นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยในงานสัมมนา "จัดทัพลงทุนฝ่าวิกฤตเงินเฟ้อ" เรื่อง "เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยขึ้น จะอยู่รอดและเติบโตกันอย่างไร" ว่า จากที่ก่อนหน้านี้การลงทุนต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดี อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องเต็มระบบ และการซื้อขายในตลาดหุ้น สินทรัพย์ต่างๆ มีความคึกคักมากนั้นได้จบลงไปแล้วเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา
ขณะที่ปัจจุบันอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน หรือรูปแบบของเศรษฐกิจที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะมีความผันผวนค่อนข้างมากและคาดว่าจะกินระยะเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี โดยระยะเวลาผ่านมาแล้วประมาณครึ่งปี เหลืออีกราวปีครึ่ง-2 ปีครึ่ง ขึ้นกับการดำเนินนโยบายทางการเงินต่างๆ ของทั่วโลกที่จะส่งผลให้รูปแบบการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นกัน
สถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทั่วโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะทำจุดสูงสุดในช่วงครึ่งหลังของปี 65 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงมา โดยปัจจุบันมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากราคาน้ำมันที่ราคาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในครั้งนี้
ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ที่ระดับ 94-100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ได้ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ต้นทุนการก่อสร้าง การผลิต และอาหารปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน จะเป็นปัจจัยที่ลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้ออีกด้วย
สำหรับเงินเฟ้อของไทย อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 2.5% เป็นผลทำให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่าเงินเฟ้อของประเทศไทยยังสามารถรับได้ ขณะที่เงินเฟ้อที่เกิดจากราคาน้ำมันนั้น หากราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลงเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยกลับเข้าสู่ระดับปกติที่ 3-4% ถือว่าเป็นระดับที่รับได้ จะส่งผลให้ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยของไทยและประเทศสหรัฐฯ ต่างออกไป เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ อยู่ที่ 6%
ด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยของโลกยังต้องติดตามจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังยืนยันว่าจะต้องดำเนินการเพื่อที่จะให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมาให้ได้ โดยคาดว่าเฟดอาจจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 5.25-6.50% เพื่อกดเงินเฟ้อลงมา ซึ่งหากเกิดขึ้นในรูปแบบนี้จริงตลาดจะต้องมีการปรับมุมมองอีก
สำหรับเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอยในขณะนี้เป็นเป็นภาวะถดถอยทางเทคนิคเท่านั้น แต่การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริงนั้นยังต้องใช้ระยะเวลา เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืน ยกเว้นแต่ว่าเกิดโรคระบาด หรือสงครามเท่านั้น จึงมองว่าเฟดจะยังคงดำเนินการตามแผนในการปรับขึ้นดอกเบี้ย และเร่งดูดสภาพคล่องออกจากระบบ
ผลกระทบที่มีต่อตลาดพันธบัตรรัฐบาลของไทย อายุ 2 ปี และ 10 ปี รวมถึงหุ้นกู้ของไทยนั้น ทำให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยหากมองในมุมของ ธปท.คาดว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาที่ระดับ 1.25% เป็นการทยอยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ซึ่งในอดีตเคยปรับดอกเบี้ยลงไปต่ำที่สุดที่ 1.25% แต่ครั้งนี้มีลงไปต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ซึ่งขณะนี้วิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด และเศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างการฟื้นตัว
"หลังจากนี้กรุณารัดเข็มขัดเพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ทั้งวิกฤตความขัดแย้งระหว่างประเทศ วิกฤตราคาพลังงาน วิกฤตอาหารโลก ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลก เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย และโอกาสเกิดวิกฤตในประเทศเกิดใหม่ หมายความว่าอีก 2-3 ปีนี้ไม่ง่าย" นายกอบศักดิ์ กล่าว
นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงกรณีการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่ามีนัยสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดก่อนหน้านี้ ซึ่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้กล่าวว่าหากจีนส่งกองทัพเข้าไปยังไต้หวัน สหรัฐฯ จะส่งกองทัพเข้าไปปกป้อง
ก่อนที่นางแนนซี เพโลซี เดินทางถึงไต้หวัน โฆษกของรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมากล่าวว่า จีนไม่ควรจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นการเผชิญหน้า เหมือนเป็นการกล่าวหาว่าจีนจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นวิกฤต ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน จึงมองว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดเหตุการณ์
"จีนมีเงินจากต่างประเทศอยู่ในนั้นเยอะมากๆ ขณะเดียวกัน จุดศูนย์กลางของโลกที่ทุกอย่างผลิตที่เมืองจีน หากทะเลาะกันจะเกิดอะไรขึ้น หากมีปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นจะมีปัจจัยอื่นๆ ตามมามมาอีก ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือจีนถือพันธบัตรของสหรัฐฯ สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องคิดมาดีแล้วเพราะจีนมีความสำคัญขนาดนี้การที่ไปยั่วยุคนที่มีขนาดใหญ่ขนาดนั้น" นายกอบศักดิ์ กล่าว