xs
xsm
sm
md
lg

"สารัชถ์" ตีคู่เรียลไทม์ "เจ้าสัวเจริญ" เบียดขึ้นอันดับ 1 อภิมหาเศรษฐีไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระแสร้อนแรงของการจัดอันดับมหาเศรษฐีไทยที่ตีคู่ขยับขึ้นแซงกันแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ซึ่งกลายเป็น talk of the town คุยกันสนั่นเมือง หลัง สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีรวยที่สุดในประเทศไทย เบียดแซง "เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี" แห่งอาณาจักรไทยเบฟ และ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งเครือธุรกิจซีพี ลงไปอยู่ลำดับที่ 2 และ 3 ล่าสุด เจ้าสัวไทยเบฟ กลับมาทวงบัลลังก์อภิมหาเศรษฐีไทยคืนอีกครั้ง

ผลจัดอันดับ The World’s Real-time Billionaires โดยเว็บไซต์นิตยสาร Forbes ซึ่งปรับอันดับมหาเศรษฐีไทยตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้เปิดเผยอันดับมหาเศรษฐีไทยโดยปรากฏว่า นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ไต่อันดับขึ้นมาเป็นอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในประเทศไทย จากกการประมวลสินทรัพย์แบบเรียลไทม์ (โดยหากพิจารณาในระดับโลก นายสารัชอยู่ลำดับที่ 162 ของโลก) ซึ่งการเบียดแซงขึ้นมาทิ้งให้ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งอาณาจักรไทยเบฟ ร่วงลงไปอยู่อันดับ 2 ของมหาเศรษฐีแถวหน้าของไทย และ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี ลงไปอยู่อันดับ 3 ของประเทศตามลำดับ (โดยอันดับโลกของ เจ้าสัวเจริญอยู่ที่อันดับ 163 และเจ้าสัวธนินท์อยู่ที่ 164 ของโลก)

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการจัดอันดับอภิมหาเศรษฐีแบบเรียลไทม์ของนิตยสาร Forbes นั้น จะพิจารณาจากความเปลี่ยนแปลงของมูลค่าสินทรัพย์ที่มีการปรับตัวขึ้นลงในแต่ละวัน ซึ่งแปลงสภาพมาจากมูลค่าความมั่งคั่งของเหล่ามหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของโลก โดยตัวเลขมูลค่าทรัพย์สินและอันดับของเศรษฐีแต่ละคนจะมีการอัปเดตความเคลื่อนไหวตลอดทั้งวัน

ขณะเดียวกัน มูลค่าหุ้นของอภิมหาเศรษฐีแต่ละคนจะมีความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ 5 นาที เมื่อตลาดหุ้นในแต่ละประเทศนั้น ๆ เปิดการซื้อขายและการถือครองหุ้นของเจ้าของนั้น ในหุ้นแต่ละตัวแต่ละตลาด (ซึ่งก็คือมหาเศรษฐีนั้น) อย่างไรก็ดีข้อมูลการประมวลผลของ ราคาหุ้นในเว็บไซต์ Forbes อาจคลาดเคลื่อนดีเลย์จากเวลาที่แสดงผลประมาณ 15 นาที

อย่างไรก็ตาม จากอันดับเรียลไทม์ของ Forbes ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวันตามมูลค่าทรัพย์สินซึ่งรวมถึงหุ้น ทำให้อันดับมหาเศรษฐีไทยมีการสลับไปมาหลายครั้งต่อวัน จากราคาหุ้นที่ถือครองมีการปรับตัวขึ้นลง โดยเฉพาะระหว่าง สารัชถ์ กับ เจริญ จนกระทั่งเมื่อตลาดหุ้นปิดการซื้อขายเมื่อช่วงเย็นวันนี้ ปรากฏว่า “เจ้าสัวเจริญ” กลับมาทวงมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ดีหากพิจารณามูลค่าความต่างของสินทรัพย์ระหว่าง เจ้าสัวเจริญ และนายสารัชถ์ ที่ปาดแซงหน้ากันแบบฉิวเฉียดนี้มีมูลค่าห่างกันในระดับไม่กี่สิบล้านดอลล่าร์เท่านั้น เนื่องจาก Forbes ยังคงสงวนข้อมูลความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสินทรัพย์ของอภิมหาเศรษฐีระดับเจ้าสัวต่างๆ ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขความมั่งคั่งอย่างเฉพาะเจาะจง โดยระบุว่า ทั้งคู่มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 1.18 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เจริญกลับมาอยู่อันดับ 162 ของโลก และสารัชถ์ลงไปอยู่อันดับ 163

ล่าสุด ณ วันที่ 18 ส.ค.2565 นายสารัชถ์ มีมูลค่าความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 61 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.52% ถือว่าเพิ่มขึ้นรายวันมากที่สุดในกลุ่ม Top 3 อภิมหาเศรษฐีไทย ขณะที่เจ้าสัวเจริญ มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเพียง 32 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.27% เท่านั้น

ขณะที่เจ้าสัวธนินท์ ซึ่งร่ำรวยที่สุดในลำดับ 3 ของไทยจากการจัดอันดับของ Forbes ซึ่งเปิดเผยว่ามีมูลค่าความมั่งคั่งประมาณ 1.15 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงจากวันก่อนหน้า 65 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.56%

ขณะที่ลำดับมหาเศรษฐีที่รำรวยที่สุดของโลกยังคงเป็นของ "อีลอน มัสก์" ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัทเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 2.684 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากวันก่อนหน้า 0.65% 

ข้อมูลอ้างอิงนิตยสารฟอร์บส THE REAL-TIME BILLIONAIRES LIST 


สำหรับนายสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นบุตรของพล.อ.ถาวร รัตนาวะดี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กับนางประทุม รัตนาวะดี มีชื่อเล่นว่า "กลาง" เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2508 โดยมีพี่ชายชื่อ สาณิต และน้องชายชื่อ สฤษดิ์

นายสารัชถ์ แต่งงานกับ นลินี ตันติสุนทร ลูกสาวของนายรักษ์ ตันติสุนทร คณบดีชาวจีนในจังหวัดตาก มีบุตรด้วยกันสองคนคือ สาริศ และ สิตมน
โดยสารัชถ์ ได้ศึกษาที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โดยเพื่อนร่วมรุ่นเรียกเขาว่า "แย้ม" ศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านการบริหารจัดการวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เมื่อศึกษาจบได้ก่อตั้ง บริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2537 ขณะอายุเพียง 29 ปี โดยสารัชถ์ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ จากนั้นได้จัดตั้งบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้คำนำหน้าว่า "กัลฟ์" เช่น บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2539) บริษัท กัลฟ์ โคเจนเนอเรชั่น จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2539) บริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2540) และ บริษัท กัลฟ์ ไอพีพี จำกัด (ก่อตั้ง พ.ศ. 2547) เป็นต้น รวมถึงบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทยในแง่มูลค่าตามราคาตลาด เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2560 ทำให้สารัชถ์ปรากฏอยู่ในทำเนียบมหาเศรษฐีไทยของนิตยสาร ฟอบส์ ในปี 2561

ปัจจุบันนายสารัชถ์ รัตนาวะดี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ล่าสุดทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 11,733.15 ล้านบาท มูลค่าตามราคาตลาดรวมอยู่ที่ 583,724.21 ล้านบาท ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนสิ้นสุด ณ 30 มิถุนายน 2565 มีรายได้รวม 43,764.34 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,925.29 ล้านบาท และกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.42 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น