กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ภายหลังการยกเลิกมาตรการและหลักเกณฑ์สําหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร (mobility restrictions) อย่างไรก็ตาม ศักยภาพในการเติบโตและการฟื้นตัวของธุรกิจยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยในเดือนกรกฎาคม 2565 อัตราเงินเฟ้อในไทยอยู่ที่ 7.61% ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศลดลงอย่างมาก โดยผู้ประกอบการได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้จากดัชนีราคาผู้บริโภค (PPI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.2% ทั้งนี้ แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ในปี 2565 ต้นทุนผันแปร (variable cost) หลายตัวได้ปรับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากช่วงอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะต้นทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม บริษัทอุตสาหกรรมทุกแห่งต้องมีมาตรการเฉพาะกิจเพื่อสำรองกระแสเงินสดและรายได้ ในกรณีที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าว บริษัทฯ ยังคงประสบความสำเร็จในการรักษาความสามารถในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/ 2565
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยบันทึกรายได้จากการขาย 12.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 21% โดยมีรายได้รวมจำนวน 13.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากไตรมาส 2 ปี 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในภาพรวมปริมาณการขายในบางกลุ่มผลิตภัณฑ์ลดลง แต่ชดเชยด้วยราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 รายได้จากการขายอยู่ที่ 25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 28.6% และ 22% ตามลำดับ โดยอัตราดังกล่าวยังคงต่ำกว่าในไตรมาส 2 ปี 2564 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นก่อนการปรับขึ้นของราคาขายผลิตภัณฑ์
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีผลประกอบการที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2565 โดยมีอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรจากการดำเนินธุรกิจปกติเพิ่มขึ้นเป็น 27.4% และ 20.2% ตามลำดับ จากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 กำไรขั้นต้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยอยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาส 1 ปี 2565 และมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจปกติอยู่ที่ 2.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% จาก ไตรมาส 1 ปี 2565 และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในครึ่งปีแรก 2565 อยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.6% จากครึ่งปีแรก 2564
การเติบโตของกำไรที่ยอดเยี่ยม
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ (รวม minority interest or MI ) จำนวน 2.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 และเพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565 ซึ่งคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 19.8% โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 กำไรสุทธิ (รวม MI ) อยู่ที่ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยหากไม่รวม MI กำไรสุทธิของบริษัทฯ และบริษัทย่อยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 43% จากช่วงเดียวกันของปี 2564
ฐานะทางการเงินที่มั่นคง
บริษัทฯ ยึดมั่นในคติพจน์ “Cash is King” โดยปัจจุบันได้สำรองเงินสดสภาพคล่องสูงโดยยอมเสียส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย และบริหารระยะเวลาการหมุนเวียนของกระแสเงินสดของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 6 เดือนแรกปี 2565 มีระยะเวลาหมุนเวียนของสินทรัพย์หมุนเวียนสุทธิ (NWC) อยู่ที่ 23.45 สัปดาห์ ดีขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 24.65 สัปดาห์ ในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีระยะหมุนเวียนของเงินสดต่อสินทรัพย์หมุนเวียน (Cash tied to WCA) ลดลงเหลือ 29.4 สัปดาห์ เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 30.9 สัปดาห์ในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา
ณ สิ้นงวด 6 เดือนแรก ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 55 พันล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ (Net interest bearing debt) ต่อกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA (annualized)) อยู่ที่ 3.68 เท่า ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับ 4.02 เท่า ในไตรมาส 1 ปี 2565 และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ (Net interest bearing debt) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Equity) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ 0.91 เท่า ในขณะที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อยอดขายอยู่ที่ 4.94% และมีอัตราความสามารถในการชำระดอกเบี้ยที่ 6.11 เท่า (คำนวณโดยอ้างอิงจากงบกระแสเงินสด) ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
ในขณะที่ธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอยู่ในช่วงมาตรการผ่อนปรนในปัจจุบัน บริษัทฯ คาดว่าแนวโน้มธุรกิจปูนซีเมนต์ยังคงมีเสถียรภาพ และยังมีโอกาสเติบโตต่อไป โดยมีการแข่งขันที่ถูกจำกัดจากผู้ผลิตรายใหญ่เพียง 3 ราย ซึ่งไม่มีการนำเข้าปูนจากต่างประเทศ โดยลูกค้าเม็ดพลาสติกมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับบริษัทฯ มาเป็นเวลายาวนาน ส่วนการขายไฟฟ้าของบริษัทฯ มีข้อตกลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในระยะยาว ดังนั้น Net interest bearing debt / EBITDA ratio ที่ 3.68 เท่า จึงไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากบริษัทฯ มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
ภายใต้มาตรการ ESG บริษัทฯ จะยังคงใช้มาตรการในการบริหารต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม โดยกลยุทธ์การบริหารจัดการดังกล่าวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการสร้างผลกำไรตามการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจ ภายใต้ลักษณะการดําเนินธุรกิจของบริษัทฯ
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ของบริษัทฯ เข้าชมได้ที่เว็บไซต์ www.tpipolene.co.th