ตัวเลขยอดขายรถยนต์ในประเทศเติบโตดี แม้ภาวะชิปขาดตลาดกระทบต่อการผลิตและส่งมอบรถยนต์บางรุ่น อาจฉุดผลงานไตรมาส 2 โบรกฯ มองกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์สู่ความสดใสครึ่งหลังปีนี้เป็นต้นไป ให้คำแนะนำ “เท่าตลาด” ขณะมาตรการรัฐกระตุ้นการใช้ EV “งดเว้นภาษีและให้เงินอุดหนุน” อีกทั้งการเปิดประเทศ เชื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เหตุค่ายรถเร่งผลิต EV ในประเทศเพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น กูรูประสานเสียงหุ้นเด่นในกลุ่ม STANLY, SAT และ AH
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของสมาชิกกลุ่ม ในปี 65 โดยแยกเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก และการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ซึ่งประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 65 ที่ 1,800,000 คัน หรือมากกว่าปี 64 ซึ่งมี 1,685,705 คัน เพิ่มขึ้น 114,295 คัน คิดเป็น 6.78% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1,000,000 คัน เท่ากับ 55.56% ของยอดการผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 800,000 คัน หรือ 44.45% ของยอดการผลิตทั้งหมด
จากตัวเลขดังกล่าว จะเห็นว่าการผลิตเพื่อการส่งออกนั้น เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 956,530 คัน เป็น 43,470 คัน หรือเพิ่มขึ้น 4.54% และส่วนผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ผลิตได้ 729,175 คัน หรือเพิ่มขึ้น 70,825 คัน คิดเป็น 9.71% ขณะที่ยังมีความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กอปรกับการผลิตรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศบางแห่งขาดชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ทำให้ต้องชะลอการผลิตบางรุ่นลงชั่วคราว
ขณะที่โบรกเกอร์ประเมิน หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ได้เวลาสดใส หลังพบยอดต่อเนื่องยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น ถือว่าเติบโตได้ดีจากกิจกรรมต่างๆ ที่ฟื้นตัวทั้งคลายล็อกดาวน์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐที่มีต่อเนื่องและการเปิดประเทศที่ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น แม้ภาวะขาดแคลนชิป และ หุ้นในกลุ่มที่เป็นขวัญใจโบรกเกอร์ส่วนใหญ่เชียร์ AH หรือ บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน), SAT หรือ บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และ STANLY หรือ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และราคาหุ้นบวกลบคึกคักและหวือหวาอยู่บ้างในแต่ละวัน โดยเฉพาะ STANLY ที่ราคาขึ้นลงแรงสุดๆ ตั้งแต่ 3 บาทถึง 8 บาทกว่าๆ ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดและกระแสข่าวในแต่ละวัน
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) หรือ บล.หยวนต้าฯ ประเมินยอดผลิตรถ เดือน พ.ค. ลดลง 7.80% เทียบปีก่อน ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปีนี้คาดผลประกอบการถูกกดดัน จากทั้งปัญหาขาดแคลนชิปและต้นทุนวัตถุดิบขึ้น บล.หยวนต้าฯ คาดปี 2565 อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์เติบโตราว 5% ต่ำกว่าเป้า ส.อ.ท.ที่ 7% ขณะที่ประมาณการกำไรกลุ่มลดลง 3% เทียบปีก่อน จากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มกดดันกำไร
ขณะ รัฐหนุน EV บล.หยวนต้าฯ มองเป็นกลางในระยะสั้น เนื่องจากช่วงแรกเป็นการนำเข้ามาจำหน่าย จึงยังไม่ได้ส่งผลบวกต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเท่าใดนัก ดังนั้น บล.หยวนต้าฯ จึง มีการปรับลดน้ำหนักการลงทุน จากมากกว่าตลาดเป็นเท่ากับตลาด เพราะมองว่าอุตสาหกรรมมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบ และปัญหาขาดแคลนชิปที่ยืดเยื้อ กดดันผลประกอบการ และอุตสาหกรรมฟื้นช้ากว่าที่ตลาดคาด โดยเลือก AH (TP@33.20) เป็นหุ้น Top pick เพราะคาดว่าผลประกอบการปี 2565 จะเติบโต Outperform กลุ่ม ที่ผลประกอบการติดลบ เนื่องจากมีการกระจายรายได้ในหลายประเทศ ซึ่งคาดบริษัทลูกที่โปรตุเกส และมาเลเซีย จะพลิกกลับมามีกำไร ราคายังถูก ซื้อขายที่ P/E เพียง 6.5x
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ บล.เมย์แบงก์ฯ คำแนะนำ “NEUTRAL” หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ หลังพบตัวเลข เดือน พ.ค. ตลาดในประเทศดี แต่ผลิตและส่งออกชะลอตัวคงคาดการณ์ยอดผลิตรถ 1.8 ล้านคัน โต 7% ให้น้ำหนักเท่าตลาดตัวเลขอุตสาหกรรรถยนต์ เดือน พ.ค. แบ่งเป็น ยอดผลิตรถยนต์ 129,231 คัน เพิ่มขึ้น 10% เทียบเดือนก่อนและลดลง 8% เทียบปีก่อน ตลาดรถยนต์ในประเทศ 64,735 คัน หรือเพิ่มขึ้น 2% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน และยอดส่งออก 76,937 คัน เพิ่มขึ้น 38 % จากเดือนก่อน แต่ลดลง 3% เมื่อเทียบปีก่อน เพราะปัญหาการขาดแคลนไมโครชิปส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์ และการส่งออกรถยนต์ ในขณะที่ตลาดรถยนต์ในประเทศยังเติบโตได้ดีจากการเปิดประเทศที่ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น แนวโน้มปี2565 เราคงประเมินยอดผลิตรถยนต์ 1.8 ล้านคัน เติบโต 7%
บล.เมย์แบงก์ฯ คงน้ำหนักลงทุนกลุ่มยานยนต์เท่าตลาด(NEUTRAL) หุ้นที่ บล.เมย์แบงก์ฯ แนะนำ ซื้อในกลุ่ม คือ STANLY, SAT และ AH จากหุ้นมีมูลค่าถูก คาดผลประกอบการปีนี้จะเติบโต แม้จะไม่เด่นนักยอดผลิตรถยนต์ พ.ค. ลดลงจากปีก่อนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขยอดผลิตรถยนต์ประจำเดือน พ.ค.129,231 คัน หรือเพิ่มขึ้น 10% จากเดือนก่อน แต่ลดลง 8% จากปีก่อน ประเด็นปัญหาขาดแคลนไมโครชิป มีผลกระทบต่อการผลิตและส่งมอบรถยนต์ในบางรุ่นสำหรับตัวเลข 5 เดือนแรกของปี 2565 มียอดผลิตรถยนต์ 727,095 คัน เพิ่มขึ้น 2% ซึ่งปี 2565 สภาอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายยอดผลิตรถยนต์ไว้ 1.8 ล้านคันโต 7% โดยมีประเด็นความเสี่ยงที่อาจจะทำให้พลาดเป้าหมายคือปัญหาขาดแคลนไมโครชิป ปัญหาเงินเฟ้อกระทบกำลังซื้อของประชาชน
ทั้งนี้ ตลาดรถยนต์ในประเทศ พ.ค. เติบโตดีต่อเนื่องยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน พ.ค. 64,735 คัน เพิ่มขึ้น 2% จากเดือนก่อน และ 16% จากปีก่อน ซึ่งยังเติบโตได้ดีจากกิจกรรมต่างๆ ที่ฟื้นตัวทั้งคลายล็อกดาวน์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐที่มีต่อเนื่องและการเปิดประเทศที่ท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น รวม 5 เดือนแรกตลาดรถยนต์ในประเทศ 359,351 คัน เติบโต 17% สำหรับแนวโน้มปี 2565 ค่ายรถยนต์โตโยต้าตั้งเป้าหมายตลาดรถยนต์รวม 860,000 คัน โต 13% การส่งออกรถยนต์ พ.ค. ลดลงยอดส่งออกรถยนต์เดือน พ.ค. ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนเหลือ 76,937 คัน หรือเพิ่มขึ้น 38% จากเดือนก่อน แต่ลดลง 3% จากปีก่อน รวม 5 เดือนแรกยอดส่งออก 375,757 คัน ลดลงเล็กน้อย 4% เทียบปีก่อน ประเด็นสงครามในรัสเซีย-ยูเครน การขาดแคลนไมโครชิปกระทบต่อการผลิตและส่งมอบรถยนต์บางรุ่น จีนมีการล็อกดาวน์เป็นพักๆ กระทบ Supply ChainDisruption ประเมินยอดส่งออกในปีนี้จะชะลอตัวเหลือ 900,000-950,000 คันลดลง 1-6%
บล.เคทีบีเอสที ประเมินหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ คำแนะนำ “Neutral” จากยอดผลิตรถยนต์ เดือน พ.ค. 65 ชะลอเทียบจากปีก่อน แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อน ส.อ.ท.รายงานยอดผลิตรถยนต์เดือน พ.ค. 65 อยู่ที่ 1.3 แสนคันหรือลดลง 8% จากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 10% เทียบเดือนก่อน โดยลดลงจากปีก่อน จากปัญหาขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์บางรุ่น ซึ่งกระทบยอดส่งออกรถยนต์ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 6.5 หมื่นคัน กล่าวคือเพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน ยังเติบโตได้ดีจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์และผ่อนคลายข้อจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นและทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ฟื้นตัว ส่วนยอดส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 7.7 หมื่นคัน หรือลดลง 3% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้น 38% จากเดือนก่อน โดยลดลงจากปีก่อน เนื่องจากการผลิตรถยนต์นั่งยังมีปัญหาการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วน แต่ดีขึ้นจากเดือนก่อน เพราะในเดือน เม.ย. มีวันหยุดยาว สำหรับยอดผลิตรถยนต์รวม 5 เดือนปี 65 อยู่ที่ 7.3 แสนคัน หรือเพิ่มขึ้น 2% จากปีก่อน
บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มอง หลัง ครม.อนุมัติมาตรการจูงใจ ซึ่งรวมถึงเงินอุดหนุนและการลดภาษีเพื่อหนุนการเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาตรการสอดคล้องไปกับนโยบายผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (zero-emission vehicle) และเป้าหมาย 30@30 มาตรการจูงใจมี 4 ส่วนคือเงินอุดหนุนสำหรับรถยนต์และรถกระบะ 70,000-150,000 บาทต่อคันและมอเตอร์ไซค์18,000 บาทต่อคัน, ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%, ลดอากรนำเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) มากที่สุด 40% ถึงปี 2566 และลดอากรขาเข้าชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) รวม 9 รายการผู้ผลิตรถยนต์ที่เข้าร่วมต้องยอมรับเงื่อนไข เช่น ผลิตชดเชยให้เท่ากับที่จำนวนนำเข้าในเงื่อนไข CBU ระหว่างปี 2565-2566 ในปี 2567 (และขยายเป็นปี 2568 ได้) โดยต้องผลิตในสัดส่วน 1.5 เท่า (นำเข้า 1 หน่วย, ผลิต 1.5 หน่วย)
อย่างไรก็ตาม มาตรการหนุน EV จะเป็นปัจจัยบวกอีก 2-3 ปีในระยะแรก ( 2565 -2566) มาตรการจะเน้นไปที่การกระตุ้นให้เกิดการใช้ EV โดยงดเว้นภาษีและให้เงินอุดหนุน และในระยะต่อมา (2567-2568) มาตรการสนับสนุนจะเน้นไปที่การผลิตในประเทศ และยกเลิกสิทธิประโยชน์รถนำเข้าบางรายการมาตรการเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานในระยะสั้นและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในระยะยาว
ทั้งนี้ ช่วงปี 2565-2566 มาตรการจะหนุนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน (EA, GPSC, OR, FORTH, STARK) เพื่อขยายสถานีชาร์จเพื่อรองรับ EV ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องเตรียมโรงงานใหม่สำหรับการผลิต EV เป็นบวกต่อกลุ่มนิคมฯ (AMATA, WHA, ROJNA) แต่มีมุมมองเป็นกลางต่อผู้ผลิต EV เนื่องจากช่วงแรกผู้ผลิตจะเน้นการนำเข้า แต่หลังปี 2567 เป็นต้นไป มาตรการจะกระตุ้นให้ผู้ผลิตเร่งการผลิต EVในประเทศ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ( AH, SAT, STANLEY, HANA, KCE )
แนะซื้อ STANLY- SAT- AH
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” หุ้น AH ให้ราคาเป้าหมาย 36.10 บาท เพราะฝ่ายวิเคราะห์มองว่า AH ยัง Outperform เมื่อเทียบอุตสาหกรรมปี 2565 ที่เติบโตค่อนข้างโดดเด่น ทั้งมีปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจ OEMs คำสั่งซื้อขนาดใหญ่ Global Market รวมถึงการฟื้นตัวของบริษัทย่อย ทั้งที่มาเลเซียและโปรตุเกส ทำให้คาดผลงานปี 2565 จะเติบโตอย่างโดดเด่นเหนือกลุ่มอุตสาหกรรม และแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2565 แม้จะเข้า low season แต่ยังเห็นการเติบโตดีเทียบกับปีก่อน ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม และการควบคุมต้นทุนที่ดี เพราะปี 2565 คาด Outperform อุตสาหกรรม ปัจจัยหนุนจากทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจ OEMs คำสั่งซื้อขนาดใหญ่ globalmarket รวมถึงการฟื้นตัวของบริษัทย่อย ทั้งที่มาเลเซียและโปรตุเกส โดยคงมุมมองเป็นบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการในปี 2565 ที่คาดฟื้นตัวโดดเด่น Outperform กลุ่ม ดังนั้น จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” โดยคงมูลค่าพื้นฐาน ปี2565 ที่ 36.10 บาท อิง PE เฉลี่ย 5 ปีที่ 10x ซึ่งราคาปัจจุบันซื้อขายที่ P/E เพียง 6.6x ซึ่งถือว่ายังถูกมาก
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ฯ ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์ยอดขายทั้งปี 2565/66 (เม.ย.65-มี.ค.66) ของ STANLY ที่ 14,533 ล้านบาท เติบโต 7% และคาดจะมีกำไรปกติ 1,627 ล้านบาท เติบโต 8% อีกทั้งยังมีศักยภาพที่จะเติบโตตามอุตสาหกรรมยานยนต์จากการที่เป็นผู้นำอุปกรณ์ ส่องสว่างรถยนต์ (ส่วนแบ่งตลาด 50-55%) และรถจักรยานยนต์ (ส่วนแบ่งตลาด 90-95%) จึงได้รับคำสั่งซื้อใหม่ของรถโมเดลใหม่ที่จะเปิดตัวในอนาคต ต่อเนื่อง จึงแนะนำ “ซื้อ” ราคาเหมาะสม 222 บาท
บล.เคทีบีเอสที ประเมินยอดผลิตรถยนต์ปี 64 ที่ 1.75-1.8 ล้านคัน เติบโต 4-7% ใกล้เคียงกับที่ ส.อ.ท.ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งจะได้ผลบวกจากยอดส่งออกที่ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง และยอดขายรถยนต์ในประเทศที่จะฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้ กลุ่ม Automotive ยังให้น้ำหนักการลงทุนเป็น Neutral โดยหุ้น Top Pick ได้แก่ SAT แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 25.00 บาท อิง 2022E PER ที่ 9.5 เท่า
บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) มีมุมมองเป็นบวกจากผู้บริหารของ AH ที่เชื่อว่าจะสามารถรักษาเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ 30% ในปีนี้ เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่และปริมาณการสั่งซื้อที่สูงขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าราคาเหล็กซึ่งเป็นแรงกดดันหลักสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีแนวโน้มทรงตัว ดังนั้น จึงคงเป้าหมายการเติบโตของรายได้และกำไรในปี 2565 สำหรับ AH ไว้ที่ 19% และ 40% ตามลำดับ ส่วนโรงงานในจีน ที่หยุดผลิตช่วงล็อกดาวน์ ได้กลับมาเปิดดำเนินงานอีกครั้ง ฝ่ายวิจัยคาดว่าผลประกอบการของ AH ไตรมาส 2 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่คาดว่ารายได้ไตรมาส 2 จะชะลอตัวจากไตรมาส 1 ประมาณ 15-20% หากแม้ว่ารายรับของ AH อาจลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกที่ 25% ยังคาดรายรับในไตรมาส 2 จะสูงกว่าไตรมาส 2 ปี 64 จึงยังคงแนะนำ “ซื้อ” AH และยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของฝ่ายวิจัย ด้วยราคาเป้าหมายเดิมที่ 28 บาท P/E ปี 65 อยู่ที่ 9 เท่า
บล.พาย คงคำแนะนำ ซื้อ AH ราคาพื้นฐาน 28 บาท ด้วยปัจจัยบวกจากการเป็นผู้ประกอบการที่มความพร้อมในการผลิตสินค้ากลุ่ม EV รวมถึงปัจจุบัน ซื้อขายในระดับระดับ PE ค่อนข้างต่ำ เพียง 8.5 เท่า ขณะที่ผลประกอบการกำไรปกติ คาดว่าจะเติบโต 27% เทียบปีก่อน เพราะไตรมาสแรกกำไรโตเด่นที่ 402 ล้านบาท แต่ถ้าดูเฉพาะกำไรปกติจะเพิ่มขึ้น 32% เทียบปีก่อนและ 172 % จากไตรมาสก่อนเพราะได้รับผลดีจากกำลังการขยายตัวของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6,730 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดของบริษัท ส่วนหนึ่งมีการปรับราคารวมถึงลูกค้าหลักอย่าง ISUZU มีการผลิตเพิ่มขึ้น 28% ขณะคำสั่งซื้อใหม่ในปีนี้ยังคงรับรู้ตามแผนเดิมทั้งจาก Ford และโปรตุเกสรวมกันปีละกว่า 800-900 ล้านบาท ส่วนงานของ Winfast ปีนี้มูลค่ายังไม่มากนักเพียง 20 ล้านบาท แต่เป็นงานชิ้นส่วน EV ที่จะช่วยสร้างโอกาสในการรับงานดังกล่าวในอนาคตได้อีกมาก
ขณะธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะช่วยเสริมรายได้ในปีนี้หลังเตรียมเปิดโชว์รูมของ GWM อีก 1 แห่งในประเทศไทยช่วงปลายปี (รวมแล้วที่ไทยจะมี 5 แบรนด์) ขณะที่ตลาดมาเลเซียที่ AH เป็นตัวแทนอยู่ 2 แบรนด์ ในช่วง 4M22 มียอดขายเติบโตกว่า 8% จากปีก่อน ส่วนปัญหาขาดแคลนชิปคาดจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงปลายปี หลังจาก Supplier เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นแล้ว ขณะที่ปัญหาราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนหน้า AH คาดว่าจะเริ่มเห็นการลดลงได้บ้างแล้ว ส่งผลให้แนวโน้มไตรมาส 2 ยังเติบโตได้ดี ตามอุตสาหกรรมและการรับรู้คำสั่งซื้อใหม่ แต่จะลดลงจากไตรมาสก่อน เพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก.