพื่อรุกธุรกิจนายหน้าขายประกันเต็มรูปแบบ บริษัทคาดพรีเมียมประกันปี 2565 จะเติบโต 30-35% โดยจะขายให้ทั้งลูกหนี้ที่กู้กับบริษัท และไม่ได้กู้กับบริษัท ด้วยการแยกชัดเจนจากกการตั้งบริษัทใหม่เพื่อลุยธุรกิจขายประกัน คาดส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ทรงตัวในไตรมาส 3 นี้ แม้อัตราดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้น เพราะได้รีไฟแนนซ์ได้ดอกเบี้ยลดลงต่อเนื่อง

บล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ประเมิน TIDLOR พร้อมปรับเป้าการเติบโตของสินเชื่อรวมเป็น 23-28% เทียบปีก่อน จากเดิม 20-25% ทั้งนี้ยังคงกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 4,051 ล้านบาท และกำไรสุทธิปี 2566 ที่ 5,190 ล้านบาท เติบโตปีละ 28% เทียบปีก่อน เนื่องจากบริษัทปรับเป้าเพิ่มค่าใช้จ่ายสำรอง หรือ credit cost ที่ 1.9% เดิม 1.5% จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 42 บาท คงเลือกเป็น Top Pick ของกลุ่มสินเชื่อบริโภค คาดกำไรสุทธิไตรมาส 3 และ 4 เติบโตเด่น ขณะคุณภาพสินทรัพย์และการตั้งสำรองต่อพอร์ตอยู่ในเกณฑ์ดีมาก อีกทั้งการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจสู่ประกัน

บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ประเมินหลังการประชุมนักวิเคราะห์กับ TIDLOR ประเด็นหลัก ผู้บริหารให้เป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อปี 2565 ที่ 23-28% เทียบกับปีก่อน และยังคงให้เป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันปีนี้ที่ 30-35% ผ่านการขยายสาขาที่ดีอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าหมาย NPL ไม่เกิน 2% ขณะที่ credit cost ปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.9% และคาดว่าปีนี้ยังคงเติบโตแกร่งจากการขยายสินเชื่อและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจากการขายเบี้ยประกัน โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังนี้ แม้อาจปรับลดจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมมองน่าจะเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ คาดชดเชยผลกระทบบางส่วน โดยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 47 บาท

“ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ TIDLOR กล่าวถึงการที่ สคบ. เคาะเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ซึ่ง TIDLOR ไม่กังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อของธุรกิจเติบโตหลักมาจากกลุ่มสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน และพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อส่วนใหญ่ของ TIDLOR เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก

"แนวโน้มความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถและการทำประกันภัยครึ่งหลังปีนี้คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายที่เป็นไฮซีซันของธุรกิจ โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายขยายพอร์ตธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเติบโต 20-25% และเบี้ยประกันวินาศภัยเติบโต 30-35% มุ่งขยายสาขา รวมถึงทดสอบผลิตภัณฑ์สินเชื่อและประกันภัยใหม่ๆ" นายปิยะศักดิ์กล่าว

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 นั้น TIDLOR มีกำไรสุทธิ 981 ล้านบาท เติบโต 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า และมีรายได้รวม 3,616 ล้านบาท เติบโต 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งปีแรกของปีนี้มีกำไรสุทธิ 1,921 ล้านบาท เติบโต 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การเติบโตของสินเชื่อ MTC เด่น 

บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ซื้อ ลด TP เป็น 55 บาท เหตุต้นทุนสินเชื่อสูงขึ้น คาดว่า MTC จะโชว์พอร์ตสินเชื่อที่เติบโตแข็งแกร่ง แต่จะมาพร้อมกับต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น เนื่องจากลูกค้าของบริษัทเป็นผู้มีรายได้น้อย น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากต้นทุนสินเชื่อ และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น คาดว่า MTC จะปรับขึ้นดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อจำนำทะเบียนเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ในปี 2566 พร้อมลดคาดการณ์กำไรปี 65-66 ลง เพื่อสะท้อนต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น คงแนะนำ "ซื้อ" ลดราคา เป้าหมายลงจาก 58 บาทเหลือ 55 บาท (P/BV ปี 65 ที่ 3.9 เท่า P/E 21 เท่า และ ROE ระยะยาว 21.9%)

ทั้งนี้ MTC อวดกำไรไตรมาส 2 ปีนี้ที่ 1.38 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนแต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน จาก NII และต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น เป็น 1.07 แสนล้านบาท ขณะ NIM ลดลง 20bp จากไตรมาสก่อน เป็น 15.3% จากผลตอบแทนเงินกู้ที่ลดลง Non-NII ลดลง 2% จากค่าธรรมเนียมการจัดเก็บหนี้ใหม่ ส่วน Opex เพิ่มขึ้น 15% จากค่าใช้จ่ายในการ ขยายสาขา จึงคงเป้าสินเชื่อโต 30-35% ปรับอัตราส่วน NPL เป็น 2.5% จาก 2.0% เนื่องจากลูกค้าได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ MTC ตั้งสำรอง 524 ล้านบาท และตัดจำหน่าย NPL 300 ล้านบาทในไตรมาส 2 ส่วนในอนาคต คาดว่าต้นทุนสินเชื่อจะอยู่ที่ 2.0% ในครึ่งปีหลัง และอัตราส่วน NPL จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.30% ในปี 2565 จาก 1.97% ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ MTC วางแผนที่จะเพิ่ม NPL coverage เป็น 100% พร้อมลดคาดการณ์ EPS ปี 65-66 ลงจากต้นทุนสินเชื่อที่สูงขึ้น และคาดว่ากำไรจะเติบโต 14% และ 20% ปีนี้และปี 66

บล.ฟิลลิป แนะนำ "ซื้อ" หุ้น MTC ให้ราคาเป้าหมาย 53.50 บาท/หุ้น ของ MTC ยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ยังคาดหวังการเติบโตของสินเชื่อที่โดดเด่นได้ต่อ โดยทาง MTC ยังคงเป้าการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ ที่ 30-35% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตแล้วถึง 17% ytd ทางฝ่ายได้ปรับลดประมาณการกำไร และราคาพื้นฐานลงเหลือ 53.50 บาทยังคงมีส่วนต่างจากราคาหุ้นปัจจุบันพอสมควร

บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำ "BUY" หุ้น MTC ให้ราคาเป้าหมาย 61 บาท/หุ้น เพราะ Top line ได้ตามเป้า Bottom line ต้องลุ้น มั่นใจสินเชื่อทั้งปี 65 ทำได้ตามเป้าโต 30-35% หลังครึ่งแรกปี 65 สินเชื่อโตสูงถึง 34.5% ส่วนรายได้ดอกเบี้ยยังโตสูงตามสินเชื่อ แต่กำไรถูกกดดันจากสำรองที่สูงขึ้นตามหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงปรับประมาณการกำไรปี 65 ลง สะท้อนสำรองที่ต้องตั้งสูงขึ้น แต่เชื่อกำไรทั้งปียังโตดี 15% เทียบปีก่อน ขณะราคาหุ้นอ่อนตัวลงมาสะท้อนปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไประดับหนึ่งแล้ว เป็นโอกาสเข้า “ซื้อลงทุน” เชื่อกำไรปีนี้ยังโตโดดเด่น ยังชอบ MTC ถือเป็นผู้นำในกลุ่มจำนำทะเบียนที่มีความสามารถการทำกำไรสูงสุด

นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ MTC เผยว่ากลุ่มบริษัทคาดการณ์ผลการดำเนินงานงวดครึ่งหลังของปี 65 จะขยายตัวต่อเนื่อง เพราะไตรมาส 3 เข้าสู่ฤดูเพาะปลูกของเกษตรกรไทย ทำให้ต้องการเงินสำหรับการซื้อวัตถุดิบต่างๆ เพื่อการเกษตร ประกอบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว-บริการที่สามารถฟื้นตัวได้ดี กลุ่มบริษัทจึงมั่นใจว่าทั้งปี 65 นี้ พอร์ตสินเชื่อรวมจะเติบโตได้ 30-35% จากปีก่อนตามที่ตั้งเป้าไว้

ทั้งนี้ บริษัทยังคงกลยุทธ์การขยายสาขาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป้า ณ สิ้นปีนี้สาขาจะเพิ่มเป็น 6,500 สาขา ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และจะควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับต่ำได้ ขณะพอร์ตสินเชื่อไตรมาสนี้อยู่ที่ 105,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีรายได้ดอกเบี้ยสินเชื่อและสัญญาเช่าซื้อเพิ่มขึ้น 25.3% หรือที่ 4,617 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี แม้เทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส และแบบงวดปีต่อปีจะมีสัดส่วนสูงขึ้น แต่เป็นการเร่งตัวขึ้นสอดคล้องกับพอร์ตสินเชื่อที่เติบโต และเบื้องต้นบริษัทคาดว่า NPL จะเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องทั้งไตรมาส 3 ปีนี้ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 4 จากนั้นจะเริ่มอ่อนตัวลง ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 5-8% และเม็ดเงินใหม่จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวสูง จะเป็นปัจจัยเสริมให้ลูกค้ายังคงสามารถผ่อนชำระค่างวดได้ต่อเนื่อง 










กำลังโหลดความคิดเห็น