ธปท.ระบุเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนฟื้นตัวต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นที่ 7.6 แสนคน ดันจีดีพีไตรมาสที่ 2 ปี โตต่อ คาดทั้งปีระดับ 3.3% เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ธปท.ติดตามอย่างใกล้ชิต
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายนปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าปรับลดลงบ้างหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานในภาพรวมทยอยฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลงตามดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง
รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยปรับดีขึ้นในแทบทุกหมวดยกเว้นการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน เป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตทำให้ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้นตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มากขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนด้านการก่อสร้าง สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจโดยรวม
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อยู่ที่ 767,500 คน ในขณะที่เดือนก่อนอยู่ที่ 600,000 คน เป็นนักท่องเที่ยวในเกือบทุกสัญชาติ จากการที่ภาครัฐยกเลิกการลงทะเบียนเข้าไทยผ่านระบบ Test & Go ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 และอนุญาตให้เดินทางผ่านชายแดนไทยได้มากขึ้น อีกทั้งหลายประเทศต้นทางได้ผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ตามการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับลดลงหลังจากที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ การส่งออกชิ้นส่วนและยานยนต์ปรับลดลงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตของรถยนต์นั่ง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในหลายหมวด เช่น สินค้าเกษตร โลหะ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด เช่น หมวดยานยนต์ หมวดปิโตรเลียม หมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามการผลิตรถกระบะ การผ่อนคลายมาตรการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้าน และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ขณะที่การผลิตหมวดชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลดลง สอดคล้องกับการส่งออกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับลดลง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ทั้งการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นมากและการนำเข้าวัตถุดิบอื่นๆ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายงบกลางเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหา COVID-19 เป็นสำคัญ ส่วนการเบิกจ่ายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมซึ่งได้เร่งไปในช่วงก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นจากเดือนก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันขายปลีกตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลลดลงจากดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงต่อเนื่องสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ
ในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นจากหมวดบริการเป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคบริการฟื้นตัว และการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและเงินโอนภาครัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาอาหารสด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลเพิ่มขึ้นมากจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลง และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้นตามการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของธุรกิจต่างชาติ