ราคาหุ้น 3 บริษัทใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังเขียวใส แม้บางแห่งแจ้งผลงานQ2กำไรลดลง หุ้น เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ฯ พุ่งทันที หลังมีกำไร 4,263 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157.6% เพราะกำไรขั้นต้นพุ่งและการเติบโตของรายได้ทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์สูง แถมไตรมาส 3 เป็นไฮซีซัน ส่วน ฮานาฯ แม้กำไรตก ราคายังบวกต่อเนื่อง สวนทาง เคซีอีฯ ที่ ราคาร่วงหนัก หลังตัวเลขกำไรตก เหตุช่วงหยุดยาวและปัญหาการขาดแคลนตู้คอนแทนเนอร์ อีกทั้งส่วนผสมผลิตภัณฑ์และการล็อกดาวน์ในจีน กูรูมองแค่ปัจจัยลบระยะสั้น เชื่อช่วงยาวฟื้นตัวดีเพราะแนวโน้มธุรกิจแกร่ง และการฟื้นตัวของชิ้นส่วนพุ่งรับดีมานด์ แนะให้ซื้อ DELTA ที่ 424 บาท ส่วน KCE ราคาเป้าหมายช่วง 58-76 บาท และ HANA ที่ 47-57.50บาท
งบการเงินไตรมาส 2 ปีนี้ของ 3 บริษัทที่ถือว่าเป็นพี่ใหญ่ของหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่แจ้งออกมามีเพียงบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA ที่มีกำไรทะยาน ส่วน HANA หรือ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) และบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) กำไรตก
ผลจากตัวเลขงบการเงินดังกล่าวในวันประกาศงบการเงิน ทำให้ราคา DELTA พุ่งและการซื้อขายกลับมาคึกคักอีกครั้งราคาหุ้นปิดที่ 474.00 บาท เพิ่มขึ้น 106.00 บาท หรือ 28.80% ขณะที่ HANA แจ้งว่ากำไร 244.95 ล้านบาท ลดลงจากงวดนี้ปีก่อนที่ทำไว้ 736.77 ล้านบาท แต่ราคาหุ้น HANAวันที่แจ้งงบคือ 11 ส.ค. กลับไม่ได้ติดลบ ตรงกันข้ามยังคงปิดบวกที่ 44.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาทหรือ 3.49% และยังคงบวกต่อเนื่อง สวนทางกับ KCE วันแจ้งงบ 9 ส.ค. ราคาหุ้นปิดลบที่ 62.50 บาท ลดลง 1.50 บาทหรือ 2.34% และ 10 ส.ค. จนราคาดิ่งลงปิดที่ 57.50 บาท ลดลง 5 บาท หรือลดลง 8%
ขณะราคาหุ้นทั้ง 3 ตัวล่าสุด 16 ส.ค. DELTA ปิดที่ 590.00 บาท เพิ่มขึ้น 40.00 บาท หรือ 7.27 % มูลค่าซื้อขาย 4,175.18 ล้านบาท HANA ปิดที่ 47.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท หรือ 1.08% มูลค่าซื้อขาย 509.47 ล้านบาท และKCE สัปดาห์นี้ฟื้นคืนมายืนแดนบวกแล้วปิดที่ 58.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาทหรือ 0.87 % มูลค่าซื้อขาย 627.11 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ฯหลายสำนัก ออกมาประเมินว่าหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะตัวหลักๆ ทั้ง 3 ตัวนี้ แนะนำให้เก็บเข้าเพราะมองว่าผลประกอบการสดใสไปอีกยาว อานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง อีกทั้งภาวะของการขาดแคลนชิปช่วงที่ผ่านมานั้นดีขึ้นและจะเริ่มกลับสู่ปกติได้ในไม่นานนี้ รวมถึงดีมานด์ของชิ้นส่วนฯที่มีมากขึ้นตามการฟื้นตัว ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแทบทุกประเทศทั่วโลกที่ค่อยๆกลับสู่ปกติ หลังมีวัคซีนโควิด
KCE ระยะยาวฟื้นตัวดี แนวโน้มธุรกิจแกร่ง
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้าฯ แนะนำ "BUY" หุ้น KCE ให้ราคาเป้าหมาย 76 บาท/หุ้น เพราะบล.หยวนต้าฯ ามีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยหลังการประชุมนักวิเคราะห์และ ผู้บริหาร KCE เพราะรายได้โต 5% เทียบไตรมาสก่อน ในไตรมาส 3 ปี65 และ GPM ทยอยฟื้นตัวตาม Raw Material ที่ต้นทุนเริ่มลดลง
อย่างไรก็ดี KCE เลื่อนแผนการขึ้นโรงงานในนิคมโรจนะอีกครั้งจากเดิมครึ่งแรกปี 66 เป็นครึ่งหลังปี 66 ดังนั้น คงคาดการณ์กำไรปกติปี 2565 ที่ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น12% จากปีก่อน และปี 66 ที่ 3.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เทียบปีก่อน บล.หยวนต้าฯ คงคำแนะนำ “ซื้อ” อิงราคาเหมาะสม ณ สิ้นปี2566 ที่ 76.00 บาทต่อหุ้น แม้ว่าระยะสั้นหุ้นยังฟื้นตัวช้าจากแนวโน้มผลประกอบการที่ยังฟื้นตัวได้จำกัดและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยง Recession แต่ในระยะยาวยังชอบจากแนวโน้มธุรกิจที่แข็งแกร่ง
บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ บล.เคจีไอฯแนะนำ "Outperform" ราคาเป้าหมาย 66 บาท/หุ้น หลังจากกำไรสุทธิของ KCE ในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 572 ล้านบาท ลดลงจากทั้งไตรมาสก่อนและปีก่อนเมื่อเปรียบเทียบ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ 15% และต่ำกว่า consensus 20% แต่หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรจากธุรกิจหลักในไตรมาส 2 ปี65 จะอยู่ที่ 602 ล้านบาท กลับเพิ่มขึ้น แต่ต่ำกว่าประมาณการของ บล.เคจีไอฯ10% เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.6% ทั้งนี้ กำไรจากธุรกิจหลักครึ่งแรกปี 65 อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน และคิดเป็น 43% ของประมาณการกำไรเต็มปีของ บล.เคจีไอฯ
ขณะยอดขายเป็นไปตามคาด แต่อัตรากำไรขั้นต้นต่ำเกินคาด เพราะมียอดขายงวดนี้ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น32% จากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามประมาณการ แต่หากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ยอดขายไตรมาสนี้อยู่ที่ 136 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน ทำให้ยอดขายครึ่งแรกของปีที่ 274 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 21% เทียบปีก่อน และคิดเป็น 50% ของประมาณการยอดขายปีนี้ของ บล.เคจีไอฯ
โดย อัตรากำไรขั้นต้นไตรมาสนี้ 22.8% ต่ำกว่าประมาณการที่ 24.4% และ ต่ำกว่าสมมติฐานปี 2565 ของ บล.เคจีไอฯที่ให้ไว้ 27.0% ทั้งนี้ สัดส่วน SG&A ต่อยอดขายในไตรมาสนี้อยู่ที่ 9.6% ลดลงจาก 12.9% จากปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าคาดที่ 10.5% ขณะที่ KCE ยังจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 ที่ 1 บาท/หุ้น และกำหนดจ่ายวันที่ 9 กันยายนนี้จากการที่อัตรากำไรขั้นต้นต่ำอาจจะต่ำกว่าที่คาดไว้ จะถูกชดเชยไปบางส่วนด้วยค่าใช้จ่าย SG&A ที่ต่ำกว่าที่คาด และจะหนุนให้ผลประกอบการปีนี้เป็นไปตามประมาณการของ บล.เคจีไอฯ ยังคงมองบวกกับ KCE จากการที่บริษัทเกาะตามกระแสโลกได้ ดังนั้น จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยประเมินราคาเป้าหมายสิ้นปี 2565 ที่ 69.00 บาท อิงจาก PER ที่ 30.0x (+0.5 S.D.)
บล.ทรีนีตี้มองว่า KCE แจ้งกำไรไตรมาส 2 เหลือเพียง 572 ล้านบาท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับทั้งปีก่อนและไตรมาสก่อน โดยกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ราว 9.5 ล้านบาท และขาดทุนจากเงินลงทุนราว 39 ล้านบาท ดังนั้นกำไรปกติจะอยู่ที่ราว 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งเทียบไตรมาสก่อนและปีก่อน
โดยรายได้ในรูปเงิน USD อยู่ที่ 136 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน แต่ลดลง 1.2% จากไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จาก Product Mix ที่เป็น Special grade มากขึ้น ขณะที่ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องด้วยไตรมาส 2 เป็นช่วงหยุดยาวและ ปัญหาการขาดตู้คอนแทนเนอร์ยังคงอยู่ ทำให้บริษัทมีการเลื่อนส่งสินค้า ส่วน Margin อยู่ที่ 22.8% ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างมากทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และราคาวัสดุสิ้นเปลืองเพิ่ม ซึ่งจะปรับประมาณการใหม่หลังการประชุมนักวิเคราะห์กลางเดือนสิงหาคมนี้ และแนะนำ "ถือ" ราคาเป้าหมาย 63 บาท/หุ้น
บล.เคทีบีเอสที แนะนำลงจาก “ถือ” จากเดิม "ซื้อ" หุ้น KCE ให้ราคาเป้าหมาย 65 บาท/หุ้น อิง 2022E PER30.0x
(+0.25SD above5-yr average PER) จากเดิม 80.00 บาท จากการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี2022E ลง หลังกำไรไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าตลาดคาดค่อนข้างมาก คือลดลง 17% อยู่ที่ 572 ล้านบาท ซึ่งลดลงทั้งเทียบไตรมาสและปีก่อน จากรายได้และ gross margin ที่ออกมาต่ำกว่าที่ผู้บริหารเคยตั้งเป้าไว้ โดยมีความกังวลโดยเฉพาะส่วนของรายได้สกุล USD ที่ออกมาต่ำกว่าคาด โดยทรงตัวจากประเด็นของกำลังการผลิตใหม่ที่ได้รับผลกระทบไปช่วงไตรมาส 4 ปี 64 และไตรมาสแรกปี 65 ซึ่งผู้บริหารแจ้งว่าไตรมาส 2 ปี 65 สามารถ run ได้ในระดับ 80% จะทำให้ยอดขายไตรมาสนี้เติบโตได้เมื่อเทียบไตรมาสก่อน
ดังนั้น จึงคงคำแนะนำ "HOLD"หุ้น KCE และปรับราคาเป้าหมายลง 58 บาท/หุ้น อิง 2022E PER 27.5x(5-yr average PER)จากเดิม 65.00 บาท เพราะปรับ PER ลงเพื่อสะท้อนความเสี่ยงของธุรกิจที่มากขึ้น ขณะที่ปรับกำไรสุทธิลงเล็กน้อย และ ประเด็นเกี่ยวกับคำสั่งซื้อที่เริ่มชะลอตัวจากฝั่ง EU และUS จากอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการก่อสร้างโรงงานโรจนะเลื่อนออกไปอีก 4-6 เดือนจากปัญหาเกี่ยวกับราคาการก่อสร้าง ขณะที่ผู้บริหารคาดปี 66 E รายได้จะเติบโต 10-15% (base case =10%) และ gross margin อยู่ที่25-26%
สำหรับ guideline ปี 65 E ดู soft ลงโดยเฉพาะจากส่วนของ Gross margin ที่ปรับประมาณการลง จากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงจึง ปรับประมาณการกำไรสุทธิปีที่ 2.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน จากสมมติฐานปรับประมาณการรายได้สกุล USD ปี 65E/66E ลง 2% และ 6% จากความเสี่ยงของคำสั่งซื้อที่เริ่มชะลอตัว และแผนขยายกำลังการผลิตของโรงงานโรจนะที่เลื่อนออกไป จึงคงประมาณการ gross marginปี 65E/66E อยู่ที่ 24 % และแนะนำ “ถือ” จากแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทที่ไม่เติบโตโดดเด่น แต่ค่อยๆ เริ่มดีขึ้นช่วงครึ่งปีหลังเพราะบริษัทรับรู้ ปัจจัยลบไปมากแล้ว
DELTA คึกยาว รับ Q3 ไฮซีซัน
แม้จะถูกคัดชื่อ ออกจาก SET100 หรือแม้แต่ข่าวการเจรจาการค้าระหว่างจีนและไต้หวัน ซึ่งทาง จีนก็งัดมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อตอบโต้การค้า กับไต้หวัน หลายฝ่ายมองแบบหวั่น ๆ ว่าจะกระทบอุตสาหกรรมชิป ซึ่งหากจีนงดส่งย่อมกระทบกับผู้ผลิต ซึ่ง DELTA ก็มีฐานการผลิตที่ไต้หวัน แต่นั่นทำให้ราคาหุ้น DELTA รับผลบ้างแต่ท้ายที่สุด ราคาหุ้น DELTA ก็ยังคงแข็งแกร่ง
โดยเฉพาะหลังจากประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปีนี้ DELTA มีกำไรสุทธิ 4,263 ล้านบาท พุ่งถึง157.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,655 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 7,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 3,412 ล้านบาท เพราะยอดขายสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น 35.7% อยู่ที่ 28,004 ล้านบาท เป็นผลมาจากส่วนงานเพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตแข็งแกร่ง จากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Data Center, Server & Cloud Storage โดยเฉพาะเพาเวอร์ซัปพลายที่มีการออกแบบเฉพาะ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังไฟฟ้าที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 7,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% จากการเติบโตของรายได้ในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์
นั่นจึงทำให้ ราคาหุ้น DELTA ดีดรับข่าวผลประกอบการทันทีของการซื้อขายวันที่ 27 กรกฎาคม โดยทะยานขึ้นไปปิดที่ 474 บาท เพิ่มขึ้น 106 บาท หรือเพิ่มขึ้น 28.80% และเคาะซื้อขายกันสนั่นมูลค่า 6,502.12 ล้านบาท ซึ่งการปรับตัวขึ้นแรงของ DELTA ผลักดันดัชนีฯพุ่งแรงตาม เพราะ DELTA เป็นหุ้นขนาดใหญ่ มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีฯสูง เพราะมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เกตแคปหุ้น DELTA มี 673,586.07 ล้านบาท คิดเป็น 2.86% ของมาร์เกตและหากคิดตามสัดส่วนของมาร์เกตแคป หุ้น DELTA จะมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีถึง 45.79 จุด
บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 3/2565 ของ DELTA จะดีต่อเนื่อง เพราะเป็นไฮซีซันของธุรกิจและค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง จึงปรับเพิ่มกำไรสุทธิปี 2565 ขึ้น 37.5% เป็น 1.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 108.3% จากปีก่อน
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) ปัจจุบันราคาหุ้น DELTA ซื้อขายกันที่ P/E ระดับ 65.69 เท่า เทียบกับ P/E ตลาดโดยรวมที่ระดับ 18.28 เท่า ถือว่าราคาซื้อขายสูงกว่าตลาดหลายเท่าตัว เช่นเดียวกับ P/BV ที่ระดับ 14.64 เท่า ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดที่ปัจจุบันซื้อขาย P/BV เฉลี่ยที่ 1.69 เท่า
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) แนะนำ "TRADING" หุ้นDELTA ให้ราคาเป้าหมาย 424 บาท/หุ้น ต่อหุ้น (อิงPER 52x,+0.5SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) หลังจาก DELTA รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 2 ที่ 4.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.4% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 157.6% เทียบจากปีก่อน แต่หากตัดรายการพิเศษ กำไรปกติจะอยู่ที่ 3.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.2% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 173.5% เทียบปีก่อน ซึ่งกำไรปกติสูงกว่าที่เราและตลาดคาด หนุนจากยอดขายสกุลเงินUSD ที่เติบโตเด่นและอัตรากำไรขั้นต้นที่ทำได้ดีกว่าคาด ดังนั้น จึงปรับเพิ่มประมาณการปี 2565/66 เป็น 1.0 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 67% จากปีก่อน และ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เทียบปีก่อน ตามลำดับหลักๆ จากการปรับสมมติฐานค่าเงินบาท/USD และการปรับอัตรากำไรขั้นต้น
HANA ดีมานด์สินค้ากลุ่ม IC พุ่ง -มาร์จิ้นโต
บล.ฟิลลิป แนะนำ "ทยอยซื้อ"หุ้น HANA ให้ ราคาเป้าหมาย 47 บาท/หุ้น เพราะไตรมาส 2 กำไรไม่แย่มากนักและยอดขายอยู่ที่ 186 ล้านเหรียญ ลดลง4% จากปีก่อน โดย PCBA ลดลง8% (LP-12%, JXG +5%), IC -1% (AYT ทรงตัว, JXG -9%) และ HTI +13% แต่เทียบไตรมาส เพิ่มขึ้น 1% PCBA -5% (LP -9%, JXG +13%), IC +8% (AYT +9, JXG +2%) และ HTI +15% โดยยอดขายไม่ได้ลดลงอย่างที่เคยคาด อีกทั้งยังได้ส่วนช่วยจากเงินบาทอ่อนค่าและสัดส่วนการขายสินค้ากลุ่ม IC เพิ่มขึ้น ส่งผลให้margin เพิ่มเป็น 13.7% จาก 10.8% ในไตรมาสแรกปี 65 แต่ลดจาก16.8% ในไตรมาส 2 ปี64 เนื่องจากรับผลขาดทุนจากโรงงาน PMS (เกาหลี) 105 ล้านบาท เข้ามา แต่หากค่าใช้จ่ายขายและบริหาร เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน จากค่าใช้จ่ายของ PMS รวมเข้ามา โดยกำไรก่อนรายการพิเศษอยู่ที่ 603 ล้านบาท ลดลง 22% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 51% จากไตรมาสก่อน แต่มีรายการพิเศษ 358 ล้านบาท (ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 326 และขาดทุนอื่น ๆ 32 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิเหลือเพียง 245 ล้านบาทหรือลดลง 67%จากปีก่อนและลดลง 33% จากไตรมาสก่อน
บล.พาย แนะนำ "BUY" หุ้น HANA ให้ราคาเป้าหมาย 57.50 บาท/หุ้น หลังกำไรไตรมาส 2 อยู่ที่ 244 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน นับว่าต่ำกว่าคาด เพราะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน แต่เชื่อว่าประเด็นเหล่านี้คือปัจจัยระยะสั้น และคาดว่ากำไรปกติของบริษัทยังมีทิศทางที่ดี ทั้งนี้ บริษัทจะจัดประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 18 ส.ค. คาดว่าจะยังคงคำแนะนำเดิมแต่อาจปรับลดประมาณการกำไรและมูลค่าพื้นฐานปี 65 ลงเล็กน้อย เพราะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
หากไม่รวมรายการนี้้ กำไรปกติจะอยู่ที่ 597 ล้านบาท หรือลดลง 23% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 50% จากไตรมาสก่อน ซึ่งโตขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่ปรับมาอยู่ที่ 13.7% ส่วนรายได้เติบโตขึ้นแตะ 6.4 พันล้านบาท ทั้งเทียบไตรมาสและปีก่อน ผลจากเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่วนในเชิงไตรมาส ได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการเติบโตของกลุ่มแผ่นวงจรรวม (IC) ในไทย
ขณะที่แง่สกุลเงิน USD ยอดขายอยู่ที่ 186 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนแต่ทรงตัวจากไ ตรมาสก่อน เชื่อว่ายอดขายที่ลดลง เป็นผลจากส่วนผสมผลิตภัณฑ์และการล็อกดาวน์ในจีนมากกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์ ส่วน GPM อยู่ที่ 13.7% ที่ลดลงจากปีก่อน เพราะการปรับสินค้าคงคลังมูลค่า 105 ล้านบาท ส่วนการเติบโตจากไตรมาสก่อนเพราะส่วนผสมผลิตภัณฑ์และต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ทำให้คาดผลงานครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากการเติบโตของยอดขายและ GPM