วีซ่า ผู้ให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับการชำระเงินในการเดินทางในประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นว่ามากกว่า 3 ใน 5 ของผู้เดินทางโดยสารด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) และรถไฟฟ้าบีทีเอส (63%) เลือกที่จะใช้บัตรเครดิต หรือเดบิตประเภทคอนแทกต์เลสในการแตะเพื่อจ่ายค่าเดินทางในชีวิตประจำวันของพวกเขา นอกจากนี้ เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ขับขี่รถยนต์ (65%) ยังสนใจที่จะใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตประเภทคอนแทกต์เลส “แตะเพื่อจ่าย” ในการชำระค่าผ่านทาง แทนการเติมเงินในบัตรทางด่วนอีกด้วย ระบุข้อดีของบัตรเครดิตและเดบิตประเภทคอนแทกต์เลส คือ ไม่ต้องต่อคิวเติมเงิน ใช้จ่ายได้เร็วและสะดวกยิ่งขึ้นทั้งยังสามารถติดตามยอดการใช้จ่ายได้
น.ส.พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าการทำงานจากบ้านและแบบไฮบริดจะได้รับความนิยมสูงขึ้น แต่การเดินทางยังคงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพฯ และเมื่อบริการขนส่งในเมืองขยายตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะสามารถเดินทางไปมาได้อย่างคล่องตัว ไม่ว่าจะด้วยระบบขนส่งสาธารณะหรือยานพาหนะส่วนตัว ในปัจจุบันอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคและผู้ให้บริการการขนส่งสาธารณะทั่วโลกต่างนิยมใช้คือการแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแบบคอนแทกต์เลส ที่ออกโดยธนาคาร ที่จะช่วยลดขั้นตอนการเดินทางจากที่ต้องเติมเงินใส่บัตรอยู่เสมอ ซึ่งท้ายที่สุดทำให้เดินทางจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อกว่าเดิม”
จากการสำรวจพบว่า สาเหตุหลัก 3 ประการที่ทำให้การใช้บัตรเติมเงินไม่สะดวกสบายสำหรับผู้ใช้มากนัก คือ การเสียเวลาเข้าคิวเพื่อเติมเงิน (30%) สามารถเติมเงินเข้าบัตรได้ที่สถานีเท่านั้น (29%) และไม่สามารถเดินทางได้หากยอดเงินในบัตรไม่เพียงพอ (26%)
ขณะที่ในกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจที่สนใจใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตประเภทคอนแทกต์เลส “แตะเพื่อจ่าย” ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุว่า ข้อดีของการชำระเงินแบบดิจิทัลที่พวกเขาชื่นชอบคือ สะดวกและรวดเร็วกว่า (64%) สามารถติดตามการใช้จ่ายได้ (14%) และช่วยลดจำนวนบัตรในกระเป๋าสตางค์ (11%)
โดยผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงสามารถแตะเพื่อจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิตประเภทคอนแทกต์เลสได้แล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยยอดธุรกรรมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นถึง 134% ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ถึงช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 และยังมีบัตรเครดิตของวีซ่าจาก 75 ประเทศเข้ามา “แตะเพื่อจ่าย” สำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถยนต์ยังสามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตประเภทคอนแทกต์เลสของวีซ่า ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางบนทางด่วนทั้ง 6 สายทั่วกรุงเทพมหานครได้ โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2565 ถึงช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 พบว่ายอดการ “แตะเพื่อจ่าย” เพิ่มขึ้นถึง 41%
“เมื่อประเทศไทยเริ่มเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว และชาวไทยเองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะทบทวนในเทคโนโลยีที่เราได้นำเสนอ และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้ผู้คนทั้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกราบรื่นและปลอดภัยยิ่งขึ้น วีซ่ามีเป้าหมายในการนำเสนอโซลูชันชำระเงินใหม่ๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไป”