หุ้นปลอดภัยที่ยังสามารถเลือกลงทุนได้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังแนนซี เพโลซี เยือนไต้หวันในช่วงค่ำวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา
บล.เอเซียพลัส แนะเล่นหุ้นกลุ่มปลอดภัย HELTH-TRANS-BANK-FIN รับมือความขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีนรอบใหม่ อีกทั้งเตรียมพร้อมรับมือความเสี่ยงช่วงตลาดมีแรงกดดัน เชียร์ BEM และ BAM เป็นหุ้นเด่น ขณะที่ประเมินผลกระทบต่อไทย มองกรณีเลวร้าย น่าจะมีความเสี่ยงที่จะทําให้การค้าระหว่างประเทศสะดุด เหตุโครงสร้าง GDP ราว 68% มาจากภาคการส่งออก เพราะไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนมากที่สุด 22% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า ความกังวลความขัดแย้งสหรัฐฯ กับจีนกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ เพราะหากประเด็นดังกล่าวยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ประเด็นการยกเลิกกำแพงภาษียืดเยื้อออกไปได้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีโอกาสพลิกกลับมาผันผวนอีกครั้ง
ดังนั้น ฝ่ายวิจัยฯ จึงทำการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวในช่วงที่ตลาดเกิดแรงกดดันจากการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ในทุกๆ รอบ กดดัน SET Index มีการปรับฐานเฉลี่ยราว -10% ต่อรอบ พร้อมกับ Fund Flow ที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในระดับเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท/รอบ มีรายละเอียดดังนี้
- การขึ้นภาษีรอบที่ 1-2 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท (กดดันตลาดเดือน พ.ค.-มิ.ย.61) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -10.4%
- การขึ้นภาษีรอบที่ 3 วงเงิน 2.0 แสนล้านบาท (กดดันตลาดเดือน ต.ค.-ธ.ค.61) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -11%
- การขึ้นภาษีรอบที่ 4 วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท (กดดันตลาดเดือน ส.ค.-ธ.ค.62) SET Index ปรับตัวลงเฉลี่ย -8.1%
*** ชี้กลุ่ม HELTH, TRANS, BANK, FIN ยัง Outperform
ทั้งนี้ หากพิจารณเป็นราย Sector พบว่า หลายๆ Sector ส่วนใหญ่ถูกกดดันแรงกว่าตลาด แต่ยังมีกลุ่มที่ Outperform อยู่ เช่น HELTH, TRANS, BANK, FIN เป็นต้น
มองผลกระทบต่อไทย เสี่ยงทำการค้าระหว่างประเทศสะดุด
นอกจากนี้ กระแสสงครามจีน-สหรัฐฯ ทําให้สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนในไต้หวัน เป็นเรื่องที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไป ซึ่งอาจสร้าง Downside ในเชิงเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังจากที่ IMF เพิ่งปรับลดคาดการณ์ World GDP Growth ปี 2565 จาก 3.6% มาอยูที่ 3.2% ซึ่งถือว่าอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ World Bank และ OECD ที่ปรับลดมาก่อนหน้านี้
ขณะที่ผลกระทบต่อประเทศไทยกรณีเลวร้าย น่าจะมีความเสี่ยงที่จะทําให้การค้าระหว่างประเทศสะดุด ขณะที่บ้านเราโครงสร้าง GDP ส่วนราว 68% มาจากภาคการส่งออก โดยไทยมีสัดส่วนการค้ากับจีนมากที่สุดราว 1.28 แสนล้านเหรียญในปี 2021 หรือคิดราว 22% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด และสหรัฐฯ มีสัดส่วนการค้ากับไทยอันดับที่ 3 ราว 6.1 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของประเทศคู่ค้าทั้งหมด โดยหากรวมสัดส่วนการค้าทั้ง 2 ประเทศอยู่ที่ 33% หรือ 1 ใน 3 ของประเทศคู่ค้าทั้งหมดของไทย