สีลม ถนนที่ไม่เคยหลับใหล กำลังจะกลับมาทวงคืนความรุ่งเรืองอีกครั้ง หลังจากในรอบหลายปีที่ผ่านมาจะถูกถนนสุขุมวิทแย่งซีนความเป็นศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) ไป แต่วันนี้ สีลม กับโฉมหน้าใหม่กำลังหวนกลับคืนมาอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากเจาะทำเล “สีลม” แล้ว ถูกยกชั้นให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจ และที่อยู่อาศัยกลางเมือง ที่กำลังจะกลับมาสร้างความคึกคักอีกครั้ง จากทุนใหญ่ ดุสิต นายณ์ เอสเตท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล และเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ผุดโปรเจกต์หมื่นล้านกลางกรุง พร้อมแรงหนุนจาก “สมาคมเรารักสีลม” กลุ่ม 13 ผู้ประกอบการย่านสีลม สร้างมิติใหม่แห่งการขับเคลื่อน “ชุมชน-เมือง-เศรษฐกิจ” จับมือเติบโตไปด้วยกัน
“สีลม” พื้นที่กลางเมืองที่แวดล้อมด้วยแหล่งงาน ที่พักอาศัย และเศรษฐกิจการค้า แม้ว่าบรรยากาศและความคึกคักในพื้นที่จะได้รับผลกระทบไปบ้างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่จากนี้ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ และสังคม ในด้านศักยภาพของทำเล “สีลม” เป็นหนึ่งในทำเลที่ราคาพุ่งสูงสุด จากประกาศกรมธนารักษ์ ราคาประเมินที่ดิน 2565 พบว่า ถนนสีลม มีราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 700,000-1,000,000 บาท/ตารางวา ส่วนมิติทางสังคม “สมาคมเรารักสีลม” กลุ่มผู้ประกอบการย่านสีลมที่จับมือกันพัฒนาในเชิงพื้นที่มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ระบุว่า สีลม เป็นทำเลที่เหมาะทั้งการอยู่อาศัย การทำงาน และการใช้ชีวิตในสไตล์คนเมือง ด้วยจุดเด่นของพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคม ทั้งระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT โดยจากพื้นที่สีลม สามารถเดินทางสู่ย่านสำคัญต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ยังเป็นทำเลธุรกิจ ที่ตั้งของอาคารสำนักงานชั้นนำที่มีบริษัทที่มีชื่อเสียงตั้งสำนักงานอยู่ และศูนย์กลางด้านการเงิน ซึ่งมีความพร้อมของสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการใช้ชีวิตและทำงานในเมือง
ทั้งนี้ สีลมเป็น 1 ในถนน 3 เส้นแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นสมัยแรกๆ ที่มีชาวต่างชาติเข้ามาค้าขายในประเทศไทย และมีความคุ้นเคยกับถนนสีลมเป็นอย่างมาก อีกทั้งถนนสีลมยังเป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมทั่ว กทม. มีโครงการรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT เชื่อม ประกอบกับในปัจจุบัน มีอาคารสำนักงานเป็นจำนวนมากถึง 43 แห่ง และมีคอนโดมิเนียมทุกระดับ รวมไปถึงคอนโดเทล โรงเรียน 23 แห่ง รีเทล 3 แห่ง และโรงพยาบาล 3 แห่ง ดังนั้น กำลังซื้อในย่านนี้จึงมีอย่างมหาศาล โดยเป็นผู้พักอาศัยในย่านนี้ประมาณ 2.2 แสนคน และคนทำงานในพื้นที่ 3.5 แสนคน
‘สีลม’ ถนนสายเศรษฐกิจที่กำลังจะเปลี่ยนไป
ความคึกคักในพื้นที่ “สีลม” กำลังจะกลับมาภายหลังกลุ่มทุนขนาดใหญ่ประกาศเดินหน้าพัฒนาโครงการ เริ่มที่โครงการพาร์ค สีลม ของบริษัท นายณ์ แอนด์ อาร์จีพี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นการจับมือกันระหว่าง นายณ์ เอสเตท และไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผลักดันโครงการอาคารสำนักงานและร้านค้าเชิงพาณิชย์ พัฒนาภายใต้แนวคิด New Breed of Silom ที่พร้อมให้บริการครบวงจร ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตในการทำงานและไลฟ์สไตล์คนเมืองที่ลงตัว
โครงการ พาร์ค สีลม เป็นอาคารสูง 39 ชั้น มีทั้งส่วนคอมมูนิตีมอลล์ อาคารสำนักงาน และ โค-เวิร์กกิ้ง สเปซ และพื้นที่ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ให้เช่ากว่า 65,000 ตร.ม. มูลค่าลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท พร้อมเปิดให้บริการต้นปี 2565
ที่ดินแปลงหัวมุมถนนสีลมที่เคยเป็นห้างโรบินสันสีลม ได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นโครงการมิกซ์ยูสโฉมใหม่ ภายใต้ชื่อ "สีลมเอจ"
(Silom Edge) ที่จะให้ความสำคัญในฐานะเป็นต้นแบบโครงการ Re-development ที่นำอาคารเก่ามาแปลงเป็นมิกซ์ยูสพันธุ์ใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์แหวกแนว “The new sandbox community in CBD” ปฏิวัติรูปแบบการพัฒนาอาคารแบบเดิมๆ ด้วยการคิดนอกกรอบ ซึ่งถูกพัฒนาโครงการภายใต้บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
โครงการ “สีลมเอจ” แบ่งเป็นสำนักงาน 12,000 ตร.ม. และพื้นที่ค้าปลีกอีก 10,000 ตร.ม. โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท ซึ่งเตรียมเปิดให้บริการกันยายน 2565
ทำเลหัวมุมถนนสีลมที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานี เตรียมเปลี่ยนโฉมพร้อมชื่อใหม่ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โครงการที่ได้ 2 กลุ่มทุนใหญ่ ดุสิตธานี และซีพีเอ็น จับมือร่วมกันพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท ที่ประกอบด้วย โรงแรม ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน พื้นที่ 440,000 ตารางเมตร บนพื้นที่กว่า 23 ไร่ ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมืองด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย มีระดับ จำนวน 230 ยูนิต เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ คนทำงานในเมือง และครอบครัวขนาดเล็ก โดยเป็นอาคารที่พักแบบเช่าสิทธิระยะยาว หรือลีสโฮลด์
ในขณะที่โรงแรมนารายณ์ หนึ่งในสัญลักษณ์ที่ตั้งอยู่บนทำเลทองของสีลม ที่เปิดบริการให้กับนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวมายาวนานกว่า 50 ปี (เปิดบริการตั้งแต่ปี 2511) ล่าสุด ได้เข้าสู่หมวดของการพลิกโฉม เนรมิตที่ตั้งของโรงแรมครั้งใหญ่ โดยทุบโรงแรมและเดินหน้าเข้าสู่การพัฒนาโครงการใหม่มูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเติบโต โดยยังคงเป็นโรงแรมนารายณ์ที่ยังคงเก็บเอกลักษณ์ชื่อเดิม แต่ปรับโฉมเป็นโรงแรมสไตล์ไฮบริดระดับ 4-5 ดาว ขนาดราว 200 ห้องพัก ส่วนอีกโรงแรมจะใช้แบรนด์ระดับลักชัวรี 6 ดาว ที่ได้มีการเจรจากับเชนโรงแรมรายใหญ่ และจะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถนำแบรนด์นี้มาเปิดให้บริการ มีขนาดราว 100-150 ห้องพัก หวังนำมาสู้กับแบรนด์ดังโรงแรมระดับ 6 ดาวที่อยู่ในตลาด
“ส.เรารักสีลม” พลังขับเคลื่อนย่านธุรกิจและชุมชน
การเปิดตัวของบรรดาผู้ประกอบการ 13 รายบนถนนสีลมในชื่อ “สมาคมเรารักสีลม” นับเป็นมิติใหม่ทางสังคมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้เห็นว่าทั้ง 2 มิตินี้สามารถจับมือกันเดินและเติบโตไปพร้อมกันได้
นางอรฤดี ณ ระนอง นายกสมาคมเรารักสีลม และกรรมการบริษัท นายณ์ แอนด์ อาร์จีพี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการ พาร์ค สีลม เปิดเผยว่า เป็นย่านที่มีเอกลักษณ์ และดึงดูดผู้คน 56,000 คนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีอีกประมาณ 60,000 กว่าคนที่โดยสารเส้นทางโดยสาร BTS & MRT ซึ่งยังไม่นับจำนวนนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก ทำให้พื้นที่แหล่งนี้เต็มไปด้วยกิจกรรมและผู้คน
โดยศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่สีลม และศักยภาพของทำเลและย่านนี้ นำมาสู่ไอเดียตั้งต้นและนำไปสู่ความร่วมมือกันจัดตั้ง “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีลม” ขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ สะดวก (Easy) สบาย (Comfortable) ปลอดภัย (Safe) และภูมิทัศน์ (Landscape) จากความร่วมมือของ 3 พันธมิตร คือสมาคมนักผังเมืองไทย สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และสมาคมเรารักสีลม
“เริ่มจากปรับปรุงทางเท้าบริเวณถนนสีลม ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2565 และในอนาคต สมาคมฯ มีแผนพัฒนาในส่วนอื่นๆ เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลาย และตอบสนองต่อกลุ่มคนหลากหลายประเภทในเวลาที่แตกต่างกัน เช่น เล่น @Silom พื้นที่เปิดกว้างให้คนได้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน”
“สมาคมเรารักสีลม” เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ซึ่งประกอบด้วย 13 สมาชิกที่ดำเนินธุรกิจในพื้นที่สีลม ได้แก่ อาคารธนิยะ อาคารลิเบอร์ตี้ ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ คริสเตียน อาคารสีลมเอจ อาคารอาคเนย์ประกันภัย อาคารญาดา กลุ่มดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค อาคารคาราบาว โรงแรมไอบิส ซีพี ทาวเวอร์ และอาคารพาร์คสีลม โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองในย่านสีลม และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการย่านสีลม